“วัดราชโอรส” วัดงามรัชกาลที่ 3 อลังการจนนักการทูตอังกฤษทึ่ง!

วัดราชโอรส วัดงามรัชกาลที่ 3
วัดราชโอรส (ภาพ : ธัชชัย ยอดพิชัย)

วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร หรือ วัดราชโอรส วัดงามรัชกาลที่ 3 เป็นวัดเก่าแก่อายุหลายร้อยปี มีความงดงามอย่างยิ่ง ถึงขั้นที่ จอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) ทูตอังกฤษที่เข้ามาสยามในสมัยรัชกาลที่ 2 เอ่ยชมว่า “ไม่มีวัดไหนจะทำด้วยฝีมือประณีตงดงามเท่าวัดนี้”

วัดราชโอรส วัดงามรัชกาลที่ 3

วัดราชโอรส เป็นวัดโบราณริมคลองด่าน มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานที่ปรากฏมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น วัดจอมทอง วัดเจ้าทอง วัดกองทอง แต่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “วัดจอมทอง” สื่อความหมายว่า มียอดเป็นสีทอง (ด้วยทองคำเปลว) หรือเป็นทองก็ได้ เช่น หุ้มด้วยทองคำ ทองแดง หรือทองสัมฤทธิ์

วัดจอมทองในพระราชพงศาวดารระบุว่า “เป็นวัดข้าหลวงเดิมได้ทรงกระทำมาแต่ยังเป็นกรมอยู่” หมายความว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงปฏิสังขรณ์วัดเก่านี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2360 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) เมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 ยังทรงดำรงพระยศเป็น “กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วโปรดให้มีงานฉลองเมื่อ พ.ศ. 2374 ซึ่งเป็นเวลาที่ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว

วัดราชโอรส วัดงามรัชกาลที่ 3
รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีนในวัดราชโอรส (ภาพ : มติชนอคาเดมี)

ส่วนนามพระอาราม “วัดราชโอรส” อันหมายถึง วัดของลูกชายพระเจ้าแผ่นดิน สืบเนื่องจากพระองค์ทรงปฏิสังขรณ์วัดจอมทอง รัชกาลที่ 2 จึงทรงให้นามวัดอย่างเป็นทางการว่า วัดราชโอรส เพราะพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2

การบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ “เสมียนมี” แต่งทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 3 ความตอนหนึ่งกล่าวถึงการสร้างวัดราชโอรสไว้ว่า

“วัดไหนไหนก็ไม่ลือระบือยศ   เหมือนวัดราชโอรสอันสดใส
เป็นวัดเดิมเริ่มสร้างไม่อย่างใคร   ล้วนอย่างใหม่ทรงคิดประดิษฐ์ทำ
ทรงสร้างด้วยมหาวิริยาธึก   โอฬารึกพร้อมพริ้งทุกสิ่งขำ
ล้วนเกลี้ยงเกลาเพราเพริศดูเลิศล้ำ   ฟังข่าวคำลือสุดอยุธยา
จะรำพันสรรเสริญก็เกินสมุด   ขอยกหยุดพองามตามเลขา
กำหนดสร้างพระอาวาสโดยมาตรา   ประมาณช้านับได้สิบสี่ปี”

ใน กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติฯ นี้ มีสาระสำคัญกล่าวถึงวัดราชโอรสว่าเป็น “วัดเดิมเริ่มสร้างไม่อย่างใคร” ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด “สิบสี่ปี” ที่ว่า “เป็นวัดเดิมเริ่มสร้างไม่อย่างใคร” นั้น เพราะการทรงสร้างวัดราชโอรสชั้นเดิมมิได้เกี่ยวข้องแก่ราชการ พระองค์ทรงมีพระราชดำริเปลี่ยนแปลงแบบอย่างสร้างตามพอพระราชหฤทัย มักเอากระบวนแบบอย่างจีนมาใช้มาก แต่สร้างโดยฝีมืออันประณีตงดงาม

วัดราชโอรส วัดงามรัชกาลที่ 3
พระอุโบสถ วัดราชโอรส (ภาพ : มติชนออนไลน์)

ความประณีตงดงามของวัดราชโอรส วัดงามรัชกาลที่ 3 จอห์น ครอว์เฟิร์ด นักการทูตชาวอังกฤษ ที่เดินทางเข้ามายังสยามสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เห็นการก่อสร้างวัดราชโอรส แล้วมีบันทึกลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2365 ว่า

“ตามบรรดาวัดที่เราได้เห็นมาแล้วในกรุงเทพฯ ไม่มีวัดไหนจะทำด้วยฝีมือประณีตงดงามเท่าวัดนี้ ขณะที่เราไปนั้นวัดกำลังก่อสร้างอยู่ เราได้มีโอกาสเห็นลำดับแห่งการก่อสร้าง เช่น องค์พระประธาน ก็เห็นหล่อขึ้นแล้ว แต่บางส่วนวางเรียงรายอยู่ในโรงงานแห่งหนึ่ง รอไว้ประกอบเมื่อภายหลัง ได้ทราบว่าโลหะที่ใช้ในการนี้ คือ ดีบุก สังกะสี ทองแดง เจือด้วยธาตุอื่นๆ อีกบ้างโดยไม่มีส่วนที่แน่นอนเพราะจักเป็นการยากอยู่บ้างที่จะกำหนดส่วน”

พระประธานในพระอุโบสถ วัดราชโอรส ตามที่จอห์น ครอว์เฟิร์ด เขียนถึง เป็นพระพุทธรูปหล่อปางสมาธิ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นสำหรับเป็นพระประธานในพระอุโบสถ

ลักษณะสำคัญของพระพุทธรูปประธานองค์นี้ ศ. ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ศิลปะ กล่าวว่า เป็นรูปแบบเฉพาะของพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 อย่างแท้จริง คือ พระวรกายเพรียวบาง พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งรูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง เส้นขอบเปลือกพระเนตรและพระขนงป้ายเป็นแผ่นเช่นเดียวกับพระพุทธรูปอยุธยาตอนปลาย พระเนตรเปิดและมองตรง

ส่วนพระนาสิกค่อนข้างเล็กและโด่ง พระโอษฐ์เล็ก เส้นพระโอษฐ์เกือบเป็นเส้นตรงตวัดปลายพระโอษฐ์เพียงเล็กน้อย คล้ายเรือประทุน แตกต่างจากพระโอษฐ์พระพุทธรูปอยุธยาหรือสุโขทัยที่นิยมโค้งเป็นคลื่น ลักษณะพระโอษฐ์และการแย้มสรวลเพียงเล็กน้อยนี้เองที่กล่าวกันว่ามีพระพักตร์อย่างหุ่น คือสีพระพักตร์แสดงอาการนิ่งคล้ายกับหุ่นละคร อันเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลที่ 3

“พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร” พระนามของพระพุทธรูปประธานองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงถวายพระนาม หลังจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 3 มาประดิษฐานไว้ที่ผ้าทิพย์ฐานพระประธาน ทรงกางกั้นพระประธานด้วยพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร

วัดราชโอรส จึงเป็นวัดที่นอกจากจะงดงามด้วยสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแล้ว ยังเปี่ยมไปด้วยความหมายอย่างยิ่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2568