ผ่าปมเฒ่าสาเล่าเรื่อง “หนังราชสีห์” ที่ขุนหลวงเอกทัศรับสั่งว่ารักษาให้ดี ก่อนเสียกรุง

พระที่นั่งภัทรบิฐมนังคศิลารัตนสิงหาสน์ ปูลาด หนังราชสีห์
"พระที่นั่งภัทรบิฐมนังคศิลารัตนสิงหาสน์" ปูลาดด้วย “หนังราชสีห์” ภายในพระที่ดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 6 ครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องแปลกน่าสนใจ พบในประชุมพระราชพงศาวดาร ภาค 7 คือ “คำให้การของเฒ่าสา เรื่อง หนังราชสีห์” ซึ่งเรื่องราวเกิดขึ้นในยุค ขุนหลวงเอกทัศ

ในเรื่องนั้น เฒ่าสา อายุ 84 มีอายุยืนยาวอย่างมาก ย้อนกลับไปว่าสมัย “สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์” หรือ “ขุนหลวงเอกทัศ” กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา นางสาอาศัยอยู่กับนายอูผู้เป็นสามีแถวป่าทองกรุงเก่า นายอูรับราชการเป็นขุนหมื่นอยู่ในวังกรมทหารรักษาพระองค์

Advertisement

เมื่อกรุงศรีฯ เสียให้แก่ข้าศึก นายอูอยู่ถวายการรับใช้พระเจ้าอยู่หัว มีพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธออีก 4 พระองค์ประทับอยู่ด้วย และทรงกำลังจะหนีออกจากพระนคร ขณะนั้นนางสาได้นัดหมายสามีให้มารอที่ประตูดิน และที่นี่เองที่นายอูส่งห่อผ้าที่ปิดทับกันหลายชั้น ซึ่งภายในคืออะไรก็ไม่ทราบให้นางสา

นายอูเล่าให้ภรรยาฟังว่า

“เมื่อเสด็จพระราชดำเนินออกมาจากพระมหาปราสาทนั้น ที่นั่งสุริยามรินทร์ส่งหนังอันนี้ให้ แล้วตรัสว่าหนังราชสีห์นี้เก็บไว้ให้ดีอย่าให้พม่าเอาไปได้” ส่วนนายอูนั้น “เอาบาตรเหล็กซึ่งใส่เครื่องทรงไปซ่อนไว้ ในกอไผ่หลังวัดหน้าพระเมรุ”

นางสาและพี่น้องอีก 5 หนีรอดจากการจับกุมของทหารพม่ามาได้ ก็ไปซ่อนตัวอยู่ที่วัดขุนเมืองใจได้เก้าวันสิบวัน ย้ายมาอยู่ต่อที่วัดปากน้ำบางหลวง ด้วยความสงสัยของนางสาจึงเปิดห่อผ้านั้นดู เห็นเป็นสักกระหลาดห่อหนังราชสีห์ แล้วก็เก็บไว้อย่างนั้น จนเวลาผ่านไป 1 ปี ผัวนางสาที่พลัดพรากไปจากวันกรุงแตก ก็กลับมาพบนางสาที่วัดปากน้ำบางหลวง นายอูถามนางสาทันที “หนังราชสีห์ที่ให้ไว้ยังเก็บดีอยู่ฤา” นางสาบอกว่าตนเก็บไว้อย่างดี นายอูสามีนางสาตัดสินใจบวชพระที่วัดปากน้ำได้ประมาณ 3-4 ปีก็มรณภาพ

จนวันหนึ่งที่ฝนตกหนักน้ำรั่วเข้าไปในหีบใส่ของ นางสานึกได้ว่าในหีบมีหนังราชสีห์เก็บไว้อยู่ จึงนำมาออกมา หนังราชสีห์คงเปื้อนเปียกไม่น้อย นางสาจึงนำออกมาตากแดด เผอิญ “สมีม่วง” เดินมาพบเข้า “หนังอะไรตากแดดอยู่นั้น” นางสาตอบไปว่า หนังราชสีห์

สมีม่วงเห็นแล้วอยากจะได้จึงขอหนังราชสีห์ แต่ไม่ได้ขอเปล่า จะนำนางสาไปเลี้ยงดูด้วย นางสาดีใจจะมีคนรับไปเลี้ยงดู เพราะตนอายุเริ่มมากขึ้น แต่เมื่อไปอยู่แล้วกลับกลายเป็นหนังคนละม้วน สมีม่วงไม่ได้ทำตามที่สัญญาเอาไว้ จึงต่อว่าสมีม่วงทวงเอาหนังราชสีห์คืน

ณ วันที่ 6 เดือน 8 แรม 5 ค่ำ ปีระกา เบ็ญจศก จุลศักราช 1175 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นางสาก็อายุมากแล้วกับน้องนายอินนำหนังราชสีห์ไปให้นายฤทธิรณรงค์ แต่นายผู้นี้ไม่อยู่ แต่พ่อของนายฤทธิ์เห็นว่า หนังนี้น่าจะเป็นของต้องพระราชประสงค์ และนี่เป็นเรื่องราวที่เฒ่าสาได้ถวายหนังราชสีห์ให้แก่รัชกาลที่ 2

หนังราชสีห์ ขุนหลวงเอกทัศ เรื่องจริงหรือแต่งของเฒ่าสา?

“มีนายกำปั่น   ภักดี

ชื่อ อะลังกะปูนี   จัดให้

นกกระจอกเทศสี   มอใหญ่ จริงพ่อ

กับสัตว์สิงโตให้   อมาตย์น้อมนำถวาย”

จากโคลงข้างต้นทำให้ทราบถึงที่มาสิงโต ที่คาดว่าเป็นสิงโตตัวแรกที่เดินทางมาถึงอาณาจักรอยุธยาในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ โดยนายกำปั่นเรือชาวอังกฤษที่ถวายสัตว์ต่างถิ่นอีกจำนวนหนึ่ง ทั้ง นกกระจอกเทศ 1 ตัว ม้าเทศ 3 ตัว โปรดให้เลี้ยงภายในเขตพระราชฐาน โดยเฉพาะสิงโตที่เป็นสัตว์ใหญ่น่าเกรงขาม

หนังของสิงโตที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นหนังจากสิงโตตัวเดียวกันกับที่กำปั่นอังกฤษถวายให้หรือไม่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า “ถ้าหากเกิดความเชื่อถือในครั้งนั้นว่า สิงโต ฤา ไลออนเปนอย่างเดียวกับราชสีห์ หนังราชสีห์ที่มีในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ก็เห็นจะเปนหนังสิงโตตัวนั้นเอง”

เฒ่าสาเล่าความจริงหรือไม่? เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก

ประการแรก เฒ่าสาเล่าเรื่องนี้เมื่อมีอายุมากแล้ว ไม่แปลกที่เรื่องดังกล่าวจะมีความผิดเพี้ยนไปบ้างไม่มากก็น้อย นางสายังอ้างว่า ตนอาศัยอยู่ที่ป่าทอง ย่านป่าทองเป็นย่านที่อยู่ในเกาะกรุงศรีฯ เป็นย่านที่ค้าขายทองคำเปลว คำเปลงเงิน คำเปลวนาก และก็มีอาหารสดขาย

ที่ตั้งของย่านนี้อยู่ไม่ห่างกันนักกับพระราชวังหลวง แต่เรื่องที่นำ “เครื่องทรง” ไปซ่อนหลังวัดหน้าพระเมรุ ดูมีความเป็นไปได้น้อย เพราะบริเวณนั้นคือที่ตั้งกองทัพของข้าศึก และหนังราชสีห์ที่เฒ่าสาทูลเกล้าถวาย ไม่ปรากฎว่าเก็บไว้ที่ไหนแล้วในปัจจุบัน

ไม่ว่าเรื่องที่นางสามาเล่ามีความจริงมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่คนรุ่นหลังได้ทราบคือความสำคัญของหนังราชสีห์ จากบทความของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ได้อธิบายความสำคัญของหนังราชสีห์ไว้ว่า

“ตามธรรมเนียมเก่าแก่มาแต่เดิม พระราชบัลลังก์ในพระราชพิธีบรมราชภิเษกของสยามนั้นก็ต้องปูลาดด้วยหนังราชสีห์ด้วย ในสมัยหลังจึงค่อยเปลี่ยนเป็นแผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ด้วยชาดหรคุณมาปูลาดทับไว้บนพระราชบัลลังก์แทนหนังราชสีห์ ซึ่งก็คงเป็นธรรมเนียมที่สืบทอดจากอินเดียมาแล้วค่อยปรับเปลี่ยน”

และอีกเรื่องคือความสัมพันธ์ของอาณาจักรอยุธยาและชาติตะวันตก ที่ยังคงมีเรื่อยมาจนปลายสมัยอยุธยา อาจไม่เฟื่องฟูเช่นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรื่องเฒ่าสากับหนังราชสีห์จึงเป็นเพียงเกร็ดประวัติศาสตร์ที่พอจะสืบหาได้อยู่บ้าง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่มที่ 4. กรุงเทพฯ: ก้าวหน้า.  (2507).

ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว. (2553).

สิงห์โตมาจากไหน เพราะเมืองไทยไม่มีสิงห์โต. https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_15099 สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2561.

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. บัลลังก์สิงห์ ในธรรมเนียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก.  https://www.matichonweekly.com/culture/article_18796 สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2561.


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 8 มีนาคม 2562