“เจมส์ บรูค” ราชาผิวขาว ชายอังกฤษผู้ได้เป็นกษัตริย์ในหมู่เกาะมลายู

เจมส์ บรูค ราชาผิวขาว
ภาพวาดเจมส์ บรูค (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ครั้งหนึ่งในหมู่เกาะมลายูเคยมีกษัตริย์เป็นชายชาวยุโรปผิวขาว เขาคนนี้มีชื่อว่า “เจมส์ บรูค” (James Brooke) ผู้สถาปนาราชวงศ์ “ราชาผิวขาว” (White Rajas)

ต้นศตวรรษที่ 19 พื้นที่หมู่เกาะมลายูเริ่มตกอยู่ภายใต้อำนาจของฮอลันดามากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันอังกฤษซึ่งเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในบริเวณนี้ก็เริ่มขยายอำนาจของตนเข้ามา 

ท่ามกลางการแย่งชิงพื้นที่อาณานิคมของอังกฤษและฮอลันดา มีรัฐใหม่ปรากฏขึ้น แต่มิได้มีผู้ปกครองเป็นชนพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กลับเป็น เจมส์ บรูค (James Brooke) ชาวยุโรปผิวขาว ที่สถาปนาราชวงศ์ของตนขึ้น นามว่า “ราชาผิวขาว” (White Rajas)

ชีวประวัติ

ภาพวาดเจมส์ บรูค (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เจมส์ บรูค ชายชนชั้นกลางชาวอังกฤษ เกิดเมื่อ ค.ศ. 1803 (เทียบแล้วอยู่ในยุครัชกาลที่ 1 ของไทย) เติบโตในเมืองพาราณสี อินเดีย ขณะนั้นดินแดนอนุทวีปอินเดียแทบทั้งหมดอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ บรูคมีความฝันอยากเป็นนักผจญภัย และหลงใหลในดินแดนตะวันออกอย่างมาก โดยเฉพาะ “เกาะบอร์เนียว” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะมลายู

เมื่อโตขึ้น บรูคทำงานให้บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (EIC) และเข้าร่วมรบในสงครามอังกฤษ-พม่า ครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1824-1826) แต่ความฝันเกี่ยวกับการผจญภัยของเขายังคงอยู่ ท้ายที่สุดเขาก็ตัดสินใจลาออก และใช้เงินมรดกที่พ่อทิ้งไว้ไปซื้อเรือติดอาวุธ พร้อมเริ่มผจญภัยไปยังหมู่เกาะมลายูใน ค.ศ. 1838 

ขณะนั้นคาบสมุทรและหมู่เกาะมลายู มีประเทศล่าอาณานิคม 2 ประเทศหลักด้วยกัน คือ อังกฤษและฮอลันดา เมื่อบรูคเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา และแวะพักที่สิงคโปร์ ซึ่งอังกฤษปกครองอยู่ ก็ได้รับมอบหมายหน้าที่จากข้าหลวงสิงคโปร์ให้ไปส่งสารถึงผู้ปกครองแห่งบรูไน 

ครั้นเดินทางถึงบอร์เนียว ก็เป็นเวลาเดียวกับที่สุลต่านกำลังทำสงครามกับกลุ่มชาวมลายูในแถบแม่น้ำซาราวัก ที่ลุกขึ้นต่อต้านการปกครอง เพราะบรูไนเริ่มเสื่อมอำนาจลง

บรูคเห็นโอกาสจึงเข้าช่วยเหลือฝั่งกษัตริย์บรูไนจนได้รับชัยชนะ

เพื่อตอบแทนการช่วยเหลือ บรูคเสนอให้สุลต่านบรูไนมอบที่ดินให้เขา สุลต่านรับข้อตกลง พร้อมทั้งให้เงินตอบแทนรายปี ปีละ 500 ปอนด์ (ราว 66,000 ปอนด์ ในปัจจุบัน-ผู้เขียน) บรูคจึงเริ่มสร้างเมืองเล็ก ๆ ของตนขึ้น ชื่อ “กูจิง” ซึ่งเป็นชื่อเรียกเดิมในท้องถิ่นอยู่แล้ว ตั้งอยู่ในซาราวัก และใน ค.ศ. 1841 ได้สถาปนาราชวงศ์ “ราชาผิวขาว” (White Rajas) และรัฐซาราวักอย่างเป็นทางการ ปกครองเรื่อยมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 

ภาพธงราชอาณาจักรซาราวัก (ภาพจาก Wikimedia Commons)

การปกครองและการขยายอำนาจ

ช่วงเริ่มต้น บรูคขยายอำนาจและสร้างความมั่นคงให้รัฐของตนมากขึ้น ด้วยวิธีการอภัยโทษหัวหน้ากลุ่มชาวมลายูที่ก่อจลาจล พร้อมกับมอบตำแหน่งสำคัญในราชการให้พวกเขา แต่ก็จำกัดอำนาจไปด้วย 

ทว่าปัญหาความวุ่นวายกลับไม่จบ ด้วยเวลานั้นการปล้นสะดมทางทะเลเป็นวัฒนธรรมของผู้คนในหมู่เกาะ หลายรัฐสนับสนุนการปล้นสะดมจนกลายเป็นวิถีปฏิบัติกันมารุ่นสู่รุ่น สร้างปัญหาให้เหล่าชาติอาณานิคม และพ่อค้านักเดินทางเป็นอย่างมาก

วิธีการขยายอำนาจของชาติล่าอาณานิคมในหมู่เกาะและคาบสมุทรมลายู จึงหนีไม่พ้นข้ออ้างในการปราบ “โจรสลัด” บรูคเองก็เช่นกัน เขาใช้วิธีนี้ในการขยายอำนาจรัฐซาราวักของเขาในเกาะบอร์เนียวมากยิ่งขึ้น 

การปราบโจรสลัดของบรูคนั้นเข้าขั้นรุนแรงและเด็ดขาด แน่นอนว่ารัฐเล็ก ๆ อย่างซาราวัก ไม่สามารถปราบโจรสลัดที่เชี่ยวชาญเส้นทางและมีจำนวนมากได้ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากกองทัพเรือที่แข็งแกร่ง ราชนาวีอังกฤษจึงเป็นส่วนสำคัญในการขยายอำนาจของบรูค 

การที่อังกฤษให้ความช่วยเหลือรัฐซาราวัก อาจเป็นเพราะมองว่าเป็นการช่วยเหลือชาวอังกฤษด้วยกันเอง และเพื่อผลประโยชน์ในภายภาคหน้า

ตัวอย่างการปราบโจรสลัดครั้งหนึ่ง กองกำลังฝั่งซาลาวักประกอบด้วย เรือรบของอังกฤษ 4 ลำ และทหารอาสาชาวอีบัน ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของอาณาจักรซาราวักจำนวน 2,500 คน กระจายไปในเรือราว 70 ลำ ได้สังหารโจรสลัดไปทั้งสิ้น 800 คน จากตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงจำนวนโจรสลัดที่น่าตกใจ แต่ก็ถูกปราบอย่างหนักหน่วง 

บรูคยังได้กระจายกำลังพลที่เป็นชาวยุโรปไปยังป้อมปราการต่าง ๆ ทั่วน่านน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้โจรสลัดมายึดพื้นที่ และไล่ยึดฐานของโจรสลัดตามริมน้ำอีกด้วย ด้วยวิธีการนี้รัฐซาราวักก็มีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น พร้อมกับขยายอาณาเขตไปด้วย

ท่าทีของอังกฤษต่อรัฐใหม่ของเจมส์ บรูค

แม้ว่าราชาแห่งซาราวักจะเป็นชาวอังกฤษก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างแดนแม่กับบรูคไม่แน่ชัด เวลานั้นอังกฤษพยายามขยายอำนาจเข้ามาในหมู่เกาะมลายูอยู่แล้ว แต่ต้องคอยระวังชาติอาณานิคมที่อยู่มาก่อนอย่างฮอลันดา

เกาะบอร์เนียวนับว่าเป็นบริเวณที่คลุมเครือทางอำนาจของทั้งคู่ เมื่อบรูคเข้ามาปกครองซาราวัก ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของบอร์เนียว อังกฤษจึงใช้โอกาสนี้ค่อยคืบคลานเข้ามา

ระยะแรกอังกฤษไม่ได้ต้องการขยายดินแดนเข้าปกครองเกาะบอร์เนียวทันที แต่เน้นเรื่องการค้า บรูคที่ไม่ชอบวิธีค้าขายของชาติล่าอาณานิคมอยู่แล้ว จึงมีเรื่องกระทบกระทั่งกับพ่อค้าต่างชาติอยู่บ้าง เพราะยึดมั่นในหลักคิดว่าชาวพื้นเมืองต้องไม่เสียประโยชน์ และไม่บ่อนทำลายแบบแผนชีวิตของท้องถิ่น 

จนกระทั่งฮอลันดาเริ่มคิดขยายอิทธิพลเข้ามาในเกาะบอร์เนียวมากขึ้น พร้อมกับสเปนที่ปกครองฟิลิปปินส์ก็ขยายอำนาจเข้ามาทางตะวันตกของเกาะเช่นกัน บรูคที่มีรัฐอยู่ในเกาะบอร์เนียวพร้อมกับรัฐสุลต่านซูลู และสุลต่านบรูไน ได้ดำเนินงานทางการทูตให้รัฐเหล่านี้หันไปพึ่งรัฐบาลอังกฤษ เป็นผลให้ทั้งสองรัฐเริ่มโอนอ่อนไปตามคำแนะนำ เพื่อป้องกันภัยคุกคามที่มาจากสเปนและฮอลันดา

รัฐบาลอังกฤษเริ่มให้ความสำคัญในรัฐซาราวักยิ่งขึ้น โดยมองว่าเป็นฝ่ายเขตอิทธิพลของตน และการมีผู้ปกครองในพื้นที่เป็นชนชาติเดียวกัน ก็เหมือนจะสร้างความได้เปรียบให้อังกฤษมากกว่าประเทศล่าอาณานิคมอื่น ๆ 

อังกฤษยังแต่งตั้งให้บรูคเป็นข้าหลวงคนแรกของ “ลาบวน” ซึ่งเป็นเกาะในบอร์เนียว พร้อมกันนั้นยังให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอังกฤษประจำราชสำนักบรูไนอีกด้วย

ภาพแผนที่เกาะบอร์เนียวตอนเหนือของอังกฤษ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

จากข้างต้นทำให้สังเกตได้ว่า เงาของจักรวรรดิอังกฤษได้ทอดเข้ามาในบรูไนผ่านซาราวักแล้ว และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้บริเวณตอนบนของเกาะบอร์เนียว เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอังกฤษในอนาคต

รัฐซาราวักมีผู้ปกครองจากราชวงศ์ราชาผิวขาวอีกสองคนต่อจากบรูค ก่อนจะรวมเข้ากับอังกฤษใน ค.ศ. 1946 เพราะเหตุจากการรุกรานของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และกระแสคอมมิวนิสต์ที่ก่อความรุนแรงในเวลานั้น

การผจญภัยของ “เจมส์ บรูค” นับเป็นหนึ่งในเรื่องราวสุดน่าสนใจ ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าชายผิวขาวเชื้อชาติยุโรปจากครอบครัวชนชั้นกลาง จะได้สถาปนาราชวงศ์ผิวขาว ท่ามกลางชนพื้นเมืองและชาติล่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ เวลานั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Andaya, B. W., & Andaya, L. Y. (2017). A history of Malaysia (3rd edition). Palgrave.

Amirell, S. E. (2019). Pirates of Empire: Colonisation and Maritime Violence in Southeast Asia. Cambridge: Cambridge University Press.

Cavendish, R. (2003, April 4). Birth of Sir James Brooke. Retrieved from History Today: https://www.historytoday.com/archive/months-past/birth-sir-james-brooke

The Editors of Encyclopaedia Britannica (2015, February 1). Brooke Raj. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/topic/Brooke-Raj


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2568