
ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ดินแดนตะวันออกเฉียงเหนือของสยามนับว่าห่างไกลจากศูนย์กลางพระราชอำนาจอย่างยิ่ง จะมีข้าราชการจากส่วนกลางไปปฎิบัติงานก็เป็นครั้วคราวเท่านั้น เช่น ทำศึกสงคราม ระงับข้อพิพาทระหว่างเมือง เร่งรัดส่วยจากกลุ่มอำนาจท้องถิ่น กระทั่งในยุครัชกาลที่ 5 ตั้งแต่กลางทศวรรษ 2420 เป็นต้นมา มีการส่งเจ้านายและข้าราชการจากกรุงเทพฯ ไปประจำการโดยตรง เพื่อวางรากฐานอำนาจการปกครองของรัฐบาลให้เข้มแข็ง ลดการพึ่งพากลุ่มอำนาจท้องถิ่น มีการปรับรูปแบบการปกครอง แล้วมณฑลลาว พื้นที่อีสาน แต่ละมณฑลมีเมืองอะไรบ้าง?

หัวเมืองลาวทั้งสี่
ก่อนจะเป็นมณฑลลาว พื้นที่อีสานมีการปกครองในรูปแบบ “หัวเมืองลาว” ซึ่ง ประวิทย์ สายสงวนวงศ์ เล่าไว้ในผลงาน เปลี่ยนอีสานให้เป็น “ไทย”: อุดมการณ์รัฐชาติกับสำนึกการเมืองของคนที่ราบสูง (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า
รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ใน พ.ศ. 2425 สยามส่ง พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) และข้าราชการจากกรุงเทพฯ ไปกำกับราชการที่ เมืองจำปาศักดิ์ ในฐานะข้าหลวงใหญ่ และในปีเดียวกัน หลวงภักดีณรงค์ (ทัด ไกรฤกษ์) ปลัดบัญชีกระทรวงมหาดไทย ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นข้าหลวงปฏิบัติการที่ เมืองอุบลราชธานี
ที่เป็น 2 เมืองนี้ เพราะล้วนเป็นศูนย์กลางที่ทรงอิทธิพลมากสุดของอำนาจท้องถิ่นบริเวณฝั่งขวาแม่น้ำโขงทั้งสิ้น

ต่อมาใน พ.ศ. 2433 หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกและบริเวณเขมรป่าดงถูกจัดระเบียบเข้าด้วยกัน และแบ่งพื้นที่รับผิดชอบเป็น 4 กองใหญ่ มีข้าราชการจากสยามเป็นผู้ปกครองสูงสุดในพื้นที่ ได้แก่
หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก มีพระพิศนุเทพ (ช่วง) เป็นข้าหลวง ตั้งกองว่าราชการอยู่เมืองจำปาศักดิ์
หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ มีพระยาราชเสนา (ทัด ไกรฤกษ์) เป็นข้าหลวง ตั้งกองว่าราชการอยู่เมืองอุบลราชธานี
หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ มีพระอนุชิตบริหาร (จันทร์ อินทรกำแหง ณ ราชสีมา) เป็นข้าหลวง ตั้งกองว่าราชการอยู่เมืองหนองคาย
หัวเมืองลาวฝ่ายกลาง มีพระพิเรนทรเทพ (ทองคำ สีหอุไร) เป็นข้าหลวง ตั้งองว่าราชการอยู่เมืองนครราชสีมา
พื้นที่รับผิดชอบทั้ง 4 กอง อยู่ในการกำกับดูแลของพระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) ข้าหลวงใหญ่ซึ่งปฏิบัติราชการอยู่จำปาศักดิ์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2425
มณฑลลาว พื้นที่อีสาน กับการมาถึงของเจ้านาย 3 พระองค์

ใน พ.ศ. 2434 การดูแลกำกับพื้นที่อีสานทวีความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงส่งเจ้านายชั้นสูง 3 พระองค์ไปปฏิบัติราชการในฐานะข้าหลวงต่างพระองค์ นับเป็นเจ้านายชั้นสูงกลุ่มแรกๆ ที่เสด็จไปประจำการในอีสาน
ประวิทย์เล่าอีกว่า ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่การปกครองอีกครั้ง คราวนี้แบ่งเขตการปกครองเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่
มณฑลลาวกลาง (หัวเมืองลาวกลางเดิม) ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครราชสีมา ประกอบด้วย 3 เมืองใหญ่ คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ และ บุรีรัมย์ มี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ ระหว่าง พ.ศ. 2434-2436 ภายหลังเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น มณฑลนครราชสีมา ในช่วงต้นทศวรรษ 2440
มณฑลลาวพวน (หัวเมืองลาวพวนเดิม) ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหนองคาย ภายหลังย้ายกองบัญชาการไปยังบ้านหมากแข้ง และยกฐานะขึ้นเป็นเมืองอุดรธานี ประกอบไปด้วยเมืองส่วนหนึ่งทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (ภายหลังเป็นเขตปกครองของฝรั่งเศส หลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112) และเมืองในพื้นที่อีสานอีก 6 เมือง คือ อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม สกลนคร เลย และ หนองคาย มี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ ระหว่าง พ.ศ. 2434-2442 ภายหลังเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น มณฑลอุดร ช่วงต้นทศวรรษ 2440

มณฑลลาวกาว (หัวเมืองลาวกาวเดิม) ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี ประกอบไปด้วยเมืองใหญ่ 7 เมือง คือ อุบลราชธานี จำปาศักดิ์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และ กาฬสินธุ์ มี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ ระหว่าง พ.ศ. 2434-2436 และ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ระหว่าง พ.ศ. 2436-2453 ภายหลังเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น มณฑลอีสาน
ใน พ.ศ. 2455 มีประกาศแยกการปกครองออกมาเป็น 2 มณฑล คือ มณฑลอุบล และ มณฑลร้อยเอ็ด มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองร้อยเอ็ด
ต่อมา พ.ศ. 2456 โปรดเกล้าฯ ให้ราชการเปลี่ยนชื่อหน่วยการปกครองจากคำว่า “เมือง” เป็น “จังหวัด”
การเปลี่ยนพื้นที่เป็นมณฑลลาว พื้นที่อีสาน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มอำนาจเดิมผู้มากบารมีในพื้นที่เท่านั้น เพราะต่อมาเมื่อมีการวางรากฐานระบบมณฑลเทศาภิบาล ชาวบ้านโดยทั่วไปก็ต้องปรับตัวเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- 18 มณฑล ประเทศสยาม เมื่อก่อนแต่ละจังหวัดอยู่ในมลฑลไหน?
- “สุดบรรทัด-เจนจบทิศ” สู่ “ถนนมิตรภาพ” ช่วยย่นเวลาเดินทางกทม.-โคราชจาก 10 เหลือ 3 ชม.
- รู้ไหมว่า “มหาสารคามเคยมีสนามบิน”…แล้วทำไมถึงเปลี่ยนไป?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ประวิทย์ สายสงวนวงศ์. เปลี่ยนอีสานให้เป็น “ไทย”: อุดมการณ์รัฐชาติกับสำนึกการเมืองของคนที่ราบสูง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2568. สั่งซื้อหนังสือได้ที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2568