ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ย้อนดูคุกไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปงานราชทัณฑ์ ไม่เพียงให้ทัดเทียมอารยประเทศ แต่เพื่ออุดช่องโหว่ที่เจ้าพนักงานใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์จากนักโทษโดยมิชอบ
ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ให้รายละเอียดไว้ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเขาในหัวข้อ “จากการคุมขังสู่การแก้ไขฟื้นฟู: การเปลี่ยนแปลงของการราชทัณฑ์ไทยสมัยใหม่ พ.ศ. 2433-2506” ว่า
เมื่อมีการปฏิรูปงานราชทัณฑ์ มีการก่อตั้ง “กองมหันตโทษ” ควบคุมนักโทษหนักที่มีกำหนดโทษตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป และก่อตั้ง “กองลหุโทษ” ควบคุมนักโทษเบาที่มีกำหนดโทษจำคุกต่ำกว่า 3 ปี นักโทษที่ถูกจองจำจากการเป็นหนี้ และผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี
คุกกองมหันตโทษ สร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2433 (พ.ศ. 2434 ตามปฏิทินใหม่) ส่วนตะรางกองลหุโทษ สร้างแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2434

คุกไทยสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นแบบไหน
มาดูที่ตั้งของคุกและตะรางยุคนั้นกันก่อน
คุกกองมหันตโทษ มีทางเข้าหลักอยู่ทางทิศตะวันออกติดกับถนนพระพิพิธ กั้นคุกใหม่กับแนวกำแพงพระนคร ทิศตะวันตกติดคลองวัดสุทัศน์ ทิศเหนือติดกับวังกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาและที่ดินเจ้าจอมมารดาเที่ยง (เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 4) และทิศใต้ติดคลองวัดราชบพิธ
คุกแห่งนี้มี โยอาคิม กราซี (Joachim Grassi) ชาวอิตาเลียน ช่างฝรั่งรุ่นแรกของสยาม เป็นผู้ออกแบบและรับเหมาก่อสร้างผ่านบริษัทของตนคือ Grassi Brothers and Co.
ช่วงท้ายๆ ของการก่อสร้าง คือ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2433 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้พระอภัยพลภักดิ์ (นาค ณ ป้อมเพชร์) ข้าราชการกรมมหาดไทยมากำกับดูแลการก่อสร้าง โดยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเดิม พร้อมวางแผนผังคุกใหม่ทั้งหมด มีการขยายพื้นที่คุก สร้างกำแพงสูงล้อมรอบ และมีหอคอยสังเกตการณ์อยู่เป็นระยะ
ภายในคุกแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็น “โรงครัว” สำหรับประกอบอาหารเลี้ยงนักโทษ ส่วนที่สองเป็น “ตึกขังนักโทษ” ประกอบด้วยตึก 2 ชั้น จำนวน 2 หลัง และตึก 3 ชั้น จำนวน 2 หลัง และส่วนที่สามเป็น “โรงงาน” สำหรับให้นักโทษทำงาน

การวางผังพื้นที่บริเวณตึกขังนักโทษจะเน้นความสมมาตร ที่กำหนดให้มีทางเดินหลักพุ่งตรงจากประตูคุกผ่านตึก 2 ชั้นและ 3 ชั้นตามลำดับ นอกจากนี้ กำแพงคุกบริเวณทิศใต้ยังเป็นที่ตั้งของโรงพักพลตระเวนหน้าเรือนจำมหันตโทษ สำหรับเฝ้าระวังนักโทษหลบหนี
ระเบียบการคุมขังนักโทษกองมหันตโทษ ซึ่งเป็นนักโทษหนัก กำหนดให้ห้องขังทั่วไปคุมขังนักโทษห้องละ 10 คน
แต่ละห้องมีม้าไม้เป็นเตียงนอนพร้อมด้วยหมอนในตัว ได้รับผ้าห่มคนละ 1 ผืน หนังสือคำสอนทางพุทธศาสนาคนละ 1 เล่ม ถังมีฝาสำหรับขับถ่ายเวลากลางคืน
เรื่องอาหารการกิน กำหนดให้นักโทษชั้นกลางหรือชั้นสูงปรุงอาหารในโรงครัวแล้วแจกจ่ายให้กับนักโทษ ยกเว้นผู้มีบรรดาศักดิ์ต้องโทษสามารถขออนุญาตให้คนส่งอาหารจากภายนอกเข้ามารับประทานในคุกได้ หากนักโทษเจ็บไข้ได้ป่วย จะถูกย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลคุก ซึ่งมีนักโทษชั้นสูงเป็นผู้ช่วยพยาบาลคนป่วย ส่วนการอบรมนักโทษ กำหนดให้นักโทษฟังเทศนาในวันพระและวันนักขัตฤกษ์
นักโทษยังได้รับสิทธิให้ญาติหรือเพื่อนเข้าเยี่ยมได้ สามารถรับและส่งหนังสือระหว่างคุกกับภายนอกได้ มีกำหนดการให้คะแนนและหักคะแนนนักโทษ เพื่อเลื่อนหรือลดชั้นนักโทษ และมีกำหนดการลงโทษนักโทษที่ผิดกฎระเบียบในคุก
ส่วนคุกไทยสมัยรัชกาลที่ 5 อีกอย่าง คือ ตะรางกองลหุโทษ กินพื้นที่ขนาดใหญ่ในตำบลโรงครก ปัจจุบันเป็นกลุ่มอาคารศาลฎีกาและกระทรวงยุติธรรมริมสนามหลวง
ทางเข้าหลักอยู่ทิศใต้ติดถนนหน้าหับเผย ทิศเหนือติดอนุสาวรีย์แม่พระธรณีบีบมวยผม ทิศตะวันออกติดถนนราชินีริมคลองหลอด และทิศตะวันตกติดกับศาลพระราชอาญา ทำให้ง่ายต่อการนำผู้ต้องขังมาพิจารณาคดีความที่ศาล
โรงเรือนปลูกสร้างทำด้วยไม้มุงหลังคาสังกะสี เพื่อความรวดเร็วในการก่อสร้าง ส่วนสิ่งปลูกสร้างถาวรที่ใช้เป็นตะรางคุมขัง กำหนดให้มี 17 หลัง แบ่งเป็นตะรางนักโทษทั่วไป 13 หลัง และตะรางผู้ต้องขังพิจารณาคดี 4 หลัง มีรั้วกั้นแยกทั้ง 2 กลุ่มออกจากกัน
ตะรางแต่ละหลังมีห้องขัง 6 ห้อง บรรจุคนได้ห้องละ 14 คน ทำให้กองลหุโทษสามารถรองรับผู้ต้องขังได้ 1,428 คน
ด้านในตะรางกองลหุโทษยังมีสิ่งปลูกสร้างสำหรับเป็นสำนักงานของเจ้าพนักงาน คลังเก็บสิ่งของ โรงเรือนสำหรับเยี่ยมผู้ต้องขัง โรงหมอ โรงเรียน โรงครัว ส้วม และโรงงานอีกด้วย
ศรัญญู ให้ข้อมูลอีกว่า การออกแบบคุกกองมหันตโทษและกองลหุโทษ นับว่าได้อิทธิพลจากคุกอาณานิคมสิงคโปร์ในช่วงเวลาร่วมสมัยอย่างชัดเจน สะท้อนจากการวางผังด้วยระบบแกนหลัก มีอาคารหลายหลังรวมอยู่ด้วยกัน มิใช่การวางผังแบบรัศมี ซึ่งนิยมในยุโรปและอเมริกา
ภายในยังจัดพื้นที่ส่วนใหญ่ให้เป็นส่วนโรงงานและโกดัง ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับคุกอาณานิคมที่มุ่งเปลี่ยนคุกให้เป็นโรงงาน และเปลี่ยนนักโทษให้เป็นแรงงานบังคับที่มีทักษะด้านต่างๆ สำหรับทำงานสร้างผลประโยชน์ให้รัฐทั้งภายในและภายนอกคุก
ชาวตะวันตกที่เข้าเยี่ยมชมคุกสยาม จึงมักเปรียบเทียบคุกสยามว่ามีสิ่งปลูกสร้างและห้องขังนักโทษแทบไม่ต่างจากสถาบันราชทัณฑ์ในอินเดีย พม่า และ “สเตรตศ์เซตเทินเมนต์” (อาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
คุกไทยสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นรากฐานของการพัฒนาเรือนจำในยุคต่อมาๆ ให้นักโทษมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ไม่ว่าจะดีแค่ไหน สิ่งที่นักโทษทุกคนต้องการมาทุกยุคทุกสมัย คงมีเรื่องเดียวคือ “อิสรภาพ” ที่บางคนนับวันรอ ขณะที่บางคนอาจไม่ได้สัมผัสอีกเลยชั่วชีวิต
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม “คุกหน้าวัดโพธิ์” ใช้ขังนักโทษข้อหาหนัก ถึงตั้งใกล้วังหลวง?
- ที่ปรึกษาฝรั่งเห็นสภาพเรือนจำสยามถึงกับ “สังเวช” ชี้ คอกหมูในยุโรปยังสภาพดีกว่า
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศรัญญู เทพสงเคราะห์. จากการคุมขังสู่การแก้ไขฟื้นฟู: การเปลี่ยนแปลงของการราชทัณฑ์ไทยสมัยใหม่ พ.ศ. 2433-2506. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2564.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม 2568