“ศึก 2 คณะสงฆ์” (สมัยก่อน) กระตุ้นให้มีการศึกษาพระธรรมลึกซึ้งยิ่งขึ้น

พระสงฆ์ไทยรวมตัวประท้วงในปี 1975 (พ.ศ. 2518) เรียกร้องให้คืนสถานภาพทางสงฆ์ให้กับพระสองราย (พระพิมลธรรมและพระศาสนโศภน) ที่ถูกจับสึกในปี 1960 (พ.ศ. 2503) และภายหลังยัง ถูกดำเนินคดีฐานเป็นคอมมิวนิสต์ (AFP PHOTO)

“…รศ. สมโชติ อ๋องสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ระบุไว้ว่า เมื่อแต่ครั้งยุคพญากือนา แห่งราชวงศ์มังราย ผู้ครองนครเชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ. 1910-31 มีพระราชประสงค์จะฟื้นฟูคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีขึ้นมา และก็ทรงพบป่าพะยอมตั้งอยู่ตรงด้านตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ จึงโปรดให้สร้างวัดที่เรียกว่า อารามสวนดอกไม้ (ปัจจุบันคือวัดสวนดอก) ขึ้น ณ ป่าไม้พะยอมแห่งนั้น ก่อนที่จะนิมนต์พระสุมนเถรจากเมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นศิษย์จากเมืองเมาะตะมะ มาเป็นเจ้าอาวาสประจำวัดนี้จนเป็นที่มาแห่งการสถาปนาสงฆ์นิกายรามัญวงศ์ หรือลังกาวงศ์ในเชียงใหม่ขณะเดียวกันไม้พะยอมก็เป็นไม้ในเขตพระราชฐาน “เวียงสวนดอก” ของพญากือนา กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายด้วย

ครั้งนั้น พระสุมนเถรอัญเชิญพระบรมธาตุจากกรุงสุโขทัยมาประดิษฐานที่เชียงใหม่ด้วย โดยมีการนำพระบรมธาตุส่วนหนึ่งอัญเชิญขึ้นไปบนดอยเกิดเป็นพระบรมธาตุ ในปี พ.ศ. 1929 ดังที่เรียกในปัจจุบันคือ พระบรมธาตุดอยสุเทพ

เมื่อถึงสมัยพญาสามฝั่งแกนได้สถาปนาสงฆ์นิกายลังกาวงศ์ใหม่ขึ้นที่วัดแภะป่าทึง (วัดป่าแดง) ในเขตป่าไม้พะยอม เชิงดอยสุเทพเช่นเดียวกัน

สงฆ์ฝ่ายวัดป่าแดงเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยพยาติโลกราช เนื่องจากโปรดให้พระสงฆ์นิกายลังกาวงศ์ใหม่มาตั้งศูนย์กลางที่วัดดังกล่าว ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับวัดสวนดอก เป็นเหตุให้พระสงฆ์ถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ สวนดอกและป่าแดงเกิดศึกภายในดงป่าพะยอม เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลดีต่อพระธรรม ด้วยเพราะต่างฝ่ายต่างตั้งใจศึกษาพระธรรมให้ลึกซึ่งยิ่งขึ้น จนมีการสังคายนาพระพุทธศาสนาครั้งแรกในสยามขึ้นที่วัดเจ็ดยอดเมื่อ พ.ศ. 2020…”

ที่มา: “จากศึก สงฆ์ 2 ฝ่าย สู่พยานรักข้ามราชสำนัก ก่อเกิด ‘กาด’ จารึกความทรงจำใต้ ‘ต้นพะยอม’” โดย ปรีชยา ซิงห์ ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ สิงหาคม 2552