แรกเริ่มพิมพ์ “ราชกิจจานุเบกษา” สิ่งพิมพ์แรกของไทย โดยคนไทย

ภาพหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ในพระบรมมหาราชวัง ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตั้งโรงพิมพ์อักษรพิมพการขึ้นใกล้พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ เพื่อจะได้ทรงกำกับดูแลใกล้ชิด

วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2401 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จัดพิมพ์หนังสือแจ้งข่าวราชการที่เรียกว่า “ราชกิจจานุเบกษา” นับเป็นสิ่งพิมพ์ของไทยเล่มแรกที่จัดทำโดยคนไทย

โดยมีวัตถุประสงค์ “เพื่อให้รู้ทั่วกัน มิให้เล่าฦาผิๆ ไปต่างๆ ขาดๆ เกินๆ เปนเหตุให้เสียราชการและเสียพระเกียติยศแผ่นดินได้”

ราชกิจจานุเบกษาในรัชกาลที่ 4 มีจะรายงานข่าวราชสำนัก และข่าวทั่วไป รวมกันอยู่เช่นเดียวรูปแบบของหนังสือพิมพ์ คือมีทั้งข่าวประกาศต่างๆ ข่าวการแต่งตั้งขุนนาง คำเตือนสติ ข่าวประสูติ ข่าวเพลิงไหม้ รายงานน้ำฝน และข่าวเบ็ดเตล็ด

ความหลากหลายของข่าวที่นำเสนอทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกชนชั้นของสังคม จึงทำให้ราชกิจจานุเบกษาเป็นสิ่งพิมพ์ที่ก่อให้เกิด “ชุมชนชาติ” ขึ้น และยังสะท้อน “ความมีตัวตน” ของประชาชนในระดับต่างๆ เมื่อราษฎร ขุนนาง เจ้านาย ได้รับรู้ข่าวสารเหมือนกันก็ย่อมทำให้เกิดแนวความคิดหรือสำนึกร่วมกันได้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในแบบเห็นด้วย หรือคัดค้าน แต่ก็มีจุดร่วมเดียวกันอยู่

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายการพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาไว้ว่า “ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้สร้างโรงพิพม์หลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวังนามว่าโรงอักษรพิมพการ (อยู่ตรงพระที่นั่งภานุมาศจำรูญบัดนี้) เริ่มพิมพ์หมายประกาศเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2401 ในชั้นต้นโปรดเกล้าฯ ให้ทำเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวออกโดยระยะเวลา ขนานนามว่าหนังสือราชกิจจานุเบกษา”

เป็นที่น่าสังเกตว่า โรงอักษรพิมพการแห่งนี้ โปรดให้ตั้งขึ้นในบริเวณพระราชฐานชั้นกลางอันเป็นส่วนที่จำกัดการเข้าออกของบุคคลภายนอกอย่างเข้มงวดและยังตั้งอยู่ใกล้กับพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญอันเป็นพระที่นั่งบรรทมของพระองค์ แสดงให้เห็นว่าทรงกำกับดูแลโรงพิมพ์แห่งนี้อย่างใกล้ชิด


อ้างอิง: “สยามพิมพการ : ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย”. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 9 มีนาคม 2561