เบื้องหลังเงินค่าที่ดินตั้ง “สถานทูตอังกฤษแห่งแรก” ในสยาม สมัยรัชกาลที่ 4

ภาพด้านหน้าสถานกงสุลอังกฤษเดิม ที่ปรากฏอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย ริมถนนเจริญกรุงก่อนที่ทางอังกฤษจะขายที่ดินให้กับรัฐบาลไทย และเอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินไปซื้อที่ดินผืนใหม่บริเวณสี่แยก ถนนวิทยุตัดกับถนนเพลินจิตในปัจจุบัน (ภาพจาก เทพชู ทับทอง, อนุทินกรุงเทพฯ ภาพแห่งความทรงจ. น. ๒๗๔.)

อังกฤษกับไทยเริ่มมีความสัมพันธ์กันตั้งแต่สมัยอยุธยา ความสัมพันธ์ช่วงหนึ่งขาดตอนไปช่วงหลังรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในตอนปลายสมัยอยุธยา และได้กลับมาเริ่มมีความสัมพันธ์กันใหม่สมัยรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 2

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าความสัมพันธ​์ระหว่างไทยกับอังกฤษที่เริ่มขึ้นเกิดจากความสัมพันธ์ทางการค้า ในปี พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) อังกฤษมีการส่ง เซอร์จอห์น เบาว์ริง อัครราชทูตของอังกฤษเชิญพระราชสาส์นมาเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรีกับไทย ซึ่งตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเจรจาครั้งนี้มีการลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์กันด้วย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริง” โดยมีการลงนามสนธิสัญญาต่อกันเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398

การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงมีความสำคัญอย่างหนึ่งคือการที่ไทยต้องยอมให้อังกฤษจัดตั้งสถานกงสุลเพื่อใช้เป็นสถานที่พิจารณาคดีคนในบังคับอังกฤษ โดยไม่ต้องขึ้นศาลไทย ในปี 2399 (ค.ศ. 1856) ภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาแล้วรัฐบาลอังกฤษได้ส่งนาย ซี.บี. ฮิลเลียร์ (C.B.Hillier) มาเป็นกงสุลคนแรกและต้องหาสถานที่ก่อสร้างกงสุลขึ้น ซึ่งขณะนั้นในกรุงเทพฯ ยังมีการคมนาคมแบบอาศัยแม่น้ำลำคลองเป็นหลักยังไม่มีการตัดถนน จึงมีการเลือกที่ดินตั้งสถานกงสุลอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

อาคารไปรษณีย์กลางบนที่ดินสถานกงสุลอังกฤษเดิม ภาพถ่ายทางเครื่องบิน (ภาพจาก เทพชู ทับทอง, ภาพถ่ายประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ย้อนยุค, น. 91)

การตั้งอาคารตามพื้นที่ดินที่ต่างๆ แน่นอนอยู่แล้วว่าที่ดินที่มีเจ้าของนับเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าเป็นแน่ สำหรับพื้นที่ที่ทางอังกฤษต้องการนั้นนับเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีมูลค่าพอสมควรในยุคสมัยนั้นซึ่งก็มีราคาที่ถูกกำหนดไว้อยู่แล้ว การมาตั้งอาคารตามสถานที่นั้นต้องมีการซื้อขายกันเป็นเรื่องธรรมดาจึงมีการกล่าวถึงราคาที่ดิน ตามที่มีหลักฐานพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 4 ทรงมีไปถึงนายฮิลเลียร์ไว้ว่า

“ส่วนใหญ่ของที่ดินใกล้เคียงกับสถานกงสุลโปรตุเกสนั้นเป็นของชาวมาเลย์และพม่า เราจะดำเนินการให้เจ้าของที่ดินเหล่านั้นขายที่ดินให้กับท่านในราคาตารางวาละ 1 บาท หรือต่ำกว่านั้นตามกฎหมายใหม่ของสยามและราชประเพณี แต่เรามีความลำบากเล็กน้อยเกี่ยวกับส่วนหนึ่งของที่ดินที่ท่านพอใจซึ่งเป็นของพระยาบรบาลสมบัติซึ่งเป็นขุนนางขึ้นกับพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ 2 ซึ่งเราไม่สามารถจะดำเนินการให้ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองขายในราคาดังกล่าวได้” [1]

แต่ปรากฏว่าขณะนั้นทางกงสุลไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าที่ดินที่ต้องการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานเงินยืมให้เพื่อดำเนินการซื้อที่ดิน การดำเนินการซื้อที่ดินเป็นไปโดยไม่ราบรื่นนัก โดยมีคนในบังคับของอังกฤษคนหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งเป็นการผิดกฎหมาย ทำให้พระเจ้าอยู่หัวกริ้วและลงทัณฑ์โดยการโบย ซึ่งทำให้กงสุลอังกฤษประท้วงว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสนธิสัญญาที่เพิ่งตกลงกัน เรื่องจึงลงเอยโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินดังกล่าวให้กับทางอังกฤษ ดังปรากฏในจดหมาย ลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2400 (ค.ศ.1857) จากลอร์ด แคลเรนดอน (Lord Clarendon) ถึงนายชาร์ลส์ เบลล์ (Charles Bell) แห่งสถานกงสุลอังกฤษ มีสาระสรุปได้ว่า

“เราได้รับหนังสือของท่านฉบับที่ 29 ลงวันที่ 4 ธันวาคม ศกที่แล้ว ระบุว่าพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ 1 ได้ทรงแจ้งท่านว่าเป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะทรงมอบที่ดินที่เลือกโดยอดีตกงสุลฮิลเลียร์ สำหรับเป็นสถานกงสุลอังกฤษ โดยจะมีประกาศในเวลาเดียวกันว่าที่ดินดังกล่าวเป็นการมอบให้เพื่อชดเชยการที่มีการจับกุมและประหารชีวิตคนในบังคับของอังกฤษ และพระองค์ทรงให้คำมั่นว่าจะไม่มีการละเมิดสนธิสัญญาในลักษณะนี้อีก ท่านโปรดกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ 1 ว่า พระราชประสงค์ดังกล่าวเป็นที่พอใจของรัฐบาลของสมเด็จพระราชินี…” [2]

ขณะเดียวกันไม่มีการกล่าวถึงและคืนเงินที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ยืมเพื่อดำเนินการซื้อที่ดินผืนนี้แต่อย่างใด

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“แผ่นดินทองที่ไม่ใช่ของไทย : ที่ดินสถานทูตอังกฤษ”. โดย ธโนทัย สุขทิศ. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กรกฎาคม 2549

[1] ดู Office of the Prime Minister. The Committee for the Publication of Historical Documents. Foreign Records of the Bangkok Period up to A.D. 1932, A.D. 1982, p. 39-41.

[2] ที่เดียวกัน


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2561