ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พื้นที่ตรงข้ามวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ที่ปัจจุบันเป็นหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ซึ่งอยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง เคยเป็นที่ตั้งคุกมาก่อน เรียกกันว่า “คุกหน้าวัดโพธิ์” ใช้คุมขังเฉพาะนักโทษคดีอุกฉกรรจ์หรือมีโทษหนักเท่านั้น ทั้งยังเป็นคุกที่จำลองความเชื่อเรื่อง “นรก” ตามคติไตรภูมิมาไว้บนดินให้สัมผัสกันจริงๆ อีกด้วย

“คุกหน้าวัดโพธิ์” สภาพเป็นอย่างไร
วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก “จากการคุมขังสู่การแก้ไขฟื้นฟู: การเปลี่ยนแปลงของการราชทัณฑ์ไทยสมัยใหม่ พ.ศ. 2433-2506” ของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ (ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) เล่าถึงคุกนี้ไว้ว่า
คุกหลวงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่ใช้คุมขังนักโทษคดีอุกฉกรรจ์หรือมีโทษหนักเท่านั้น คือ “คุกหน้าวัดโพธิ์” สังกัดกรมพระนครบาล สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ครั้งสถาปนากรุงเทพฯ
ส่วน “ตะราง” ซึ่งเดิมสมัยกรุงศรีอยุธยาใช้สำหรับขังญาติพี่น้องของโจร พอมาสมัยกรุงเทพฯ ใช้เป็นที่คุมขังนักโทษคดีเล็กน้อยหรือคดีลหุโทษ ภายใต้การควบคุมของขุนนางตามกรมกองต่างๆ อย่าง กรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม กรมท่า กรมวัง และกรมนา
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ให้ภาพของคุกนี้ในช่วง พ.ศ. 2411-2413 ว่า “คุกตั้งอยู่ใกล้พระราชวังนัก แต่ก่อนแผ่นดินเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ผู้คนยังน้อยจับพะม่ามาได้จำไว้มาก ๆ ครั้นจะไปตั้งอยู่ไกลท่านไม่วางพระทัย เหมือนอย่างตึกดินก็อยู่ใกล้พระราชวังเหมือนกัน”
คำบอกเล่าของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ สอดคล้องกับในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ที่พระองค์โปรดให้สร้างวังใหม่แก่เจ้านายที่สั่งราชการกรมพระนครบาลให้อยู่ติดกับคุกนี้คือ “วังท้ายหับเผย” ของ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2) เพื่อสะดวกแก่การระงับเหตุร้ายต่างๆ ภายในคุกได้อย่างทันท่วงที
ถึงอย่างนั้น ใน พ.ศ. 2359 สมัยรัชกาลที่ 2 ก็เกิดเหตุการณ์นักโทษเชลยพม่าจำนวน 107 คน ลุกฮือฆ่าพัศดีและพะทำมะรงแล้วแหกคุกหลบหนี เนื่องจากกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ซึ่งทรงกำกับราชการนครบาล ทรงทราบข่าวว่านักโทษพม่าจะก่อเหตุแหกคุก แต่ไม่ทรงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงไม่ได้ทรงป้องกันคุกให้หนาแน่น

ร่องรอยของคุกเป็นอย่างไรนั้น ศรัญญูยกแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับ จ.ศ. 1249 (พ.ศ. 2430) ซึ่งเป็นแผนที่สมัยใหม่ ที่ให้รายละเอียดข้อมูลทางกายภาพของเมืองกรุงเทพฯ เก่าสุดเท่าที่มีในปัจจุบันมาให้พอเห็นภาพว่า คุกดังกล่าวมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม ล้อมรอบด้วยกำแพง แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ คุกส่วนนอกกับคุกส่วนใน
คุกส่วนนอก หรือเรียกว่า “หับเผย” เป็นเขตที่ล้อมคุก มีประตูเปิดปิดเป็นเวลา เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของพะทำมะรง ผู้คุม และนักโทษชั้นดี
ด้าน คุกส่วนใน เป็นสถานที่คุมขังนักโทษจริงๆ มีกำแพงล้อมรอบอีกชั้น มีประตูเข้าออกทางเดียว คือ ทิศตะวันตก ที่คุมขังนักโทษเป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐ มีประตูเข้าออก 2 บาน ไม่มีหน้าต่าง แต่ใช้เป็นช่องลมระบายอากาศ นักโทษจะต้องนอนปูเสื่อกับพื้นดินที่ทุบให้เรียบ
วิทยานิพนธ์ยังบอกด้วยว่า ภายใต้โลกทัศน์แบบจารีต คุกดังกล่าวเปรียบเสมือนกับการจำลองนรกตามคติความเชื่อแบบไตรภูมิให้เกิดเป็นรูปธรรม นับตั้งแต่การออกแบบคุกส่วนในให้อยู่บริเวณกึ่งกลางพื้นที่คุก คล้ายคลึงกับมหานรกรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมที่อยู่กลางนรกขุมใหญ่ ขณะที่นามผู้เป็นใหญ่ในนรกคือ “พระยม” หรือ “พญายมราช” ได้นำมาใช้เป็นราชทินนามของเสนาบดีกรมพระนครบาล ซึ่งมีอำนาจบังคับบัญชาคุกในพระนคร
หลักฐานที่ยืนยันว่าคุกเป็นการจำลองนรกอีกประการคือ เทวรูปประจำคุกนี้ มีนามว่า “เจ้าเจตตคุก” หรือ “เจตตคุปต์” ซึ่งเป็นชื่อเทพยดาต้นบัญชีนักโทษในนรกของพญายม นักโทษจะถูกเปลี่ยนสถานะจากมนุษย์ให้มีสภาพไม่ต่างจากการกินอยู่หลับนอนของสัตว์ การใช้คำนำหน้าชื่อว่าอ้ายและอีสำหรับนักโทษชายและหญิงตามลำดับ รวมถึงยังถูกจองจำร่างกายด้วยเครื่องพันธนาการเพื่อป้องกันการหลบหนี และสร้างความทุกข์ทรมานแก่นักโทษตามสิ่งที่กระทำไป ผู้ที่เคยพบเห็นนักโทษในคุกดังกล่าว จึงมีความทรงจำร่วมกันว่าเหล่านักโทษมีสภาพย่ำแย่อย่างยิ่ง
ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงกิจการราชทัณฑ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ก็มีการก่อสร้างคุกแบบใหม่ขึ้น โดยได้รับอิทธิพลจากคุกในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
อ่านเพิ่มเติม :
- ไฉน “แหม่มแอนนา” ปลื้ม “พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์” พระราชธิดาผู้สิ้นชีพในคุกหลวง
- ที่ปรึกษาฝรั่งเห็นสภาพเรือนจำสยามถึงกับ “สังเวช” ชี้ คอกหมูในยุโรปยังสภาพดีกว่า
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศรัญญู เทพสงเคราะห์. จากการคุมขังสู่การแก้ไขฟื้นฟู: การเปลี่ยนแปลงของการราชทัณฑ์ไทยสมัยใหม่ พ.ศ. 2433-2506. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2564.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มีนาคม 2568