กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ถูกกล่าวว่าหายักยอกเงินหลวง?

กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง “รองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ” เนื่องจากมีการกล่าวหาว่าทรงพัวพันกับการยักยอกเงินหลวง หรือทรงคอร์รัปชันเงินในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พ.ศ. 2404-2474) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้ายู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเขียน ทรงรับราชการครั้งแรกในหอรัษฎากรพิพัฒน์ (ภายหลังคือ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ) โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ทรงเป็นผู้ชักนำและกราบบังคมทูลต่อรัชกาลที่ 5

หอรัษฎากรพิพัฒน์ หน่วยงานที่กำกับดูแลจัดเก็บเงินภาษี และตรวจสอบบัญชี (ภาพจาก www.qsmtthailand.org)

กรมพระนราธิปฯ ทรงรับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอยู่เพียง 6 ปี (พ.ศ. 2429-2434) ซึ่งตำแหน่งแรกที่ทรงปฏิบัติราชการคือ พนักงานการเงินแผ่นดิน ต่อมาทรงเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยตำแหน่งสูงสุดของพระองค์คือ รองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ทรงรับผิดชอบพระราชทรัพย์กว่า 120,000 ชั่ง (9.6 ล้านบาท)

ถูกกล่าวหา 

ต่อมา กรมพระนราธิปฯ ถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินหลวง พระองค์จึงทรงทำหนังสือทูลลาออกจากราชการ ความตอนหนึ่งว่า

“มีเสียงลือกันว่า ในคราวตรวจงบประมาณครั้งนี้ เวรข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นอย่างเจ้าพระยาภาษคราวก่อน…บัดนี้เป็นความผิดที่รู้สึกนึกใหม่คือบาญชีฝรั่งของกรมสรรพากรส่วนหนึ่งในการโรงยายุ่งเหยิงยอดแตก ซึ่งมีบาญชีมีใบสำคัญคู่สอบต่างๆ ยันมาก อาจชำระเอาแท้จริงและทำให้เรียบร้อยได้โดยง่ายที่จริงเป็นเพราะเหลวไหลของกรมสรรพากรที่ข้าพระพุทธเจ้าพึ่งทราบ…ข้าพระพุทธเจ้าสุรุ่ยสุร่าจ่ายพระราชทรัพย์ฟูมฟาย ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้จ่ายนอกงบประมาณ…

…ท่านเสนาบดีบางคน ถือว่าใครสับข้าพระพุทธเจ้าเหมือนทำบุญจนพระยาสุรศักดิมนตรีได้กล่าวขอให้ที่ประชุมคิด ที่จะถอดถอนข้าพระพุทธเจ้า…ขอพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลลาออกจากราชการ…” (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)

ตั้งกรรมการสอบ

รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้ง กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ให้เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ ซึ่งทรงเป็นผู้แนะนำให้กรมพระนราธิปฯ เข้ารับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ

อย่างไรก็ตาม กรมพระยาเทววงศ์วโรปการทรงมีแนวโน้มเชื่อว่า กรมพระนราธิปฯ ทรงยักยอกเงินหลวง ดังคำกราบบังคมทูลของพระองค์ต่อรัชกาลที่ 5 ตอนหนึ่งว่า

“…ในหนังสือของเธอ [กรมพระนราธิปฯ] นี้กับที่จะสอบได้ง่ายๆ คือเรื่องฝิ่นน่า 20 บรรทัด 8 ขึ้นไป แต่ข้างล่างว่าเงินปีนี้ขาดจะไม่เกินกว่าเจดร้อยชั่งเท่านั้น ในวันที่ 14 มีชัดในรายงานเพราะเป็นการถามเอาคำมั่นกับเธอว่าสามร้อยชั่งเท่านั้น ผิดเท่านี้ก็ไม่พอเป็นไรแก้ไข หลงลืมว่าจำไม่ได้

แต่น่า 24 บรรทัด 3 แต่ข้างล่างขึ้นไปนั้นเธอว่าด้วย เงินภาษีฝิ่นที่พระภักดีประมูลทูลเกล้าฯ ถวายนี้ผิดกับที่เธอประมาณคงได้ถึง 279 ชั่ง ประสงค์ตามเค้าที่หมายพระภักดีประมูลฤา ว่าต่ำไปกว่าที่เธอเหนจะได้…

ประมาณอากรฝิ่นที่จนได้ในศก 112 ของเธอท้ายเรื่องนั้นรวมทั้งสิ้น 35,779 ชั่ง หักภูเก็จออก 4,000 ชั่ง ยังคงเงิน 31,779 ชั่งนี้พระภักดีประมูล 32,000 ชั่ง คงยังเกินกว่ากรมนราประมาณว่าจะได้อยู่ 221 ชั่ง…เปนการตรงกันข้ามที่กรมนรากราบบังคมทูล…ถ้ากรมนรารู้สึกว่าทำบาญชีเท่านี้เงินยังต่ำอยู่กว่าพระภักดีแล้ว เธอคงจะเติมประมาณกำไรโรงยาขึ้นลงไปอีกได้ตามชอบใจเธอเป็นแน่…

มีอีกรายการหนึ่งซึ่งไม่ลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย ข้าพระพุทธเจ้าได้ชี้ให้คอมมิตตีเหนหลายคนเปนพยานว่า เงินรายเดียวถึง 5,500 ชั่ง ให้ขุนเยาวราชยืมไป…ข้าพระพุทธเจ้าจะชี้ตรงไหนทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อการกราบบังคมทูลพระกรุณาเปนที่สุดอย่างนี้  ยังเงื่อนงำอำพรางอยู่แล้วเปนเหลือล้นพ้นวิสัยที่จะไม่เรียกว่าโกง…”  (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)

ดังนั้นเมื่อรัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชานุญาตให้กรมพระนราธิปฯ ลาออกจากราชการ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการกลับทรงเห็นว่า “ไม่ควรเปนทูลลาออก ควรเปนอย่างเบาที่สุดก็โปรดเกล้าฯ ให้ออก”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ. “การลงทุนทางเศรษฐกิจของเจ้านายไทย : สภาพทางเศรษฐกิจที่เปิดโอกาสให้มีการลงทุน” ใน, ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์ของใคร, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. พ.ศ. 2558.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2568.