ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน ๒๕๖๐ |
---|---|
ผู้เขียน | รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ |
เผยแพร่ |
ศิลาจารึกหลังพระพุทธรูปปางลีลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม เป็นศิลาจารึกด้านหลังพระพุทธรูปปางลีลา (ในจารึกเรียกว่า พระเจ้าจงกรม) ที่แกะสลักบนแผ่นหินรูปใบเสมาขนาดใหญ่ ด้านหลังมีจารึกอักษรไทย ภาษาไทยสมัยอยุธยา ที่ระบุศักราชเก่าแก่ที่สุดหลักหนึ่งของศิลาจารึกอยุธยา กล่าวคือ จารึกหลักนี้จารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๘ ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว)
พระพุทธรูปองค์นี้มีประวัติว่า พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่อยุธยาพิพิธภัณฑ์ หรือปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม โดยรวมอยู่ในคลังพระที่นั่งพิมานรัตยา
ต่อมาเมื่อมีการขออนุญาตนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ จึงพบว่าด้านหลังของพระพุทธรูปปางลีลามีจารึกอักษรไทย ภาษาไทย สมัยอยุธยา จำนวน ๒๐ บรรทัด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันยังไม่พบว่ามีการพิมพ์เผยแพร่เกี่ยวกับศิลาจารึกหลักนี้มาก่อน ดังนั้นในงาน “เฉลิมฉลอง ๖๖๖ ปี กรุงศรีอยุธยา ๒๕ ปี มรดกโลก : พัฒนาการตามรอยทางของพระยาโบราณราชธานินทร์” โดยสำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งจัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐
ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้นำเสนอเรื่อง “จารึกในสมัยอยุธยาที่ยังไม่เคยอ่านและอ่านใหม่จากแผ่นทองวัดมหาธาตุและแผ่นดีบุกวัดราชบูรณะ” ผู้เขียนจึงได้ขออนุญาตทำสำเนาศิลาจารึกหลักนี้ เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๐ เพื่อนำมาศึกษาและเผยแพร่ครั้งแรกในงานดังกล่าว
ดังนั้นเพื่อให้ศิลาจารึกหลักนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ผู้เขียนจึงได้แก้ไขปรับปรุงคำอ่านแปลศิลาจารึกหลักนี้แล้วนำมาเสนออีกครั้งหนึ่งในที่นี้ เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการต่อไป
ทะเบียนจารึก
อักษร ไทยอยุธยา
ภาษา ไทย
ศักราช พ.ศ. ๑๙๑๘
จำนวน ๑ ด้าน ๒๐ บรรทัด
วัตถุจารึก หินทรายสีเทา
ลักษณะวัตถุ ด้านหลังพระพุทธรูปหินทราย
ทะเบียน อย. ๗๗
พบเมื่อ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๗
สถานที่พบ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม
ผู้พบ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม
ปัจจุบันอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม
ประวัติ พระยาโบราณราชธานินทร์ นำมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
จันทรเกษม
คำปริวรรต
๑. ลุ ๗๓๗ สกโถะนกัสดัรเดิอนแปดปูรมิอาทิดพาร
๒. …เกิดใจสรรธาฃุนสรมุทเปรชญาใหทำสีมาเปนธรร
๓. มสถานพิหารอาวาสแด่สํเดจพระพุทธเปนเจ้า
๔. เมิอตรสสแด่สรรเพชญองนืงเมีอพระเจ้าจงกรํ
๕. บนันสีทิดฺดว้ยรีสามสิบสามวาดว้ยกวางญิสิบเอดวาอีก
๖. ตนแมศรีผูเปนเมียลูกชายนอยชิเจ้าญอดสรมุทร
๗. อีกแมเสาผูนิงอายอินเหงสกอีครอกลูกสามฅน…
๘. อีกรับเอาแมศริมูขาสมในผูหญิงญิสิบชางตวนิงจิงทำ
๙. คูนารอยนิงซีงแลงกนนอีกสีปลุกพระศรีมหาโพธิสี
๑๐. ตนในกูดิมีพระลุกใหทานแม่ขนนแม่แลลูกสาว
๑๑. อีกอายบูนกรวดลูกสีฅนอีกแมอามผูลักพาเอาแส
๑๒. วนนผูชายสองผูหญิงหาทงันีใหได้รสทบธรรมสถาน
๑๓. การสบมาดตราในพระเจ้าแตผูใดอนูโมทนาสรรธา
๑๔. ดวยกูใส้จุงได้ไปเกิดทนนพระพุทธศรีอารยไม
๑๕. ตรีอนนจ่มาจูงได้ฃีนเมิองฟาทิพยพิมานส่วรร
๑๖. คคาใคฺรมาอางหลงัขงพระเจ้าแลยำยีบิทาจุงเอาลูก
๑๗. เตาเผาพรรนใสแมกผกาขาพระเจ้าแสนอาดธรรมั
๑๘. ดายนีจุงผูนนัตกนรกแสนกลัปญารูเกิด(ญา)รูใหทาน
๑๙. ตนพยาทรกอรใดใสญาใหเอาเฃามาเกอดทนนเห
๒๐. นพระเจ้าสกัอนน ฯ
คำอ่าน
(๑) ลุ ๗๓๗ ศก (พ.ศ. ๑๙๑๘) เถาะนักษัตร เดือน ๘ บูรณมี อาทิตยพาร (๒) …เกิดใจศรัทธา ขุนสรมุท เปรชญาให้ทำสีมาเป็นธรร (๓) มสถานพิหารอาวาสแด่สมเด็จพระพุทธเป็นเจ้า (๔) เมื่อตรัสแด่สรรเพชญองค์หนึ่งเมื่อพระเจ้าจงกรม (๕) บั้น ๔ ทิศ ด้วยรี ๓๓ วา ด้วยกว้าง ๒๑ วา อีก (๖) ตนแม่ศรีผู้เป็นเมีย ลูกชายน้อยชื่อเจ้ายอดสรมุทร (๗) อีกแม่เสาผู้หนึ่ง อ้ายอินเหงสก อีครอกลูก ๓ คน… (๘) อีกรับเอาแม่ศรี หมู่ข้าสมในผู้หญิง ๒๐ ช้างตัวหนึ่ง จึงทำ (๙) คูนาร้อยหนึ่งซึ่งแล่งกันอีกสี่ ปลูกพระศรีมหาโพธิ ๔ (๑๐) ต้น ในกุฎิมีพระ ลุกให้ทานแม่ขัน แม่แลลูกสาว (๑๑) อีกอ้ายบุญกรวดลูก ๔ คน อีกแม่อามผู้ลักพาเอาแส (๑๒) วัน ผู้ชาย ๒ ผู้หญิง ๕ ทั้งนี้ให้ได้รสทบธรรมสถาน (๑๓) การสบมาตราในพระเจ้า แต่ผู้ได้อนุโมทนาศรัทธา (๑๔) ด้วยกูไส้ จุ่งได้ไปเกิดทันพระพุทธศรีอารยไม (๑๕) ตรีอันจะมา จุ่งได้ขึ้นเมืองฟ้าทิพยพิมานสวรร (๑๖) คา ใครมาอ้างหลังของพระเจ้าแลย่ำยีบีฑา จุ่งเอาลูก (๑๗) เต้าเผ่าพันธุ์ใส่แมกผกาข้าพระเจ้าแสนอธรรม (๑๘) ดายนี้ จุ่งผู้นั้นตกนรกแสนกัลป์อย่ารู้เกิด(อย่า)รู้ให้ทาน (๑๙) ตนพยาทรก่อนใดไส้ อย่าให้เอาเขามาเกิดทันเห็ (๒๐) นพระเจ้าสักอัน ฯ
คำอธิบาย
ศิลาจารึกหลังพระพุทธรูปปางลีลา ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม เป็นศิลาจารึกที่มีความสำคัญต่อการศึกษาในด้านจารึกรวมทั้งในด้านภาษาและด้านประวัติศาสตร์ของอยุธยาเป็นอย่างมาก เนื่องจากปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกดังกล่าวว่า จารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๘ ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) ซึ่งครองราชสมบัติระหว่าง พ.ศ. ๑๙๑๓-๓๑
ศิลาจารึกหลักนี้จึงน่าจะถือได้ว่าเป็นศิลาจารึกภาษาไทย อักษรไทยสมัยอยุธยา ที่จารึกลงบนหินที่น่าจะมีความเก่าแก่มากที่สุดที่พบในเวลานี้ (ยกเว้นจารึกประเภทอื่น เช่น จารึกแผ่นดีบุก วัดมหาธาตุ ที่มีศักราชระบุว่าตรงกับ พ.ศ. ๑๙๑๗)
แสดงให้เห็นว่าอยุธยาได้รับอิทธิพลตัวอักษรไทยจากสุโขทัยอย่างชัดเจน แต่อักษรไทยอยุธยาที่พบในศิลาจารึกหลักนี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างบางประการกับศิลาจารึกสุโขทัยร่วมสมัย กล่าวคือตัวอักษรที่พบในจารึกหลักนี้มีลักษณะกลมกว่าอักษรสุโขทัยในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังพบอิทธิพลของการใช้ตัวเชิง “ร” ของอักษรขอมมาปนอยู่ด้วยในคำว่า “ใคร” ซึ่งเขียน “ร” ด้วยตัวเชิงอักษรขอมใต้อักษร “ค”
เนื้อความในศิลาจารึกยังให้รายละเอียดที่สำคัญ โดยเฉพาะการที่กล่าวถึงการสร้างวัดวาอาราม พระวิหาร และสร้างพระพุทธรูปพระเจ้าจงกรม ซึ่งตรงกับอีกด้านหนึ่งของศิลาจารึกที่แกะสลักเป็นพระพุทธรูปปางลีลา
จากการศึกษารูปแบบศิลปกรรมของพระพุทธรูป พบว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาตอนต้นที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย ร่วมสมัยกับรูปแบบตัวอักษรและภาษาที่ปรากฏในศิลาจารึกด้านหลัง ศิลาจารึกและพระพุทธรูปปางลีลาองค์นี้จึงสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับสุโขทัยในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) ได้เป็นอย่างดี
รวมทั้งการกัลปนาที่ดิน ผู้คน ช้าง ฯลฯ ให้กับศาสนสถาน ซึ่งในจำนวนนี้มีการกล่าวถึง “ข้าสมใน” ซึ่งเป็นผู้หญิงจำนวน ๒๐ คนไว้ด้วย ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการปกครองผู้คนในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ข้อความในตอนต้นมีการกล่าวถึงตำแหน่งขุนนางในสมัยอยุธยาตอนต้นไว้ด้วย คือ “ขุนสรมุท” ซึ่งน่าจะเป็นขุนนางชั้นสูงในเวลานั้น เนื่องจากในสมัยอยุธยาตอนต้นตำแหน่ง “ขุน” ยังเป็นตำแหน่งขุนนางชั้นสูงอยู่ จนกระทั่งมีการลดฐานะของ “ขุน” ลงเป็นขุนนางระดับล่าง ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน และพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง ซึ่งตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
เนื้อความในตอนท้ายของศิลาจารึกเป็นการกล่าวถึงการแสดงความปรารถนา คือ ขอให้ได้ไปเกิดทันยุคพระศรีอริยเมตไตรยและสาบแช่งผู้ที่มาทำลายพระอารามแห่งนี้
ศิลาจารึกหลังพระพุทธรูปปางลีลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม จึงเป็นศิลาจารึกที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่น่าจะมีการนำมาศึกษาวิเคราะห์ในรายละเอียดให้มากขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยต้นกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีหลักฐานร่วมสมัยไม่มากนักนั่นเอง
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561