เหยื่อ “บำเรอกาม” ทหารญี่ปุ่น ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

กองทัพญี่ปุ่นได้จัดตั้งสถานบริการเพื่อปลอบขวัญทหารญี่ปุ่น (Comfort station) เกือบทุกแห่งที่ญี่ปุ่นเข้าครอบครอง โดยสถานบริการแห่งแรกภายใต้การดูแลของกองทัพทัพญี่ปุ่นเกิดขึ้นที่เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ระหว่างที่ญี่ปุ่นเข้าไปทำสงครามกับจีน (Hicks, ๑๙๙๕ : ๑๙)

อาจกล่าวได้ว่า จีนเป็นประเทศที่กองทัพญี่ปุ่นจัดตั้งสถานบริการลักษณะนี้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งสถานดังกล่าวในไต้หวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย และพม่า เป็นต้น (Lifei and Zhiliang, ๑๙๙๘)

บทความเรื่อง Present Situation and Perspectives of the Researches of the Comfort Women Issue in Mainland China โดย Lifei and Zhiliang (๑๙๙๘) เสนอว่า สถานบริการลักษณะนี้แบ่งได้เป็น ๔ แบบ

๑. เป็นกลุ่มที่กองทัพญี่ปุ่นเป็นผู้จัดตั้งสถานีดังกล่าว มีลักษณะค่อนข้างถาวร

๒. เป็นสถานีที่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างเอกชนและกองทัพญี่ปุ่น

๓. เป็นสถานที่ที่ชาวญี่ปุ่นซึ่งอพยพไปอยู่ประเทศนั้นๆ เป็นผู้จัดการ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ

๔. เป็นซ่องของเอกชนซึ่งกองทัพระบุให้เป็นสถานบริการสำหรับทหาร

ในช่วงแรกของสงครามนั้น กองทัพญี่ปุ่นได้จัดส่งโสเภณีญี่ปุ่นไปเพื่อให้บริการทหารในประเทศจีน แต่พบว่าทหารญี่ปุ่นเกิดติดเชื้อกามโรคมาก นายหน้าที่รับจัดหาผู้หญิงให้กับกองทัพจึงได้ติดต่อผู้หญิงเกาหลีในวัย ๑๗-๑๘ ปีเศษ จากครอบครัวที่ยากจนไปเพื่อบริการให้กับทหารญี่ปุ่น จนกระทั่งช่วงปลายสงคราม ความต้องการผู้หญิงเพิ่มจำนวนมากขึ้น เนื่องจากผู้หญิงที่ส่งไปถูกส่งไปบริการทางเพศให้กับทหารญี่ปุ่นในแนวหน้า ยังประเทศต่างๆ ทำให้ผู้หญิงราว ๒๐๐,๐๐๐ คนตกเป็นเหยื่อทางเพศ กลุ่มคนเหล่านี้ประกอบด้วยผู้หญิงเกาหลีร้อยละ ๘๐ ที่เหลือเป็นผู้หญิงจีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและผู้หญิงดัตซ์ (Kazuko, ๑๙๙๔)

จากเอกสารที่เป็นเอกสารและคำบอกเล่าของผู้หญิงที่เคยถูกล่อลวงไปบริการทหารญี่ปุ่น พบว่าพวกเธอเหล่านี้ถูกบังคับ ล่อลวง ด้วยวิธีการต่างๆ ผู้หญิงที่ถูกบังคับให้เข้าไปอยู่ในสถานบริการตามประเทศต่างๆ เหล่านี้จะต้องให้บริการทางเพศแก่เหล่าทหารวันละ ๓๐-๔๐ คน โดยมีทหารยืนเรียงรายหน้าห้องพักเพื่อรอการร่วมเพศเป็นคนถัดไป และหากผู้หญิงไม่ยินยอมจะถูกทำร้าย เพราะพวกเธอมีฐานะเป็นสมบัติส่วนรวมของกองทัพญี่ปุ่น

นอกจากนี้ผู้หญิงปลอบขวัญทหารยังถูกแบ่งตามลำดับชั้นโดยใช้ชนชั้นและเชื้อชาติเป็นแนวแบ่งแยก เช่น ผู้หญิงเกาหลีและผู้หญิงเอเชียชาติต่างๆ จัดไว้สำหรับรองรับความต้องการของทหารชั้นผู้น้อย ขณะที่ผู้หญิงยุโรปและผู้หญิงญี่ปุ่นมีไว้มีไว้สำหรับบริการระดับนายทหาร (Kazuko, ๑๙๙๔)


คัดบางส่วนจากบทความ : “ตามรอย comfort women ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง”. โดย โสภิดา วีรกุลเทวัญ. ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน ๒๕๔๔


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561