เผยแพร่ |
---|
เป็นที่ทราบกันดีว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีกองทัพญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย จังหวัดกาญจนบุรีนับเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีฐานทัพญี่ปุ่นมาตั้งอยู่ แน่นอนอยู่แล้วว่าการสงครามย่อมมีความเครียดและแรงกดดันมากมาย ภายใต้สงครามที่มีแรงกดดันทหารล้วนมีความต้องการปลดปล่อยเพื่อผ่อนคลายในสถานการณ์ตรึงเครียดไม่ว่าจะเป็นการปลดปล่อยทางอารมณ์หรือการปลดปล่อยทางเพศซึ่งนับเป็นเรื่องธรรมชาติที่มนุษย์ต้องการ ขณะเดียวกันนั้นในสถานการณ์และสถานที่เสี่ยงเช่นนี้การปลดปล่อยจะออกมาในแบบไหนกัน?
“ผู้หญิงปลอบขวัญ” เป็นชื่อหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นให้ดูมีความไพเราะในช่วงยุคสงครามครั้งที่สอง ทว่าผู้หญิงกลุ่มนี้เป็นผู้หญิงที่ถูกเกณฑ์ไปเพื่อบำเรอกามให้เหล่าทหารญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อที่ดูดีเรียกได้ว่าเป็น “ผู้หญิงปลอบขวัญ”
หากจะกล่าวถึงระหว่างที่ทหารญี่ปุ่นตั้งค่ายอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรีนั้น ได้มีการจัดส่งผู้หญิงเพื่อปลอบขวัญทหารเช่นเดียวกับที่เกิดในประเทศอื่นๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้หญิงที่เกี่ยวข้องแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มแรก เป็นผู้หญิงต่างชาติที่กองทัพญี่ปุ่นเป็นผู้จัดหาและติดตามกองทัพมาอยู่ในประเทศต่างๆ ซึ่งการเข้ามาในประเทศไทยพบว่า มีลักษณะหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าไป โดยมาอยู่คราวละ 2-3 เดือน ผู้หญิงเหล่านี้จะพักอยู่ในสถานที่ที่กองทัพญี่ปุ่นจัดหาไว้ให้ สถานที่ดังกล่าวเข้าข่ายลักษณะที่เรียกว่าเป็น Comfort station ซึ่งมีการขายเครื่องดื่ม เปิดเพลงตลอดทั้งวันและทั้งคืน ผู้หญิงทั้งหมดพักอยู่ในสถานบริการแห่งนี้ และมีการจัดเวียนผู้หญิงออกไปบริการในค่ายอื่นๆ นอกตัวเมืองกาญจนบุรี
กลุ่มที่สอง เป็นผู้หญิงไทย ที่มาของผู้หญิงไทยที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับทหารญี่ปุ่นมีหลากหลายรูปแบบ เช่นการจัดหาผู้หญิงไทยเป็นกลุ่มหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ามาบริการทหารญี่ปุ่นในค่ายพัก การเที่ยวผู้หญิงในลักษณะต่างๆ เช่น ไปเที่ยวซ่อง การมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงริมแม่น้ำ รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์แบบเปิดเผยและแบบลับๆ กับผู้หญิงท้องถิ่น
ทหารญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิงไทยในหลายรูปแบบเช่นเดียวกันกับผู้หญิงชาติอื่นๆ แต่มีความแตกต่างกันคือ ผู้หญิงไทยที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับทหารญี่ปุ่นนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ผ่านกระบวนการจัดหาจากซ่องโสเภณี ความคิดที่ว่าโสเภณีมีหน้าที่บำบัดความใคร่ผู้ชาย ฐานะของพวกเธอจึงถูกมองเป็นบุคคลอื่น หรือมองว่าเป็นสถานการณ์ปกติแตกต่างจากกระบวนการจัดหาผู้หญิงชาวบ้านมาเพื่อบำเรอกามเหล่าทหารทั้งหลายอย่างที่เกิดในประเทศอื่น
ดังตัวอย่างเรื่องราวของ Pak Kum Joo หญิงเกาหลีที่เผชิญชะตากรรมในเวลานั้นเล่าว่า
“…ทั้งกลางวันกลางคืน คนแล้วคนเล่า วันหนึ่งๆ ฉันต้องนอนกับทหาร 20 คน พวกเราพยายามตกลงกันว่าจะไม่ฆ่าตัวตาย แต่ก็ยังมีคนทำแบบนั้น บางคนก็ใช้วิธีีขโมยฝิ่นมาสูบให้มากเกินเพื่อฆ่าตัวตาย.. พวกเรามาที่นี้เพราะเขาชักชวนให้เราไปทำงานโรงงาน เราไม่รู้ว่าจะต้องมาเป็นแบบนี้…”
แม้ว่าผู้หญิงนักเที่ยวชาวไทยรู้ว่าตนเองกำลังมาบริการทางเพศแก่ทหารญี่ปุ่นแตกต่างกับผู้หญิงเกาหลีที่ถูกล่อลวง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงกลุ่มนี้จะรู้สึกยินดีและยินยอมกับสิ่งที่ถูกทำอยู่
นอกจากความเป็นพันธมิตรระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาอ้างถึงสาเหตุที่ผู้หญิงไทยไม่ถูกย้ำยีเหมือนผู้หญิงอีกหลายชาติอื่นๆ เงื่อนไขหนึ่งคือ การเลือกใช้สถาบันการค้าประเวณีที่มีอยู่ในไทยมาเป็นเงื่อนไขในการจัดหาผู้หญิงเพื่อบำเรอกามทหารในกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางผ่านประเทศไทยเข้าสู่พม่า มีเพียงทหารรถไฟบางส่วนที่อยู่ในเมืองไทยต่อเนื่องตลอดสงคราม
หากถามว่า มีผู้หญิงไทยทำหน้าที่ปลอบขวัญทหารญี่ปุ่นหรือไม่ คำตอบขึ้นอยู่กับที่ว่า ผู้หญิงปลอบขวัญทหารนั้นมีขอบข่ายแค่ไหน ผู้หญิงปลอบขวัญไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการบังคับ ขู่เข็ญ ข่มขืน อย่างที่เกิดในหลายประเทศเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการเอาการค้าประเวณีที่มีอยู่ในสังคมไทย ไปทำหน้าที่รองรับกระบวนการจัดหาผู้หญิงเพื่อบำบัดความต้องการทางเพศของกองทัพญี่ปุ่น
*คลิกอ่านเพิ่มเติมเรื่องความแตกต่างในผู้หญิงบำเรอกามระหว่างผู้หญิงไทยกับผู้หญิงบางกลุ่มในประเทศอื่นจากเรื่อง เหยื่อ “บำเรอกาม” ทหารญี่ปุ่น ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง
อ้างอิง
โสภิดา วีรกุลเทวัญ.“ตามรอย comfort women ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2544.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561