“รถไฟจีน” เมื่อ 160 ปีก่อน ทำไมถึงเป็นของประหลาด-อัปมงคล 

รถไฟจีน
รถไฟความเร็วสูงของจีนในปัจจุบัน (ภาพจาก www.khaosod.com)

ปัจจุบันการคมนาคมระบบรางของจีน คือ “รถไฟจีน” ติด 1 ใน 3 รถไฟที่เร็วที่สุดของโลก ที่ทำให้การเดินทางของผู้คน, สินค้า และผลิตผลการเกษตร เป็นไปอย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อแรกมีรถไฟในประเทศจีนเมื่อ 160 ปีก่อน รับรองว่าได้อึ้งไปตามๆ กัน

เพราะนี่คือประเทศที่ “ใช้ม้า” ลากรถไฟ แทน “หัวรถจักร”

รถไฟจีน  

ค.ศ. 1825 ทางรถไฟสายแรกของโลกเปิดใช้งานในประเทศอังกฤษ ด้วยความยาว 27 กิโลเมตร หลังจากนั้นก็ค่อยกระจายไปสู่ทวีปอเมริกาเหนือแพร่ไปถึงยุโรปภาคพื้นทวีป และภูมิภาคอื่นในโลก รวมทั้งประเทศจีน

เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1865 พ่อค้าชาวอังกฤษได้สร้างทางรถไฟสายหนึ่งยาว 0.5 กิโลเมตร บริเวณด้านนอกของประตูเมืองเสวียนอู่เหมินในกรุงปักกิ่ง การทดลองเดินรถไฟดังกล่าว เหล่าขุนนางราชสำนักชิงเห็นตรงกันว่า รถไฟนั้นแล่นเร็วราวกับเหาะ ของประหลาดนี้ทำให้ตกใจหวาดผวา และลงท้ายด้วยคำสั่งให้ “รื้อทิ้ง”

ค.ศ. 1876 บริษัทจาร์ติน แมทเธอสัน ของอังกฤษ สร้างทางรถไฟสายซงฮู่ แต่เมื่อเปิดเดินรถก็มีเสียงคัดค้านไม่ขาดสาย เมื่อเกิดเหตุรถไฟวิ่งทับคนเสียชีวิต ยิ่งทําให้คนกลัวรถไฟมากขึ้น หลังเปิดใช้ไปครึ่งปี รัฐบาลชิงยอมจ่ายเงิน 2.85 แสนตำลึง ไถ่ซื้อทางรถไฟสายนี้ และ “รื้อทิ้ง” ทั้งหมด หัวรถจักรและตู้รถไฟทั้งหมดถูกนำไปทิ้งลงแม่น้ำ

รถไฟจีน
หัวรถไฟของหน่วยการทางรถไฟในกรุงปักกิ่งสมัยปลายราชวงศ์ชิง (ภาพจาก หลังสิ้นบัลลังก์มังกรฯ สนพ.มติชน)

ค.ศ. 1874 ญี่ปุ่นบุกรุกไต้หวัน สถานการณ์ทางทะเลเข้าขั้นวิกฤต ค.ศ. 1876 ข้าหลวงมณฑลฝูเจี้ยน ถวายฎีกาแด่จักรพรรดิและทูลว่า ไต้หวันอยู่ห่างไกล มีเพียงการสร้างทางรถไฟและสายไฟฟ้าเท่านั้นที่จะสามารถป้องกันศัตรูภายนอก และสร้างความสงบสุขให้คนในประเทศ แม้ราชสํานักชิงเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ แต่งบประมาณไม่เพียงพอ จึงไม่ได้ดำเนินการใดๆ

ค.ศ. 1880 ขุนนางหัวก้าวหน้าถวายฎีกาเรื่องสร้างทางรถไฟอีกครั้ง เขาเชื่อว่าการสร้างทางรถไฟไปเมืองต่างๆ จะทําให้ประเทศเข้มแข็งได้ แต่ว่าถูกกลุ่มขุนนางหัวโบราณโจมตี และชี้โทษภัยของทางรถไฟ เช่น ทําลายระบบขนส่งเดิมๆ อย่างรถและเรือ, ทําลายพื้นที่การเกษตร ฯลฯ

รถไฟ หรือ ปีศาจ

แต่โทษของรถไฟที่เกินคาดมาจาก หลิวซีหง-ราชเลขาธิการที่ว่า “รถไฟถือเป็นสิ่งอัปมงคล” เพราะการสร้างทางรถไฟที่ต้องเจาะภูเขาทำอุโมงค์ทะลุ หรือสร้างสะพานข้ามแม่น้ำลําธาร เป็นการรบกวนเจ้าป่าเจ้าเขาและพญามังกร ทําให้เทพเจ้าโกรธเคืองได้ และจะนํามาซึ่งภัยพิบัติรุนแรง

ในปีเดียวกันนี้ เหมืองแร่ที่เมืองไคผิงใกล้เปิดดําเนินการ หน่วยกิจการเหมืองแร่จึงเสนอให้สร้างทางรถไฟสายถังซาน-ซวีเก้อจวง เพื่อขนส่งถ่านหิน ด้วยเส้นทางที่จะสร้างค่อนข้างสั้น และอยู่ไกลจากเมืองหลวงกรุงปักกิ่ง ราชสํานักชิงจึงอนุมัติให้สร้างได้ แต่เมื่อเริ่มการก่อสร้าง กลุ่มขุนนางหัวโบราณลุกขึ้นประท้วงเช่นเคย

รถไฟจีน
ขุนนางในราชสำนักชิง (ภาพจาก หลังสิ้นบัลลังก์มังกรฯ สนพ.มติชน)

สุดท้ายจาก “ทางรถไฟ” จึงต้องเปลี่ยนเป็น “ขุดคลอง” เพื่อขนส่งแทน แต่พื้นที่บริเวณเหมืองมีลักษณะสูงชัน น้ำไหลขึ้นไปไม่ได้ หน่วยกิจการเหมืองแร่จึงขออนุมัติสร้างทางรถไฟอีกครั้ง และเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคัดค้าน จึงชี้แจงในฎีกาอย่างชัดเจนว่าจะใช้ “ม้าลากหัวขบวน” ที่สุดก็ได้รับการอนุมัติอย่างฝืนใจ 

ทางรถไฟสายถังซาน-ซวีเก้อจวง ระยะทางยาว 9.7 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 1.1 แสนตําลึง เปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1881 แต่หลังเปิดใช้ได้ไม่นาน กลุ่มขุนนางหัวโบราณก็ก่อเรื่องทันทีว่า ขบวนรถไฟทําให้บริเวณสุสานหลวงของบูรพจักรพรรดิชิงต้องสั่นสะเทือน หน่วยกิจการเหมืองแร่ถูกโจมว่าหลอกลวงเบื้องสูง ราชสํานักชิงสั่งตรวจสอบ ก่อนระงับโครงการ

จากนั้นไม่นาน ช่างเทคนิคของโรงซ่อมทางรถไฟซวีเก้อจวงลงมือออกแบบ และดัดแปลงหม้อและเตาที่ทิ้งแล้วมาเป็นเครื่องจักรไอน้ำรถไฟ คนงานช่วยกันสลักรูปมังกรไว้บนหัวขบวนรถไฟ แล้วเรียกรถไฟขบวนนี้ว่า “รถไฟมังกร” เพื่อปิดปากกลุ่มขุนนางหัวโบราณ

เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1882 การทดลองโดยสาร “รถไฟมังกร” เกิดขึ้นและจบลงด้วยดี สรุปได้ว่า  “มังกร” เยียวยาทุกสิ่ง ไม่เช่นนั้นวันนี้การรถไฟจีนคงไม่มีรถไฟความเร็วสูง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เส้าหย่ง, หวังไท่เผิง เขียน, กำพล ปิยะศิริกุล แปล, หลังสิ้นบัลลังก์มังกร ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน, สำนักพิมพ์มติชน, ตุลาคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลนครั้งแรกเมื่อ 18 มีนาคม 2568