ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“สาธารณรัฐอิสลามแห่งปากีสถาน” เป็นชื่อเต็มของประเทศที่เราคุ้นเคยกันอย่างย่อว่า “ปากีสถาน” ในชื่อจะพบคำว่า “อิสลาม” แต่ที่จริงแล้ว ผู้นำคนแรกกลับไม่ได้ต้องการให้ที่นี่เป็นรัฐอิสลามดังปรากฏในชื่อ
งานวิจัยของ อดิ๊บ ยูซุฟ เรื่อง นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road Initiative): ความร่วมมือและความขัดแย้ง: กรณีศึกษากวาดาร์พอร์ต รัฐบาโลจิสถาน (Gwadar Port, Balochistan) ประเทศปากีสถาน ได้อธิบายว่า…

หลังจากปากีสถานได้รับเอกราชจากอังกฤษ ปากีสถานก็แยกตัวออกจากประเทศอินเดีย มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ อดีตผู้นำสันนิบาตมุสลิมแห่งอินเดีย ในขบวนการเรียกร้องเอกราชและการจัดตั้งประเทศปากีสถาน ที่พ่วงด้วยตำแหน่งบิดาแห่งประเทศปากีสถานในเวลาต่อมา ได้สถาปนาปากีสถานขึ้นเป็นรัฐ-ชาติสมัยใหม่ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1947
มีคำกล่าวครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1947 ซึ่งจินนาห์ได้พูดถึงอุดมการณ์อันเด่นชัดของตนเอง ในฐานะข้าหลวงใหญ่แห่งปากีสถานในสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งปากีสถาน เอาไว้ว่า
“ตอนนี้เราควรจะให้ความสำคัญต่ออุดมคติของเรา และคุณจะพบว่าคนที่เป็นฮินดูจะยุติการเป็นฮินดูและคนที่เป็นมุสลิมก็จะเลิกเป็นมุสลิม ขณะนี้ทุกคนไม่ได้อยู่ในความรู้สึกทางศาสนาเพราะนั่นคือความเชื่อส่วนบุคคลของแต่ละคน แต่ในแง่กิจการทางการเมืองนั้นทุกคนอยู่ในฐานะพลเมืองของรัฐ”
คำกล่าวนี้ทำให้ยูซุฟวิเคราะห์ว่า อุดมคติของจินนาห์ต่อปากีสถานมีความเป็นโลกียนิยม (เกี่ยวข้องกับทางโลกหรือธรรมดาโลก-ผู้เขียน) และไม่ได้ต้องการจะสร้างรูปแบบรัฐอิสลามแต่อย่างใด
ส่วนคำว่าอิสลามที่อยู่ในชื่อประเทศปากีสถาน ในอุดมคติของจินนาห์ก็คือคำที่ใช้แบ่งระหว่างคนอินเดียที่เป็นฮินดูและมุสลิม
นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า “อิสลาม” ที่อยู่ในชื่อประเทศปากีสถานตามความเชื่อของจินนาห์
ทว่าในเวลาต่อมา ความเชื่อเดิมของจินนาห์ก็ค่อย ๆ จางหายไป เนื่องจากรัฐธรรมนูญในปี 1973 ของปากีสถาน ระบุไว้ว่า กฎหมายของที่นี่จะต้องสอดคล้องกับคำสั่งห้ามของศาสนาอิสลามในอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺ ซึ่งก็คือรูปแบบชีวิตที่ศาสดาปฏิบัติมา

ทำให้ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการการปกครอง
แต่ถึงแม้จะมีเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง กฎหมายของปากีสถานในปัจจุบันก็มีการผสมผสานระหว่างสองแนวคิด ทั้งในเรื่องความเชื่อและรูปแบบการเมืองในรัฐชาติ โดยเฉพาะรูปแบบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับบ้านเมืองของตนเอง และความเป็นไปของโลกที่เรียกว่า “อิสลามนิยม” ซึ่งไม่ได้ปรากฏแค่ในปากีสถานปัจจุบัน
แต่ยังใช้ในอินโดนีเซีย ตูนิเซีย หรือตุรกีบางยุคสมัยอีกด้วย ซึ่งเป็นชาติมุสลิมเช่นกัน แต่ไม่ได้ใช้หลักศาสนาในการปกครองอย่างเข้มงวด
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มาชื่อ “ปากีสถาน” เหมือนหรือต่างอย่างไรจากชื่อประเทศลงท้ายด้วย “สถาน” ในเอเชียกลาง
- “Slap Kabaddi” กีฬาพื้นบ้านปากีสถาน ตบกันไม่ยั้งแค่ไหนก็ได้ แต่ห้ามต่อย!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อดิ๊บ ยูซุฟ. นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road Initiative): ความร่วมมือและความขัดแย้ง: กรณีศึกษากวาดาร์พอร์ต รัฐบาโลจิสถาน (Gwadar Port, Balochistan) ประเทศปากีสถาน. [ม.ป.ท.]:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:142088.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤษภาคม 2568