ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
กลุ่มอำนาจ สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นใคร? กุมอำนาจในพื้นที่ใด?
นอกจากทางการที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการปกครองบ้านเมืองแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมี “กลุ่มอำนาจ” หรือ “บ้านใหญ่” ที่มีบทบาทในบ้านเมืองควบคู่กันไป เช่น สมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีการขยายอำนาจทางตะวันออกในสงครามอานามสยามยุทธ์ก็มีบ้านใหญ่ขยายอิทธิพลไปในพื้นที่บริเวณนั้น
กลุ่มอำนาจ
สมัยรัชกาลที่ 3 มีขุนนางและเจ้านาย 4 กลุ่มใหญ่ ที่มีอำนาจอยู่ในหัวเมืองอันเป็นรอยต่อระหว่างสยามกับกัมพูชาและเวียดนาม คือ
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายกแม่ทัพใหญ่ในสงครามดังกล่าว ยกไปทางบกได้ไปคุมหัวเมืองปราจีนบุรี ต่อมาเคลื่อนไปกบินทร์บุรี

เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม (ดิศ บุนนาค) ที่ควบ 2 ตำแหน่งราชการสำคัญ คือ ออกญาพระคลังกับกลาโหม ไปตั้งมั่นอยู่ที่จันทบุรี สร้างเมืองจันทบุรีใหม่ขึ้นที่เขาเนินวง
กรมหลวงรักษรณเรศ (หม่อมไกรสร) เดิมที่มีกำลังไพร่พลชาวมอญแถบพระประแดง เมื่อไปตั้งมั่นอยู่ที่ฉะเชิงเทรา ย้ายเมืองฉะเชิงเทราจากย่านบางคล้ามาสร้างป้อมปราการอยู่ที่บ้านเสาทอน (โสธร)
กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ มีสายสัมพันธ์กับลาวพนัสนิคม ซึ่งเป็นหัวเมืองใหม่มีกำลังคนมากในเวลานั้น
กลุ่มที่แต้มต่อกว่ากลุ่มอื่นๆ ก็คือ กรมหลวงรักษรณเรศ
ด้วยเมืองฉะเชิงเทราเป็นเมืองใหญ่ มีการผลิต “น้ำตาลทราย” สินค้าสำคัญของยุคสมัยที่ทำกำไรในเวทีการค้านานาชาติได้มาก และคุมปากน้ำบางปะกงคั่นกลางอยู่ระหว่างกรุงเทพฯ กับพื้นที่ปราจีนบุรีของกลุ่มเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
ขณะเดียวกันก็เป็นที่ “หมายหัว” ของราชสำนัก
ไม่พลิกโผ
แม้ในรัชกาลที่ 2-3 นิยมดำเนินกุศโลบายทางการเมืองให้มีเจ้านายคานอำนาจกับขุนนาง แต่การที่กรมหลวงรักษรณเรศแสดงตัวเป็นกลุ่มที่จะสถาปนารัชกาลใหม่ จึงเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อราชบัลลังก์ ต่อรัชกาลต่อไป กรมหลวงรักษรณเรศจึงต้องถูกกำจัด

ส่วนเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เมื่อถอนกำลังทัพออกจากกัมพูชา ก็ต้องยกเลิกฐานที่มั่นในปราจีนบุรี กบินทร์บุรี พระตะบองไปด้วย ต่อมาไม่นานเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ก็ถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันด้วยอหิวาตกโรค (พ.ศ. 2392) และไม่มีทายาทสืบทอดอำนาจ สมุหนายกคนใหม่ คือพระยาราชสุภาวดี (โต กัลยาณมิตร) ก็ไม่ได้มีอำนาจบารมีเทียบกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้
สุดท้าย ขุนนางตระกูลบุนนาคซึ่งสัมพันธ์กับการขยายตัวของเจ้าภาษีนายอากรในหัวเมืองตะวันออก โดยเฉพาะฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี นครนายก จึงกลายเป็นกลุ่มที่ทรงอำนาจและอิทธิพลอย่างมากในราชสำนักกรุงเทพฯ และราชอาณาจักรสยามเวลานั้น
ปลายรัชกาลที่ 3 ดุลอำนาจระหว่างเจ้านายกับขุนนางก็แปรเปลี่ยนไปดังที่กล่าวมาข้างต้น กลุ่มขุนนางมีอิทธิพลและบทบาทหลักสำคัญในการกำหนดว่าเจ้านายพระองค์ใดจะได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อไป
กีดกันเจ้านายบางพระองค์
กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาศิลา กลุ่มอำนาจหนึ่งในพระนคร สมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์เป็นขุนนางที่ดูแล 2 กรมสำคัญ คือกรมพระนครบาล และกรมพระคชบาล แต่รัชกาลที่ 3 มิได้ทรงแต่งตั้งให้เป็น “วังหน้า” เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทิวงคต
เมื่อตระกูลบุนนาคเลือกสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎ หรือวชิรญาณภิกขุ เพราะเห็นว่าไม่เป็นพิษภัยและควบคุมง่าย ด้วยมีแต่คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ไม่มีกำลังทหารหนุนหลัง

ขณะที่กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ทรงปริวิตกว่าภัยกำลังคืบคลานเข้ามา ดังมีตัวอย่างจากกรณีกรมหลวงรักษรณเรศ จึงได้สั่งเรียกระดมขุนนางและข้าราชบริพารในสังกัดมารวมตัวกันที่วังท้ายหับเผยของพระองค์ ซึ่งมีคนมามากจนกระทั่งล้นออกไปอยู่วัดพระเชตุพนฯ
เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ซึ่งเกรงว่ากรมขุนพิพิธภูเบนทร์จะทรงใช้กำลังชิงราชสมบัติ จึงหารือกับพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรชาย หลังจากนั้นไม่กี่วัน เรือกำปั่นรบบรรทุกกำลังไพร่พลพร้อมเครื่องอาวุธปืนครบมือ เข้าจอดเทียบท่าแล้วกระจายไปปิดล้อมและยื่นคำขาดสลายการชุมนุม กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ทรงจำต้องยอมปฏิบัติตาม เพราะกำลังฝ่ายพระองค์น้อยกว่าและด้อยกว่า
การที่พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สามารถกระทำการดังกล่าวกับเจ้านายชั้นสูงอย่างกรมขุนพิพิธภูเบนทร์ สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจบารมีของตระกูลบุนนาค ขณะเดียวกันก็ข่มขวัญเจ้าฟ้ามงกุฎให้ตระหนักถึงการคานอำนาจของขุนนาง เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในราชบัลลังก์ของพระองค์
อ่านเพิ่มเติม :
- ความเป็นกรุงเทพฯ ที่แท้จริง เริ่มสมัย “รัชกาลที่ 3”
- “ความแผ่นดินตาก” สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) คิดก่อกบฏ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กำพล จำปาพันธ์. “การเมืองเบื้องหลังการสถาปนาพระปิ่นเกล้าฯ” ใน, ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2564.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2568.