ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เวลาดูซีรีส์พีเรียดจีนหรือแนววังหลัง เชื่อว่าทุกคนต้องได้ยินว่าจักรพรรดิเรียกแทนตนเองว่า “เจิ้น” แต่ที่จริงแล้ว คำเรียกแทนตัวจักรพรรดิจีนมีคำอื่นด้วย อย่าง “กู” และ “กว่า”

จักรพรรดิแห่งดินแดนมังกร ถือเป็นบุคคลที่มีความยิ่งใหญ่กว่าใครในใต้หล้า เห็นได้จากการที่ครั้งหนึ่งจักรพรรดิฮุยจงแห่งราชวงศ์ซ่งเคยสถาปนาตนเองขึ้นว่า “หนึ่งเดียวแห่งใต้หล้า”
ขนบธรรมเนียมประเพณีหลายอย่างของจีนก็สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดนั้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นในพระราชวังต้องห้าม ที่เมื่อจักรพรรดิองค์ก่อนสวรรคต ผู้ที่ขึ้นมาใหม่จะครอบครองเขตพระราชฐานชั้นในทั้งหมดแทน
รวมถึงจักรพรรดิถือเป็นเจ้านายของบุคคลทั้งหมดในนั้นและคนอื่นล้วนเป็นผู้รับใช้ทั้งสิ้น

คำว่า “เจิ้น” ที่จักรพรรดิใช้เรียกแทนตัวเองก็เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นใหญ่ที่ไม่มีใครเทียบ เพราะบุคคลที่จะใช้คำว่าเจิ้นแทนตัวได้มีเพียง “จักรพรรดิ” เท่านั้น และเมื่อบุคคลอื่นคุยกับพระองค์ ก็จะต้องใช้คำที่ต่ำกว่า เช่น พระมเหสีจะใช้คำว่า “เฉินเชี่ย” หมายถึง ภรรยาผู้ต้อยต่ำ แทนตนเอง หรือขุนนางก็จะแทนว่า “เวยเฉิน” คือขุนนางเล็ก ๆ
ทว่าความเป็นใหญ่เพียงหนึ่งเดียวก็สะท้อนให้เห็นถึงความเปล่าเปลี่ยวในพระราชวังอันยิ่งใหญ่ คำเรียกแทนตนของจักรพรรดิจึงมีอีก 2 คำ ได้แก่ “กู” ซึ่งแปลถึงความโดดเดี่ยว, คนเดียว และอีกคำหนึ่งคือ “กว่า” เน้นย้ำถึงตนที่ยังมีคุณธรรมไม่เพียงพอ
การใช้เรียกคำแทนตนเองจักรพรรดิจีนที่มีหลายคำ จึงสะท้อนถึงความเป็นไปของจักรพรรดิ ขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งความยิ่งใหญ่ที่ยังคงแฝงอยู่
อ่านเพิ่มเติม :
- พิธีกินเจของจักรพรรดิจีน ในพระราชวังต้องห้าม
- ขุนนางโดนจักรพรรดิจีนสั่งโบย รอดหรือตาย ไม่ได้ขึ้นกับกระดูกแข็งอย่างเดียว
- กางเมนูพระกระยาหารจักรพรรดิจีน 1 มื้อ บางมื้ออุปกรณ์เสวยทะลุ 200 ชิ้น มีอาหารอะไรบ้าง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
จ้าวกว่างเชา. แปลโดย อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และชาญ ธนประกอบ. ร้อยเรื่องราว วังต้องห้าม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2560.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2568