“ช้างไทย” สินค้าส่งออกสมัยอยุธยา ที่ยุคเฟื่องฟูส่งออกถึง 300 เชือกต่อปี 

ช้างป่าต้น คนสุพรรณ ช้างไทย ช้างไทย
เพนียดคล้องช้างอยุธยา ภาพจากหนังสือ "Travels in the Central Parts of Indo-China..." (1864) โดย อ็องรี มูโอ

“ช้างไทย” ในอดีตมีอยู่ชุกชุมในป่าทั่วประเทศ ช้างที่มีลักษณะมงคลตามตำราคชลักษณ์จะเลือกให้เป็นช้างทรงหรือช้างต้นของพระมหากษัตริย์ ตัวที่คุณสมบัติด้อยลงมาพระราชทานให้เจ้านาย/ขุนนาง ช้างลักษณะดีจึงมักถูกเลี้ยงอยู่ในเมืองหลวงหรือหัวเมืองสำคัญๆ โดยมีกฎระเบียบระบุจำนวนช้างในครอบครองตามฐานะไว้อย่างเข้มงวด

ช้าง
ช้างศึก (ภาพจาก :Twentieth century impressions of Siam)

เพราะช้างมีประโยชน์ครบเครื่อง ในการสงคราม ช้างศึกใช้เป็นพาหนะของแม่ทัพนายกองและออกรบ ส่วน ช้างป่าจะได้รับการฝึกปรือเพื่อใช้ลากปืนใหญ่ ขนสัมภาระและเสบียงอาหาร นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราชสำนักเข้ามาควบคุมการค้าช้างอย่างเข้มงวด

ช้างไทยสินค้าส่งออก 

การค้าช้างมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ยังเป็นการค้าในวงจำกัด ระหว่างชุมชนหรือเมืองที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกันนัก ด้วยเป็นสัตว์ใหญ่การขนส่งลำเลียงจึงค่อนข้างยุ่งยาก แต่สมัยอยุธยาการค้าช้างได้ขยายตัวกลายเป็นสินค้าส่งออกข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังดินแดนที่ห่างไกลออกไป

การค้าขายช้างน่าจะเริ่มมีขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถหรือรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเป็นช่วงเวลาบ้านเมืองสงบสุขปราศจากศึกสงครามใหญ่ และเจริญถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์ปราสาททอง

จิตรกรรมฝาผนัง พระราชประวัติ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอน ยุทธหัตถี วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา พระนารายณ์เมืองหาง
จิตรกรรมฝาผนังพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอน “ยุทธหัตถี” ภายในพระวิหารวัดสุวรรณดาราราม จ. พระนครศรีอยุธยา

แต่สมัยอยุธยาช้างไม่ใช่สินค้าที่ใครจะใคร่ค้าได้ เพราะพระมหากษัตริย์ทรงสงวนสิทธิ์การค้าช้างเพียงพระองค์เดียว และไม่ทรงอนุญาตให้ผู้ใดทำการค้านี้

หนังสือ “สำเภากษัตริย์สุไลมาน” บันทึกการเดินทางของคณะทูตอิหร่านที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวว่า ช้างเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอย่างหนึ่งของสยาม ทุกปีพระมหากษัตริย์จะทรงจัดให้มีการคล้องช้าง โดยแต่ละครั้งจะจับช้างได้ราว 200-400 ตัว ช้างส่วนหนึ่งจะถูกฝึกให้เชื่องเพื่อใช้งานและส่งขาย”

นอกจากราชสำนักจะจับช้างเองแล้ว ยังอนุญาตให้ชาวบ้านจับช้างป่ามาใช้งานได้ แต่ต้องอยู่ในความควบคุมของทางราชการ ช้างบางเชือกยังถูกส่งมาเป็นค่าภาคหลวงแทนภาษีของราษฎรที่จ่ายให้แก่ราชสำนัก ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ราชสำนักได้ช้างมาไว้ใช้และส่งออก โดยกรมคชบาลมีการฝึกช้าง ก่อนที่จะส่งออกไปจำหน่าย เพื่อไม่ให้ช้างตื่นระหว่างการขนส่ง

ตลาดค้าช้าง

ตลาดค้าช้างใหญ่ที่สุดคือบริเวณรอบอ่าวเบงกอล ส่วนเมืองท่าหลักที่ส่งออกช้างจากสยามมีอยู่ 2-3 จุด คือ เมืองทวาย, มะริด, ตะนาวศรี และตรัง จากเมืองท่าเหล่านี้ ช้างจะถูกลำเลียงไปยังเมืองท่าฝั่งตะวันออกของอินเดีย โดยมีตลาดรับซื้อใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เมืองท่าของอาณาจักรเบงกอล และเมืองท่าแถบชายฝั่งโคโรแมนเดล

การจับช้างในเพนียด

คุณลักษณะพิเศษของช้างจากสยามเป็นที่ถูกใจของลูกค้า เพราะฉลาด, ฝึกฝนง่าย, แข็งแรงอดทน, บรรทุกสัมภาระได้มาก ทั้งยังเหมาะกับภูมิอากาศของแคว้นต่างๆ ในอินเดีย เช่นป่าฝนเขตร้อนของเบงกอลเป็นต้น

ข้อมูลจาก “สำเภากษัตริย์สุไลมาน” ระบุว่า ราคาช้างในสยามตกอยู่ราวเชือกละ 20-25 ปอนด์อังกฤษ แต่ถ้าหากช้างรอดชีวิตจากการเดินทางและนำไปขายยังต่างประเทศจะได้ราคาถึง 100 ปอนด์ โดยสมัยสมเด็จพระนารายณ์ปีหนึ่งส่งออกช้างไทยราว 300 เชือก 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดร. จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. “ช้างเป็นสินค้า ค้าช้างสมันอยุธยา” ใน, ศิลปวัฒนธรรม มกราคม 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤษภาคม 2568