ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“คำหยาด” เป็นชื่อเรือประจำตำแหน่งเจ้าเมืองหนองคายคนแรก หรือพระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา ณ หนองคาย) เป็นเรือขนาด 40 ฝีพาย ท่านสั่งให้ขุดเรือลำนี้ขึ้นเมื่อต้นรัชกาลที่ 3 ราว พ.ศ. 2370 เมื่อแรกใช้ในงานราชการต่างๆ รวมถึงการศึกสงคราม
เรือคำหยาด
เมื่อครั้ง พระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา ณ หนองคาย) ดำรงตำแหน่งเป็นอุปฮาดเมืองยโสธร (อุปฮาด-ภาษาถิ่นอีสาน หมายถึงรองเจ้าเมือง) นำทัพไปร่วมกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายกมหาดไทย ในสงครามอานามสยามยุทธ
ครั้งนั้น พระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา ณ หนองคาย) ให้บ่าวไพร่หาต้นไม้เพื่อขุดสร้างเรือเร็วประจำตำแหน่งขึ้น ด้วยการคมนาคมเวลาใช้แม่น้ำ, ลำคลองต่างๆ เป็นสำคัญ เช่น แม่น้ำโขง, แม่น้ำงึม, ห้วยโมง ฯลฯ ได้ต้นตะเคียนหินขนาดใหญ่จากดงละคุ (ปัจจุบันคือ ตำบลหนองนาง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย)
ระหว่างจัดพิธีล้มไม้อย่างโบราณได้มีหยาดน้ำไหลออกจากต้น จากนั้นใช้ช้างชักลากมาที่เรือน เพื่อให้ช่างขุดเป็นเรือขนาดใหญ่สำหรับ 40 ฝีพาย ลักษณะเป็นเรือชะล่ายาว หรือเรือเสือ เมื่อแล้วเสร็จให้ชื่อว่า “คำหยาด” (คำ หมายถึง ทองคำ) การขุดเรือลำนี้คาดว่าคงอยู่ในช่วง พ.ศ. 2370-2371 เพราะเป็นห้วงศึกสงคราม จึงต้องรีบเร่งสร้าง เพื่อใช้เรือลำนี้รับ “ศึกอานามสยามยุทธ”
ราชการศึก
ถึงสมัยเจ้าเมืองหนองคายคนที่ 2 พระปทุมเทวาภิบาล (เคน ณ หนองคาย) เรือก็เผชิญ “สงครามฮ่อ” เมื่อทัพฮ่อบุกมาจะข้ามแม่น้ำโขงถึง 3 ครั้ง (ระหว่าง พ.ศ. 2418-2428) เรือคำหยาดได้ร่วมรับศึกทุกครั้ง
ในการศึกครั้งที่ 4 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้นำทหารหัดใหม่แบบยุโรป มาตั้งเป็นเมืองหนองคายปราบฮ่อ

ครั้งนั้นเรือลำนี้ก็ทำหน้าที่บรรทุกเสบียงต่างๆ เช่น ข้าวสาร, เวชภัณฑ์ ฯลฯ จากหนองคายพายทวนแม่น้ำโขงและแม่น้ำงึมไปส่งหลายเที่ยว ขากลับก็นำผู้บาดเจ็บมารักษาที่เมืองหนองคาย จนกระทั่งสงครามยุติ เรือลำดังกล่าวก็ทำหน้าที่บรรทุกเชลยศึก และอัฐิทหารที่เสียชีวิตกลับเมืองหนองคาย
ข่มขวัญคู่แข่ง
เรือลำนี้ถูกทิ้งร้างเป็นเวลานาน จนนายไชโย ณ หนองคาย ไปพบ และทราบว่าเป็นเรือประจำตำแหน่งบรรพบุรุษ จึงมีการบูรณะซ่อมแซมเรือ ก่อนจะนำลงสนามแข่งขันเรือ จนชนะเลิศในการแข่งขันเรือยาวจังหวัดหนองคายเกือบทุกปี กระทั่งมีคำเล่าลือเกี่ยวกับการข่มขวัญเรือคู่แข่งว่า “แม่ย่านางแรง”

พ.ศ. 2537 นายไชโย ณ หนองคาย ตัดสินใจซ่อมเรือครั้งใหญ่ เพราะเรือชำรุดเสียหายหลายส่วน เหลือเพียงแคมเรือที่เป็นของเดิม โดยหาไม้ตะเคียนใหม่ขุดเป็นท้องเรือ ใช้แผ่นเหล็กยึดกับแคมเดิม เมื่อนำเรือลงน้ำและเข้าแข่งขันอีก แม่ย่านางไม่แรงเหมือนในอดีต จึงแพ้บ้างชนะบ้างเรื่อยมา
ปัจจุบัน เรือลำนี้เก็บไว้ที่วัดสุธรรมนิมิต บ้านกวนวันใหญ่ ตำบลกวนวัน อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย
อ่านเพิ่มเติม :
- พระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ในสงครามปราบฮ่อ คืออะไร?
- เรือโบราณพนม-สุรินทร์ “เก่าแก่ที่สุดในไทยและอุษาคเนย์” อายุพันกว่าปีมาแล้ว
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สิทธิพร ณ นครพนม. “เรือคำหยาด 7 แผ่นดินของหนองคาย” ใน, ศิลปวัฒนธรรม เมษายน 2540.
ชื่อผู้เขียน (ไม่ระบุ). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ภูมิปัญญา จังหวัดหนองคาย, กระทรวงศึกษาธิการจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 8 ธันวาคม 2542.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2568