ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ 2 คำนำหน้าพระนาม ใช้ต่างกันอย่างไร?
คำนำพระนามเป็นเครื่องแสดงให้ทราบว่า เจ้านายพระองค์นั้นมีพระยศเป็นเจ้านายชั้นใด หรือทรงเป็นพระประยูรญาติชั้นใดกับพระมหากษัตริย์ เช่น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เป็นคำนำพระนามพระราชโอรสในพระมหากษัตริย์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เป็นคำนำพระนามพระเชษฐภคินีในพระมหากษัตริย์, สมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นคำนำพระนามพระอนุชาในพระมหากษัตริย์ เป็นต้น
สำหรับคำว่า “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ” และ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ” เป็นคำนำพระนามที่รัชกาลที่ 4 ทรงบัญญัติขึ้น ใช้สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงเป็นพระราชโอรส และพระราชธิดาในรัชกาลก่อนหน้า รวมถึงพระอนุชา และพระขนิษฐาในพระองค์
มีหลักการคือ ถ้าเจ้านายพระองค์นั้นมีพระยศเป็น “เจ้าฟ้า” ให้ใช้ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ” นำหน้าพระนาม หากมีพระยศเป็น “พระองค์เจ้า” ให้ใช้ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ” นำหน้าพระนาม
อย่างไรก็ตาม คำนำพระนามที่บ่งบอกว่าทรงเป็นพระประยูรญาติชั้นใดกับพระมหากษัตริย์นั้น เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ และพระเจ้าน้องนางเธอ เมื่อเปลี่ยนรัชกาล ก็ต้องเปลี่ยนคำนำพระนามใหม่ ซึ่งเป็นการยุ่งยากสับสน ในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงทรงบัญญัติให้ใช้ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ” และ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ” เป็นคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ชั้น ลุง ป้า น้า อา ของพระมหากษัตริย์ไปทุกชั้น
ทั้งยังทรงบัญญัติเพิ่มเติมว่า หากเจ้านายที่มีพระยศเป็น “พระองค์เจ้า” แต่ทรงได้รับการสถาปนาทรงกรม ที่ “กรมสมเด็จพระ” หรือ “กรมพระยา” ซึ่งเป็นการทรงกรมชั้นสูงที่สุด ก็ให้ใช้ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ” นำหน้าพระนามด้วย อย่างเช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4) ซึ่งเดิมทรงมีพระยศเป็น พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร แต่ทรงได้รับการสถาปนาทรงกรม ที่ “กรมพระยา”

และเพื่อเป็นการบ่งบอกว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น ทรงมีพระยศเป็น “เจ้าฟ้า” ไม่ใช่ “พระองค์เจ้า” จึงจะต้องมีคำว่า “เจ้าฟ้า” อยู่หน้าพระนามทรงกรม อย่างเช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4) ซึ่งพระองค์ทรงมีพระยศเป็น “เจ้าฟ้า” แม้จะทรงเป็นเจ้าฟ้าที่ได้รับการสถาปนาภายหลัง ไม่ใช่เจ้าฟ้าเมื่อแรกประสูติก็ตาม

ดังนั้น หากไม่ได้รับการสถาปนาทรงกรม ที่ “กรมสมเด็จพระ” หรือ “กรมพระยา” ก็จะไม่ใช้ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ” ใช้แต่เพียง “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ” อย่างเช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐ (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4) ซึ่งเดิมทรงมีพระยศเป็น พระองค์เจ้าโสมาวดี และทรงได้รับการสถาปนาทรงกรม ที่ “กรมหลวง”
อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่เจ้านายที่ทรงได้รับการสถาปนาทรงกรม ที่ “กรมพระ” ก็ได้ใช้คำนำพระนาม “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ” นั่นคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ โดยทรงเป็นพระชนกในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ซึ่งรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นกรณีพิเศษเพื่อเฉลิมพระเกียรติ
นอกจากนี้ เจ้านายอีกหลายพระองค์ ที่ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ อาจไม่ใช้คำนำพระนาม “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ” แต่จะมีคำนำหน้าเป็นกรณีพิเศษที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ สถาปนาเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เช่น สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3) และสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4) เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เรื่อง ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ของไทย โดยหม่อมราชวงศ์แสงสูรย์ ลดาวัลย์ใน, “พระบรมราชจักรีวงศ์”. พิมพ์ครั้งที่ 2. สำนักราชเลขาธิการ, 2552.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มีนาคม 2568