รู้จัก “สมเด็จพระสุพรรณกัลยา” พระพี่นางในสมเด็จพระนเรศวรฯ องค์ประกันกรุงหงสาฯ

จอมใจอโยธยา สมเด็จพระสุพรรณกัลยา
(ซ้าย) ละครเรื่อง จอมใจอโยธยา ออกอากาศทางช่อง 3HD (ภาพจาก ch3plus.com) (ขวา) ภาพวาดพระสุพรรณกัลยา

รู้จัก “สมเด็จพระสุพรรณกัลยา” พระพี่นางในสมเด็จพระนเรศวรฯ องค์ประกันกรุงหงสาฯ

สมเด็จพระสุพรรณกัลยา “พระพี่นาง” ในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นอีกหนึ่งขัตติยนารีสยาม ที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ ทั้งปรากฏเรื่องราวในหลักฐานต่างชาติและคำบอกเล่าต่าง ๆ จำนวนไม่น้อย

พระประวัติอันโดดเด่นของพระนางคือ ทรงมิได้เป็นราชนารีนักรบหรือมีพระวีรกรรมในสงคราม แต่ทรงถูกส่งไปต่างบ้านต่างเมืองเพื่อเป็นองค์ประกันอย่างเป็นทางการ

พระสุพรรณกัลยา หรืออีกพระนามคือ สุวรรณเทวี ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาลำดับที่ 17 และพระวิสุทธิกษัตรีย์ (พระราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) ประสูติ ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก เมื่อราว พ.ศ. 2095

พระนางยังเป็นพระเชษฐภคินีในพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยารัชกาลถัดมาถึง 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ

ภาพวาด พระสุพรรณกัลยา
ภาพวาดพระสุพรรณกัลยา ที่วัดดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งจินตนาการพระพักตร์จากพระพุทธรูปสมัยอยุธยา เพราะไม่มีหลักฐานที่กล่าวถึงรูปโฉมของพระองค์อย่างชัดเจน (วาดโดย นายยศกมล สุวิชา)

เรื่องราวของพระสุพรรณกัลยา เริ่มมีปรากฏใน โยธยา ยาสะเวง ว่า “พระสุธรรมราชา (พระมหาธรรมราชา-ผู้เขียน) ทรงมีพระมเหสีพระนามว่าพระบรมเทวี ผู้ให้กำเนิดพระราชธิดานาม สุวรรณกัลยา หนึ่ง อนุชาตองเจ หนึ่ง ตองเจนี้ภายหลังได้รับพระราชทานนามว่าพระนริศ (สมเด็จพระนเรศวรฯ) แลมีพระอนุชาทรงพระนามว่าเอกาทศรถอีกหนึ่ง”

เนื่องจากพระนางทรงมีพระชาติกำเนิดเป็นขัตติยนารี พระเจ้าสิบทิศ “บุเรงนอง” แห่งราชวงศ์ตองอู จึงทรงขอพระนางไปเป็น “โกโละดอ” หรือมเหสีเล็ก ในราชสำนักกรุงหงสาวดี เมื่อ พ.ศ. 2112 ขณะที่พระนางมีพระชันษา 17 ปี และมีพระราชธิดาประสูติแต่พระเจ้ากรุงหงสาฯ นาม “เมงอทเว”

ตำแหน่งข้างต้นแม้มิใช่พระมเหสีระดับสูง แต่นับเป็นตำแหน่งสำคัญในความสัมพันธ์ระดับอาณาจักรของยุคนั้น อีกนัยหนึ่งคือเป็น “ตัวประกัน” เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์พระร่วง (สุโขทัย) ของพระมหาธรรมราชา กับราชวงศ์ตองอูแห่งพม่า

ในช่วงเวลาที่พระสุพรรณกัลยาทรงเป็นองค์ประกันในราชสำนักหงสาวดีนั้นเอง อยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาสามารถฟื้นฟูบ้านเมือง และกระชับอำนาจราชสำนักอยุธยาที่ทรุดโทรมมาตั้งแต่ปลายราชวงศ์สุพรรณภูมิ จนแข็งแกร่งพอจะท้าทายอำนาจราชสำนักหงสาวดีผู้เคยให้การอุปถัมภ์อย่างเปิดเผย

เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2124 และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชอนุชาของพระนาง ก็ทรงดำเนินนโยบายแข็งขืนต่ออำนาจของกรุงหงสาวดีในรัชกาลพระเจ้านันทบุเรงอย่างชัดเจน จนเกิดศึกติดพันระหว่างอยุธยากับหงสาวดีหลายครั้ง

พระชะตากรรมของขัตติยนารีพระองค์เป็นอย่างไรต่อ?

บุเรงนอง
ภาพจากหนังสือ บุเรงนอง (กะยอดินนรธา) : กษัตริย์พม่าในโลกทัศน์ไทย

ที่ถูกกล่าวถึงมากเป็นพิเศษ คือเหตุการณ์หลังสงครามเสียพระมหาอุปราชา (มังกยอชวา) อุปราชวังหน้า พระราชโอรสพระเจ้านันทบุเรง เมื่อ พ.ศ. 2135 หรือ “สงครามยุทธหัตถี” ในโยธยา ยาสะเวง ระบุว่าพระเจ้านันทบุเรงทรงพิโรธอย่างมาก “ใช้พระแสงดาบฟันพระธิดาน้อย อันเกิดแต่จันทกัลยาพระพี่นางพระนริศ กับพระเจ้าหงสาวดีเองจนสิ้นพระชนม์”

ด้าน คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่า “ส่วนพระเจ้าหงสาก็ทรงพระโกรธยิ่งนัก ก็เสด็จเข้าไปในพระราชฐาน จึงเห็นองค์พระพี่นางพระนเรศร์นั้นประทมอยู่ใน พระราชโอรส (พระธิดา?-ผู้เขียน) เสวยนมอยู่ที่ในที่ พระเจ้าหงสาจึงฟันด้วยพระแสง ก็ถูกทั้งพระมารดา และพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ ก็ถึงแก่ความพิราลัยไปด้วยกันทั้งสององค์ ด้วยพระเจ้าหงสาทรงพระโกรธยิ่งนักมิทันที่จะผันผ่อนได้”

“สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราชา” จิตรกรรมฝาผนัง จัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี
“สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราชา” จิตรกรรมฝาผนัง จัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์พม่าส่วนหนึ่งเชื่อว่า แท้จริงแล้วพระสุพรรณกัลยามิได้ถูกพระเจ้านันทบุเรงสังหาร เพราะหลักฐานวาระสุดท้ายเป็นเพียงคำให้การจาก “เชลยศึก” ขาดความหนักแน่นเรื่องความน่าเชื่อถือ และคนที่สิ้นชีพเพราะพระพิโรธของพระเจ้านันทบุเรงอาจมีเพียง “เจ้านางเมงอทเว” พระราชธิดาของพระสุพรรณกัลยากับพระเจ้าบุเรงนอง หรือพระราชโอรสองค์น้อยของพระนางกับพระเจ้านันทบุเรงเอง

ข้อเท็จจริงเรื่องการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสุพรรณกัลยาจึงยังคงเป็นปริศนาต่อไป…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ดร. สุเนตร ชุติธรานนท์. (2550). การเมืองในประวัติศาสตร์ราชสำนัก หงสาวดีศรีอยุธยา พระสุพรรณกัลยา จากตำนานสู่หน้าประวัติศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน.

ศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์. ค้นหลักฐานชะตากรรมพระสุพรรณกัลยา “ขัตติยนารี” แห่งอยุธยา และเหตุสิ้นพระชนม์. 16 พฤศจิกายน 2560. จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_12984


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2568