“เพลงชาติกัมพูชา” กับการรำลึกอดีตอันยิ่งใหญ่ ทั้ง 4 เวอร์ชันล้วนมีปราสาทหิน-เมืองพระนคร

ปราสาทนครวัด เมืองพระนคร ส่วนหนึ่งใน เพลงชาติกัมพูชา
ภาพวาดนครวัดจากหนังสือ Voyage d'exploration en Indo-Chine เมื่อ ค.ศ. 1866

“เพลงชาติกัมพูชา” กับการรำลึกอดีตอันยิ่งใหญ่ของชนชาติเขมร ด้วยการกล่าวถึงปราสาทนครวัดและเมืองพระนคร

เพลงชาติกัมพูชาในปัจจุบันคือเพลง “นครราช” (นโกร์เรียช) ซึ่งมีมาตั้งแต่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส แต่กัมพูชายังมีเพลงชาติอีก 3 เพลงที่เคยใช้ในอดีต ได้แก่ เพลงชาติสมัยสาธารณรัฐ, เพลงชาติสมัยรัฐบาลเขมรแดง และเพลงชาติสมัยการปกครองของเวียดนาม ตามลำดับ ก่อนจะกลับมาใช้เพลงนครราชอีกครั้ง

ข้อสังเกตคือ แม้เพลงชาติแต่ละเวอร์ชันจะเกิดจากลัทธิการเมืองที่แตกต่าง แต่เพลงเหล่านี้ล้วนเล่าถึงสิ่งหนึ่งร่วมกัน นั่นคือ อดีตอันยิ่งใหญ่สมัยพระนคร

ธงชาติ กัมพูชา
ธงชาติ “กัมพูชา” พื้นสีแดงคือชาติ สีน้ำเงินคือพระมหากษัตริย์ และ “นครวัด” สัญลักษณ์ความรุ่งเรืองในอดีตของเมืองพระนคร ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวกัมพูชา สอดคล้องกับเนื้อเพลง “นครราช”

“นครราช” หรือ นครแห่งราชา เพลงชาติเพลงแรกที่กัมพูชาใช้หลังได้รับเอกราชเมื่อ พ.ศ. 2496 และใช้สืบเนื่องมาถึง พ.ศ. 2513 เริ่มต้นจากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนโรดมสุรามฤต (พระราชบิดาสมเด็จพระนโรดมสีหนุ) ประพันธ์เนื้อและทำนองโดยสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน-ณาต) พระสังฆนายก

เนื้อเพลงนครราชแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ บทสรรเสริญพระบารมีพระมหากษัตริย์เขมร บทสรรเสริญการสร้างปราสาทโบราณ และบทสรรเสริญคุณค่าของการนับถือพระพุทธศาสนาของชาวเขมร

ในส่วนหนึ่งการสรรเสริญปราสาทโบราณ คือ ปฺราสาทสิลา (ปราสาทศิลา) กํบำงกณฺฎาลไพฺร (กำบังอยู่ท่ามกลางไพร) ควรโอยสฺรมัย (ควรให้แว่วเสียง) นึกฎล่ยสสกฺฎิ์มหานคร (นึกถึงยศศักดิ์มหานคร)

เพลงชาติสมัยสาธารณรัฐเขมร ภายใต้กลุ่มการเมืองที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุน เพลงชาติยุคนี้มีทำนองเดียวกับเพลงของกลุ่มประเทศสังคมนิยม แต่งโดยกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจิตรศิลปะของกัมพูชา (เทียบได้กับมหาวิทยาลัยศิลปากรของไทย)

แม้เพลงชาติเวอร์ชันดังกล่าวจะไม่มีการกล่าวถึงกษัตริย์เขมร แต่ปราสาทหินแห่งเมืองพระนครยังเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของชาติอยู่ ดังว่า ชนชาติแขฺมร (ชนชาติเขมร) ลฺบีพูแกมวยกฺนุงโลก (ลือชื่อเก่งที่หนึ่งในโลก) มานชัยโชค (มีชัยโชค) กสางปฺราสาทสิลา (ก่อสร้างปราสาทศิลา) อารฺยธรฺมขฺพส่ (อารยธรรมสูง) บวรชาติสาสนา (บวรชาติศาสนา) เกรฺติ์ฎูนตา (มรดกยายตา) ทุกเลีกภพแผนฎี (ไว้ยกภพแผ่นดิน)

เพลงข้างต้นใช้ถึง พ.ศ. 2518 ก็ถูกยกเลิกไป เมื่อกองกำลังเขมรแดงยึดกรุงพนมเปญ

เขมรแดง
สาวเขมรแดงสะพายปืนขี่มอเตอร์ไซค์กลางกรุงพนมเปญเมื่อเดือนเมษายน 1975 ไม่นานหลังกองกำลังเขมรแดงบุกยึดเมืองหลวงของกัมพูชาได้สำเร็จเมื่อวันที่ 17 เมษายน 1975 (AFP PHOTO / VNA / STF)

“17 เมษา มหาโชคชัย” เพลงชาติสมัยเขมรแดง มีเนื้อหาเพลงสนับสนุนการปลดปล่อยและสละเลือดเนื้อเพื่อมาตุภูมิ ซึ่งต่อต้านแนวคิดจักรวรรดินิยมอย่างสุดโต่ง มีตอนหนึ่งกล่าวถึง “สมัยพระนคร” ว่า ฎบ่ปฺรำพีรเมสา (สิบเจ็ดเมษา) โชคชัยมหาอสฺจารฺย (โชคชัยมหาอัศจรรย์) มานนัยธํเธง (มีความหมายยิ่งใหญ่) เลีสสมัยองฺคร (ยิ่งกว่าสมัยพระนคร)

จะเห็นว่าแม้เขมรแดงชี้นำประเทศด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ยุคพระนคร (จักรวรรดินิยมแบบจารีต) ยังถูกนำมาใช้ในทางการเมือง เพื่อเปรียบว่าพวกเขาจะสร้างสังคมใหม่ให้ “ยิ่งใหญ่” กว่าสมัยเมืองพระนคร

แต่สุดท้ายความสุดโต่งดังกล่าวได้นำพาประเทศไปสู่หายนะ

เพลงชาติสมัยสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา เป็นเพลงชาติช่วงที่กองทัพเวียดนามเข้ามาขับไล่เขมรแดงออกจากกัมพูชา หลังโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในแผ่นดินเขมร เมื่อ พ.ศ. 2522 สู่ยุคที่การเมืองกัมพูชาแบ่งเป็นหลายฝ่าย

แม้เพลงชาติสมัยนี้จะไม่กล่าวถึงยุคพระนครตรง ๆ แต่ยังกล่าวถึง “ปราสาท” ที่ปรากฏอยู่บนธงชาติ ดังนี้ วีรกมฺพุชาบุตร (วีรกัมพูชาบุตร) เมาะมุตกฺนุงสงฺคฺราม (มุ่งมั่นในสงคราม) เปฺฏชฺญาสงฌามนึงขฺมำงสตฺรู (ปฏิญาณตอบแทนกับศัตรู) ทง่ชัยปฺราสาทพรฺณฌาม (ธงชัยปราสาทสีเลือด)

แน่นอนว่าปราสาทดังกล่าวคือ “นครวัด” ตัวแทนความอดีตอันรุ่งโรจน์สมัยพระนครนั่นเอง

นครวัด
ภาพถ่ายนครวัด เมื่อ ค.ศ. 1866 โดย Emile Gsell

เมื่อกัมพูชากลับมาเป็น ราชอาณาจักรกัมพูชา จึงเปลี่ยนกลับมาใช้เพลงนครราชอีกครั้ง ซึ่งในบรรดาเพลงชาติที่เขมรเคยใช้ นี่คือเพลงที่รำลึกถึงอดีตอันยิ่งใหญ่ของราชอาณาจักรเขมรโบราณและเมืองพระนคร (พระนครศรียโศธรปุระ) อย่างเด่นชัดที่สุด เพราะเพลงจงใจนำเสนอความรุ่มรวยปราสาทหินในดินแดนเขมร และกล่าวถึงกษัตริย์เขมรโบราณในฐานะผู้สร้างความยิ่งใหญ่ของเมืองพระนคร

ว่าง่าย ๆ คือการถวิลหาการสร้างรัฐที่ยิ่งใหญ่ให้ได้อย่างที่กษัตริย์เมืองพระนครเคยทำมาแล้ว

อีกนัยหนึ่ง แม้ “นครราช” เพลงชาติกัมพูชาจะสร้างความรู้สึก “ภาคภูมิใจ” ต่อความยิ่งใหญ่ครั้งอดีตและมรดกที่บรรพบุรุษสร้างไว้ แต่ก็ก่อความรู้สึก “น้อยเนื้อต่ำใจ” ในชะตากรรมของชาวเขมรในปัจจุบันด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้สรุปและเก็บความจาก “เพลงชาติกัมพูชา ความแตกต่างทางการเมืองในจุดร่วมแห่งอดีตที่รุ่งเรืองของ ‘พระนคร’ ” เขียนโดย ศานติ ภักดีคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2547 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพพันธ์ 2568