ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เคยสงสัยไหมว่า ในยุคที่การสื่อสารยังไม่ก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ ใช้วิธีอะไรในการสื่อสารเรื่องสำคัญระหว่าง “กรุงเทพฯ” ซึ่งเป็นราชธานีสยาม กับบรรดาหัวเมืองต่างๆ คำตอบก็คือการส่ง “ท้องตราและใบบอก” ถึงกัน ทว่าแม้จะติดต่อสื่อสารกันได้ แต่บางครั้งอาจล่าช้าจนเกือบไม่ทันการณ์
ท้องตราและใบบอก วิธีสื่อสารระหว่างราชธานีสยามกับหัวเมือง
วิภัส เลิศรัตนรังษี และ จุฬาพร เอื้อรักสกุล เล่าเรื่องนี้ไว้ในบทความวิจัยเรื่อง “ระบบการสื่อสารระหว่างราชธานีกับหัวเมืองตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงรัชกาลที่ 5” ในวารสารไทยคดีศึกษา ปีที่ 21 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2567) ว่า
การสื่อสารระหว่างราชธานีสยามกับหัวเมืองต่างๆ ตั้งแต่ช่วงราวร้อยปีสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยามาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ใช้การส่ง ท้องตรา และ ใบบอก
“ท้องตรา” คือหนังสือคำสั่งที่ราชธานีมีไปถึงหัวเมือง ส่วน “ใบบอก” คือหนังสือรายงานที่หัวเมืองมีเข้าไปยังราชธานี
สองคำนี้มีความสำคัญ เพราะถ้าสลับกันใช้แล้วความหมายจะเปลี่ยนทันที ถึงขั้นที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงออกประกาศห้ามไม่ให้ใช้สลับกันเป็นอันขาด เพราะหากใช้ “ใบบอก” กับหนังสือราชการที่ออกจากกรุงเทพฯ จะกลายเป็นว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองขึ้นของหัวเมือง

การส่งท้องตราและการส่งใบบอกมี 2 รูปแบบ แบบแรกคือทั้งราชธานีและหัวเมือง “ส่งตรง” ถึงกัน ใช้ในกรณีที่เป็นหัวเมืองชั้นใน เพราะถูกควบคุมโดยตรงจากราชธานี โอกาสที่จะแข็งข้อมีน้อยมาก หรือแทบไม่มี
อีกแบบคือ “ส่งตามระยะทาง” ใช้ในกรณีหัวเมืองชั้นนอกและประเทศราช เพราะหัวเมืองเหล่านี้อยู่ห่างไกล มีอำนาจปกครองตัวเองในระดับหนึ่ง จึงต้องตรึงให้อยู่กับพื้นที่มากที่สุด
“การเคลื่อนย้ายท้องตราก็เกิดขึ้นในทำนองเดียวกัน หากเป็นคำสั่งเวียนทั้งอาณาจักรและไม่สำคัญเร่งด่วน กรุงเทพฯ จะส่งข้าหลวงเชิญคำสั่งไปแค่หัวเมืองชั้นในใกล้ๆ แล้วมอบหมายให้กรมการเมืองนั้นๆ นำคำสั่งไปส่งยังเมืองถัดไปแทน ดังมีตัวอย่างว่า กรมการเมืองสกลนครเชิญคำสั่งไปถึงเมืองนครพนม กรมการเมืองชัยนาทเชิญคำสั่งไปเมืองอุทัยธานี เป็นต้น กรมการเมืองกําแพงเพชรเชิญคําสั่งไปเมืองมโนรมย์ หรือบางครั้งก็จะมีคำสั่งให้เจ้าเมืองที่อยู่ในบริเวณชุมทางกระจายคำสั่งแทน เช่น เมืองพนมสารคามต้องกระจายคำสั่งไปเมืองเสียมราฐ เมืองสังฆะ และเมืองพระตะบอง เป็นต้น” วิภัสและจุฬาพรระบุในบทความ
ประเภทของข้อมูลในท้องตราและใบบอกมีอะไรบ้าง?
บรรดาข้อมูลที่ส่งถึงกันในท้องตราและใบบอก สามารถแบ่งได้ 3 ประเภท
อย่างแรกคือ ข้อมูลที่ไม่ต้องการเวลา ผู้ส่งสารไม่จำเป็นต้องรีบร้อนแจ้งให้ผู้รับสารทราบในทันที ใบบอกจากหัวเมืองส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องที่รัฐสนใจเท่านั้น เช่น ใบบอกน้ำฝนต้นข้าว ใบบอกส่งส่วยภาษีและบรรณาการ ใบบอกขอพัทธสีมา ใบบอกถวายพระราชกุศล หรือใบบอกขอตำแหน่งราชการในหัวเมือง ข้อมูลกลุ่มนี้จึงไม่ต่างกับคำสั่งของราชธานีจำพวกที่เวียนทั้งอาณาจักร อย่าง พระราชกำหนด ประกาศเตือนให้เก็บค่านา ส่งส่วย ประกาศสงกรานต์ ฯลฯ ซึ่งจากการค้นคว้าข้อมูล วิภัสและจุฬาพรพบว่า บางคำสั่งต้องใช้เวลาถึง 1 ปีกว่าจะแจ้งให้ทราบทั่วทั้งอาณาจักร
ประเภทที่ 2 คือ ข้อมูลที่ต้องการเวลา มักเกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญเร่งด่วน เช่น ข่าวสวรรคต ข่าวศึกสงคราม ข่าวกบฏ ข่าวระบาดหรือภัยพิบัติ หากเป็นเรื่องด่วนจากหัวเมืองมักมีเรือเร็วรีบมาส่งข่าวเป็นการเฉพาะ
ประเภทสุดท้าย คือ ข้อมูลเฉพาะกิจ เนื่องจากเนื้อหาไม่เกี่ยวกับความเป็นความตายของอาณาจักร และไม่ใช่ข้อราชการตามธรรมเนียม แต่มักเกี่ยวข้องกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายไปชั่วคราว ข้อมูลนี้จึงเป็นการติดต่อกันระหว่างกรุงเทพฯ กับ “ข้าหลวง” หรือ “เจ้าภาษี” ที่ส่งไปทำหน้าที่ในหัวเมือง และต้องส่งข้อมูลเมื่อภารกิจเสร็จสิ้น ผู้รับผิดชอบภารกิจต้องนำส่งด้วยตนเอง ไม่ต้องผ่านกลไกการสื่อสารของหัวเมืองตามปกติ

ทันใจหรือล่าช้า?
จากการศึกษาใบบอก วิภัสและจุฬาพรพบว่า ใบบอกส่วนใหญ่มักเป็นข้อมูลประเภทที่ไม่ต้องการเวลา ทำให้ไม่มีการส่งใบบอกทันทีที่ถูกปิดผนึก แต่จะรวบรวมใส่หีบห่อไว้รอนำส่งลงมาพร้อมกันคราวละมากๆ บางครั้งต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือหลายเดือน กว่าจะออกเดินทางจากเมืองต้นทาง
หากเป็นใบบอกจากหัวเมืองชั้นนอก ก็มีโอกาสสูงมากที่หีบห่อใบบอกจะถูกนำไปฝากส่งไว้ที่ศาลากลางเมืองถัดไป เพื่อส่งตามระยะทางลงมาจนถึงกรุงเทพฯ
ขณะเดียวกัน ราชธานีสยามก็ไม่เคยกำหนดชัดเจนว่าหัวเมืองต้องมีใบบอกเข้าไปเมื่อใด ทำให้หัวเมืองมีอำนาจตัดสินใจว่าจะส่งใบบอกหรือเคลื่อนย้ายหีบห่อใบบอกที่ได้รับฝากมาเมื่อใดก็ได้
ปัญหาระยะเวลาการส่งใบบอก สะท้อนผ่านพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ หลังจากพระองค์ทอดพระเนตรใบบอกจากกองทัพปราบฮ่อ ที่ทุ่งเชียงคำ เมื่อ พ.ศ. 2427 ที่กว่าจะมาถึงกรุงเทพฯ ก็ใช้เวลาถึง 4 เดือน ทั้งคำสั่งจากกรุงเทพฯ จะขึ้นไปถึงแนวหน้าเมื่อใดก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ ดังนี้
“…แต่ขอทูลเตือนท่านให้ทอดพระเนตรใบบอกครั้งนี้… 4 เดือนถ้วนๆ ถึงได้ลงมาถึงกรุงเทพฯ ฤาใบบอกนี้ทหารที่ป่วยไข้ถือลงมาจึ่งได้ช้าเหลือเกินดังนี้ จะประมาณเอาการอันใดว่าเปนแน่เปนนอนก็ไม่ได้สักอย่างเดียว ยังท้องตราที่ขึ้นไปจากกรุงเทพฯ นี้เปนขาขึ้น จะมิปาเข้าไปสักหกเดือนดอกกระมัง เปนความจริงมิได้แกล้งว่าเลย ถ้าใบบอกแลท้องตราของเรายังเดินช้าอยู่ดังนี้แล้ว คงจะได้ถูกเจบใหญ่สักครั้งหนึ่งเปนแน่แล้ว หม่อมฉันมีความท้อถอยใจนักแล้วว่าจะบังคับการแผ่นดินอะไรไปได้ตลอด แต่เพียงขอให้จัดการเดินหนังสือให้ดีขึ้นเท่านี้ก็ไม่ได้…”
การติดต่อสื่อสารระหว่างราชธานีกับหัวเมืองต่างๆ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความรวดเร็วหรือล่าช้าอีกหลายประการ อาทิ สภาพทางภูมิศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ สัตว์พาหนะ ประกอบกับเมื่อมีการปฏิรูปการปกครอง พัฒนาการขนส่งในภูมิภาค ธรรมเนียมการส่งใบบอกจึงถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 5
อ่านเพิ่มเติม :
- “รถไฟสายอีสาน” ที่เริ่มสมัยรัชกาลที่ 5 ทำไมใช้เวลาถึง 65 ปี?
- หลังตรวจราชการหัวเมือง ทำไมกรมพระยาดำรงฯ ทรงเสนอเลิกปกครอง “กินเมือง”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2568