ปาราชิกเสพเมถุน ครั้งที่ 1 ในพุทธศาสนา เกิดขึ้นเพราะผู้ใด มีผลต่อคณะสงฆ์อย่างไร

ลำดับชั้นพระสงฆ์ ปาราชิกเสพเมถุน
(ภาพประกอบเนื้อหา) จิตรกรรมภาพพระภิกษุ วัดบวรนิเวศวิหาร

เมื่อกล่าวถึง “ปาราชิก” โดยทั่วไปมักนึกถึง “ปาราชิกเสพเมถุน” อันเนื่องจากการที่สงฆ์มีเพศสัมพันธ์กับสตรี หากแท้จริงแล้ว “ปาราชิก” อันเป็นอาบัติหนักที่สุดในพระวินัยมีอยู่ 4 ข้อด้วยกัน

“ปาราชิก” แปลว่า “ผู้พ่ายแพ้” มีอยู่ 4 ข้อ คือ 1. เสพเมถุน 2. ลักทรัพย์ 3. ฆ่ามนุษย์ 4. อวดอุตตริมนุสสธรรม พระสงฆ์รูปใดล่วงละเมิดแม้เพียงข้อใดข้อหนึ่งต้องขาดจากความเป็นพระสงฆ์ทันที

ที่สำคัญจะกลับมาบวชอีกไม่ได้ 

ก่อนหน้ามีพระวินัย

พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาของพุทธเจ้าเคยกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงกำหนด “พระวินัย” ด้วยเกรงพระสงฆ์สาวกทั้งหลายละเมิดคำสอน และเพื่อความมั่นคงของพุทธศาสนา แต่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ โดยทรงให้รอจนกว่าจะเกิด “เหตุ” จำเป็นให้ต้องบัญญัติพระวินัย คือ

ปาราชิกเสพเมถุน
พระพุทธเจ้าประทับยืน ขนาบด้วยพระอัครสาวกซ้าย-ขวา ปัจจุบันพระบฏนี้ถูกเก็บรักษาที่ พิพิทธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์

หนึ่ง เมื่อสงฆ์ที่บวชนานแล้วจะเกิดปัญหาขึ้นได้ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

หนึ่ง เมื่อสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่และแพร่หลาย จนอาจเกิดความแตกแยกทางความคิดและการปฏิบัติ

หนึ่ง เมื่อสงฆ์ส่วนใหญ่มีลาภสักการะมาก แลติดสิ่งนั้น

หนึ่ง เมื่อสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นพหูสูต จนตีความพระพุทธพจน์แตกต่างกัน มีความเห็นไม่ตรงกัน ต่างอ้างว่าตนเป็นพหูสูตและไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน

แล้วก็เกิดเหตุให้พระองค์ต้องทรงบัญญัติพระวินัย 

ปาราชิกเสพเมถุน ครั้งที่ 1

เมื่อครั้งพุทธกาล “พระสุทินกลันทกบุตร” หรือ บุตรชายคนเดียวของเศรษฐีกรุงเวสาลี ออกบวชด้วยศรัทธา ถือธุดงควัตรอย่างเคร่งครัด ได้เสพเมถุนกับภรรยาเก่าที่ป่ามหาวัน ตามที่บิดามารดาอ้อนวอน เพื่อให้ครอบครัวมีผู้สืบสกุล และจะได้บวชต่อโดยไม่ต้องลาสิกขาออกไป

พระสงฆ์ คณะสงฆ์
ภาพพระสงฆ์ในจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎก วัดบวรนิเวศวิหาร

หลังการเสพเมถุนธรรมแล้วพระสุทินกลันทกบุตร มีผิวพรรณหมองคล้ำ ภิกษุทั้งหลายจึงสอบถาม เมื่อทราบเรื่องก็ตำหนิแล้วพาพระสุทินกลันทกบุตรเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ขณะนั้นยังไม่มีการบัญญัติสิกขาบทใดๆ พระองค์จึงทรงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์และทรงสอบสวน

พระสุทินกลันทกบุตรรับสารภาพ พระพุทธเจ้าก็ทรงตำหนิ และตรัสถึงประโยชน์สงฆ์ทั้งหลาย จึงทรงบัญญัติพระวินัยขึ้น 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุชาดา ศรีใหม่, ฉัตตมาศ วิเศษสินธุ์. “พระภิกษุยักยอกทรัพย์ : ศึกษาความรับผิดทางอาญา และอาบัติตามพระวินัย” ใน, วารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่น ปีที่ 1 ฉบับที่ 1

พระครูศิริโสธรคณารักษ์ นาทองไชย. “เรื่อง ต้นบัญญัติปฐมปาราชิก: มูลเหตุที่ทรงบัญญัติสิกขาบทประเภทครุกาบัติในพระปาติโมกข์” ใน, วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561

<<https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=1&A=316&Z=670 >>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21  พฤษภาคม 2568