“ชาติชาย เชี่ยวน้อย” แชมป์โลกในความทรงจำ

ที่มาภาพจาก ข่าวสดออนไลน์

ชาติชาย เชี่ยวน้อย หรือมีชื่อจริงว่า นริศ เชี่ยวน้อย ชาติชายชกมวยครั้งแรกเมื่ออายุได้ 14 ปี ที่ค่ายมวย “ลูกวังเดิม” หลังวัดใหม่พิเรนทร์ อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี การชกครั้งแรกของชาติชายชนะน็อกยก 2 ได้เงินรางวัล 50 บาท ใช้ชื่อว่า “ธนูน้อย ลูกวังเดิม”

จากนั้นจึงได้ย้ายค่ายมาอยู่กับ ม.ล.สุทัศน์ สุประดิษฐ์ เจ้าของค่าย “แหลมฟ้าผ่า” จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “ชาติชาย แหลมฟ้าผ่า” โดยชื่อชาติชายนั้น มาจากชื่อของ “ชาติชาย รัตนสิทธิ์” อดีตนักมวยไทยชื่อดัง และจากชื่อนี้เองที่ได้สร้างประสบการณ์และชื่อเสียงให้กับชาติชาย ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “ชาติชาย เชี่ยวน้อย” ตามนามสกุลตัวเอง

Advertisement

ในช่วงยุคแรกๆ ของการเทิร์นโปร เคยเดินทางไปต่อยถึงประเทศกัมพูชา ในยุคเขมรเสรีก่อนจะปิดประเทศกลายเป็นคอมมิวนิสต์และเขาได้ “ขมองใส” เกากิม หลิน แมตช์เมคเกอร์ชาวจีนสิงคโปร์ (ต่อมาโอนสัญชาติเปลี่ยนชื่อเป็น ทวิชย์ จาติกวนิชย์) พาตระเวนไปชกในต่างแดนทั้งใน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ฯลฯ หลายสิบไฟต์ บางครั้งต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นยาวนานถึง 6 เดือน ทำให้เขาเป็น นักมวยไทยที่พูดได้ทั้งภาษาอังกฤษ และญี่ปุ่นอย่างคล่องแคล่ว

ชาติชายได้ตระเวนชกไปทั่วทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 50 ไฟท์ รวมทั้งเอาชนะคะแนน ซันวาตอเร่ เบอรูนนี่ แชมป์โลกชาวอิตาลี ผู้ได้แชมป์จากโผน กิ่งเพชร ในการชกนอกรอบด้วยจากนั้นจึงได้ขึ้นชิงแชมป์โลกกับ วอลเตอร์ แม็คโกแวน นักมวยชาวอังกฤษ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2509 ที่อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก โดยชาติชายสามารถชนะทีเคโอไปได้ในยกที่ 9

ชาติชาย ถือเป็น “นักมวยอาชีพ” ตัวอย่างที่ตระเวนชกไปทั่วโลก ก่อนจะถูกคนไทยด้วยกันดึงตัวกลับมาสรรสร้างสู่บัลลังก์โลกอย่างจริงจัง และกลายเป็นแชมเปียนโลกชาวไทยคนที่สองต่อจากโผน กิ่งเพชร
ชาติชาย เป็นตัวอย่างในเรื่องของ”ความรัก” แม้จะเคยไปใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นนานแรมเดือน มีหญิงสาวชาวอาทิตย์อุทัยอย่าง “ทาคาโกะ” มาติดพัน แต่ยอดนักชกไทยจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็จำต้องตัดใจปฏิเสธความสัมพันธ์ เพราะยึดมั่นต่อคำสัญญาที่มีต่อ “คุณอู๊ด” สิรินทร สาวไทยคนรักที่รู้จักกันมาตั้งแต่วัยเรียน และครองคู่อยู่ร่วมกันมาตลอด 40 กว่าปี จวบจนสิ้นอายุขัย (จากคำบอกเล่าที่เคยให้การไว้ในสัมภาษณ์ของ สว่าง สวางควัฒน์ บก.สื่ออาวุโสในนิตยสาร ไฟเตอร์)

ที่มาภาพจาก ข่าวสดออนไลน์

ชาติชาย นับได้ว่าเป็นแชมป์โลกคนหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของแฟนมวยและบุคคลร่วมสมัยตลอดกาลไม่แพ้ โผน กิ่งเพชร แชมป์โลกคนแรก หรือแชมป์โลกคนอื่น ๆ เลย โดยชาติชายเป็นแชมป์ถึง 3 สมัย ครองแชมป์ทั้งสถาบันสภามวยโลก (WBC) และสมาคมมวยโลก (WBA) รวมถึงเดอะริง (The Ring) มีไฟท์ในความทรงจำหลายไฟท์ เช่น การป้องกันตำแหน่งกับ พันธุ์ทิพย์ แก้วสุริยะ เจ้าของฉายา “เสือหมัดซ้าย” นักมวยชาวไทยด้วยกันเอง ที่เรียกว่าเป็น ศึกสายเลือด” ครั้งแรกของวงการมวยไทย การผลัดแพ้-ชนะ แอฟเฟรน ทอร์เรส นักมวยชาวเม็กซิกัน ที่แฟนมวยชาวไทยตั้งฉายาให้ว่า “ไอ้แมงป่อง” หรือการชกกับ มาซาโอะ โอบะ นักมวยอันตรายชาวญี่ปุ่น รวมถึงการชกกับ เบิกฤกษ์ ชาติวันชัย นักมวยชาวไทยระดับแชมป์โลกอีกคน

ตลอดระยะเวลาการชกมวยนานถึง 16 ปี ชาติชาย ต้องชกอยู่ในพิกัดน้ำหนักตัว 112 ปอนด์ โดยตลอด จากคำยืนยันของ อ.สุดใจ สัพพะเลข เทรนเนอร์คนสุดท้ายที่เข้ามาช่วยเทรนในช่วงปลายของอาชีพชกมวย เล่าให้ฟังว่า “นริศ เป็นคนที่กตัญญูต่อครูเป็นที่สุด อย่างวันหนึ่งซ้อมมวยเสร็จเขาถอดกางเกงมวยที่ชุ่มโชกไปด้วยเหงื่อพาดไว้ข้างเวที ผมเองมาเก็บเพื่อจะเอาไปซักให้ เขามาเห็นเข้ายังตวาดขอโทษขอโพยเป็นการใหญ่ บอกว่า อย่า ครูอย่าทำอย่างนี้ ผมทำเองครับ ให้ผมซักเอง..!!”

ในเรื่องของการเก็บตัวทำน้ำหนัก ก่อนขึ้นชกถือเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสไม่น้อยไปกว่าการชกมวย หนำซ้ำบางครั้งอาจดูจะเลวร้ายเสียยิ่งกว่า เมื่อได้รับการยืนยันจาก ปรมาจารย์สุดใจอีกว่า “การป้องกันตำแหน่งแต่ละครั้ง ชาติชาย ต้องอดข้าวนานถึงสามเดือน ไม่เคยแตะต้องข้าวแม้แต่เม็ดเดียว เวลาจะกินก็จะใช้เนื้อสเต็กย่าง แล้วคั้นเลือดสดๆ กินเฉพาะแค่หยดเลือดเท่านั้น นี่คือเรื่องจริงที่ครูยืนยันได้จากปากตัวเอง เขาเป็น แชมป์โลกที่มีจิตใจธาตุทรหด อดทนเป็นที่สุด ชนิดที่ไม่มีใครเหมือนและทำได้เท่านี้อีกแล้ว”

“วันที่เขา บินไปชกที่ญี่ปุ่นและป้องกันตำแหน่งกับ ซูซูมุ ฮานากาตะ เขาทำน้ำหนักไม่ลด ทั้งที่เคยชนะคะแนน ฮานากาตะ มาแล้วด้วยซ้ำเพราะสภาพอากาศที่หนาวเย็นท่ามกลางหิมะตกหนัก ยุคสมัยนั้น มวยต้องชั่งน้ำหนักในตอนเช้าแล้วชกกันตอนเย็นช่วงค่ำ ปรากฏ ชาติชายต้องตกตาชั่ง ทำให้ตำแหน่งแชมป์โลกว่างลง แต่เมื่อขึ้นไปต่อสู้บนเวที เขาก็ยังพยายามต่อสู้อย่างถึงที่สุด ไม่ยอมทิ้งตัวง่ายๆ จนกระทั่งตัวเองหมดเรี่ยวแรง ไม่สามารถจะยืนหยัดสู้ได้อีกต่อไป ทั้งที่เขาเคยชนะคะแนน ฮานากาตะมาแล้วซ้ำ แต่เพราะสภาพร่างกายที่โรยราดังที่ว่า เขาเสียใจถึงกับกอดกรรมการรูดขาล้มพับลงร่ำไห้ เป็นที่น่าเวทนาแก่ผู้ชมชาวญี่ปุ่นในเวทีวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง มันแสดงให้เห็นถึง ความมีใจสู้เกินร้อย และไม่ยอมให้เสียชื่อเสียง ไม่ยอมให้เสียศักดิ์ศรีของประเทศชาติ อย่างแท้จริง…” อ.สุดใจ ผู้สร้างแชมป์โลกมาแล้วมากมาย รวมทั้ง สด จิตรลดา,เมืองชัย กิตติเกษม ,สามารถ พยัคฆ์อรุณ ฯลฯ เล่าถึงความหลังเมื่อครั้งได้ร่วมงานกับ แชมป์โลกคนที่สองของไทย

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง จากปากคำผู้ร่วมในเหตุการณ์ เมื่อสมัยที่ ชาติชาย ยังคงมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็น เรื่องส่วนตัว ความมีระเบียบวินัย ความยึดมั่นในความรัก และความกตัญญูต่อบุพการี รวมไปจนถึง ความทุ่มเทอุทิศตัวและหัวใจ แบกภาระชื่อเสียงของประเทศชาติยืนหยัดขึ้นต่อสู้ เพื่อศักดิ์ศรีของคนไทย จนโลกยอมรับ และยกย่องให้เขา เป็น ยอดนักชก ผู้ได้รับฉายาว่า “มาร์เซียโน่น้อย แห่งภาคตะวันออก(เอเชีย)” นับแต่นั้นมา ถือเป็นแม่แบบทั้งในด้านการยึดมั่นในวิชาชีพ ไม่เคยคิดคดทรยศ ล้มมวย หรือแม้แต่ จะ “ทิ้งตัว” ตลอดจนการใช้ชีวิตส่วนตัว การเก็บหอมรอมริดจนสามารถ สร้างครอบครัวเป็นปึกแผ่นได้ในบั้นปลายของชีวิตการชกมวย

นี่ยังไม่รวมชีวิตส่วนตัว ที่ได้เคยรับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดให้เข้าพบเป็นการส่วนพระองค์อีกหลายครั้ง

ชาติชาย เชี่ยวน้อย เป็นมวยในสไตล์ไฟเตอร์ เดินหน้าไม่มีหยุดมีสถิติการชกมากมาย จนนับได้ว่าเป็นแชมป์โลกที่มีสถิติการชกมากที่สุดของไทยจนได้รับฉายาจากแน็ต แฟลชเชอร์ บรรณาธิการนิตยสารเดอะริง ว่า “มาร์เซียโน่น้อยแห่งเอเชีย” (มาจาก ร็อคกี้ มาร์เซียโน่ แชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทผิวขาว ชาวอเมริกันร่วมสมัย)

ชาติชายเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2561 ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร ด้วยภาวะปอดติดเชื้อ สิริอายุได้ 76 ปี

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

รูปภาพและข้อมูลบางส่วนจากข่าวสดออนไลน์. “ชาติชาย เชี่ยวน้อย”… แม่แบบของนักมวย แชมป์โลกในความทรงจำแฟนพันธุ์แท้


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มกราคม 2561