ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“ลกเจ๊ก” เป็น “ที่ปรึกษา” คนสำคัญในสามก๊ก ชีวิตวัยเด็กของเขาสร้างวีรกรรมเป็นที่ยกย่องจนมีชื่อเป็นบุคคลหนึ่งใน “24 กตัญญู” หากวีรกรรมดังกล่าวกลับย้อนมาเป็นประเด็นให้ขงเบ้งดูแคลนเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่
24 กตัญญู
24 กตัญญู เป็นนิทานพื้นบ้านของจีน ว่าด้วยชีวประวัติบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่ามีความกตัญญูจำนวน 24 คน ตามหลักปรัชญาของขงจื๊อ เช่น การเลี้ยงดูบุพการีด้วยความเคารพ, การปรนนิบัติบุพการีด้วยความเต็มใจ, การจัดงานศพและเซ่นไหว้บุพการีตามประเพณี ฯลฯ

นิทานดังกล่าวแพร่หลายไปทั่วโลก ในประเทศไทยสันนิษฐานว่าเป็นที่รู้จักตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยพระจีนเจนอักษร (สุดใจ ตัณฑากาศ) แปลจากต้นฉบับภาษาจีน
ส่วนบุคคลทั้ง 24 คน ที่ได้รับการยกย่องว่า “กตัญญู” นั้น อยู่ในแต่ละช่วงเวลาของจีน ตั้งแต่ก่อนราชวงศ์เซี่ย-ราชวงศ์ซ่ง เช่น นางทั่งฮูหยินให้แม่สามีที่อายุมากกินนมจากอกของนาง, ตงหย่งที่ขายตัวเองเป็นทาสเพื่อหาเงินจัดงานศพพ่อ ฯลฯ
1 ใน 24 กตัญญู
ลกเจ๊ก เป็นบุคคลในยุคสามก๊ก ภายหลังเป็นที่ปรึกษาของก๊กซุนกวน เมื่อวัยเยาว์กำพร้าบิดา ครั้งหนึ่งเขาติดตามอาไปเยี่ยมคำนับอ้วนสุดที่จวน ได้กินส้มที่จวนรสชาติดีจึงนึกถึงมารดา อยากให้นางได้กินส้มนี้บ้าง จึงแอบซ่อนส้มไว้ในแขนเสื้อตนเอง เมื่อไปคำนับลาเจ้าภาพกลับบ้าน ส้มที่ซ่อนไว้บังเอิญหล่นลงบนพื้นต่อหน้าอ้วนสุด ความเลยแตก
อ้วนสุดเห็นดังนั้นจึงพูดหยอกแขกเยาว์วัยว่า ทำไมแอบลักส้มของข้า
เขาก็ก้มลงคำนับแล้วกล่าวว่า มารดาชอบกินส้มยิ่งนัก ตั้งใจจะเอาไปฝาก เมื่อมารดากินส้มนี้เท่ากับท่านได้เลี้ยงแขกเพิ่มขึ้นอีก 1 คน อ้วนสุดฟังแล้วก็ออกปากชมว่า เป็นเด็กกตัญญู และฉลาดมีไหวพริบ ต่อไปภายหน้าจะได้เป็นขุนนางมีชื่อเสียง
นั่นทำให้เขาติดทำเนียบ 1 ใน 24 กตัญญู
ประเด็นเหน็บแนม
ในศึกเซ็กเพ็ก (หรือศึกผาแดง) ก๊กของเล่าปี่ต้องการให้ก๊กของซุนกวนร่วมมือด้วย เพื่อตีขนาบก๊กของโจโฉ ขงเบ้งกุนซือคนสำคัญของเล่าปี่ออกโรงเจรจาโน้มน้าวฝ่ายซุนกวนด้วยเหตุผลต่างๆ

ลกเจ๊กจึงลุกขึ้นแนะนำตัว และค้านขงเบ้งกลับไปว่า
“อันโจโฉนี้มาทว่าทำหยาบช้า แอบรับสั่งพระเจ้าเหี้ยนเต้…แต่ว่าโจโฉนี้เป็นเชื้อสายของโจฉำผู้เปนอุปราชมาแต่แผ่นดินก่อน อันเล่าปี่นี้ว่าเป็นเชื้อกษัตริย์กระเสนกระสายพระเจ้าเหี้ยนเต้นั้นเราไม่รู้แจ้ง แต่ว่าตระกูลเล่าปี่นั้นเปนคนอนาถา ตัวเล่าปี่ก็เปนแต่คนทอเสื่อขาย ควรหรือจะมาองอาจไม่คิดเจียมตัว แลจะต่อสู้โจโฉนั้นเราไม่เห็นด้วย”
ขงเบ้งจึงเอาคืนว่า “ท่านนี้หรือชื่อว่าลกเจ๊ก เมื่อยังเป็นเด็กอยู่นั้นลักส้มเขาเอาไปให้แก่มารดา นั่งลงเถิดเราจะเจรจาด้วย…”
จากนั้นจึงค่อยตอบว่า โจโฉเป็นเชื้อสายของโจฉำก็จริง แต่โจฉำนั้นเป็นคนกตัญญูสัตย์ซื่อ หากโจโฉไม่ได้เป็นเช่นนั้น ส่วนเล่าปี่เป็นเชื้อสายพระเจ้าเหี้ยนเต้ แม้เป็นคนทอเสื่อขาย ก็เป็นการทำมาหากินจะอับอายอันใด ก่อนจะตบท้ายว่า “ท่านจะมาประมาทเล่าปี่นายเรานั้นหาควรไม่ ตัวท่านเปนเด็กยังมิสิ้นกลิ่นน้ำนม”
ความ “กตัญญู” ที่ได้รับการยกย่องในวัยเด็ก แต่บกพร่องไปเพราะเสียความซื่อสัตย์ จึงกลายเป็นประเด็นให้ผู้อื่นโจมตีได้เมื่อเป็นผู้ใหญ่
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ร. บุนนาค. 24 ยอดกตัญญู, ธรรมสภา จัดพิมพ์ (ไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์)
สามก๊ก สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ราชบัณฑิตสภาชำระ, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และสำนักพิมพ์สุขภาพใจ จัดพิมพ์เผยแพร่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2568