“ท่าเรือโปเส็ง” ตำนานท่าเรือสำเภา 4 แผ่นดิน ย่านตลาดน้อย

ภาพถ่ายกรุงเทพ ท่าเรือโปเส็ง
บรรยากาศแม่น้ำเจ้าพระยาสมัยก่อน (ภาพถ่ายกรุงเทพฯ ค.ศ. 1911 จากหนังสือ Siam and China (Simpkin, Marshall, Hamilton, Kent and Co., Ltd, 1914)

ปัจจุบัน “ตลาดน้อย” ในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นอีกหนึ่งย่านที่ได้รับความนิยมในฐานะแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเก่าแก่ มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นชุมชนจีนที่เกิดจากการขยายตัวของสำเพ็ง แม้ไม่โด่งดังเท่าสำเพ็ง แต่ตลาดน้อยก็เป็นแหล่งการค้าที่โดดเด่น โดยเฉพาะการค้าทางเรือสำเภา มี “ท่าเรือโปเส็ง” ตำนานท่าเรือสำเภา 4 แผ่นดิน ดำเนินการโดย พระอภัยวานิช (จาค) เป็นหลักฐานความรุ่งเรืองทางการค้าในยุคนั้น

แม่น้ำเจ้าพระยา วัดอรุณ ท่าเรือโปเส็ง
บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา (ภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“ท่าเรือโปเส็ง” ตำนานท่าเรือสำเภา 4 แผ่นดิน

การค้าสำเภาที่เฟื่องฟูในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้พ่อค้าเอกชนชาวจีนส่วนหนึ่งมั่งคั่งขึ้น และได้ผันตัวเองเข้าไปอยู่ในระบบศักดินา ด้วยการเป็น “ขุนนาง” ในกรมท่า

เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับขุนนางชาวจีนในระดับกลางทั่วไป รวมทั้ง พระอภัยวานิช (จาค) ชาวจีนฮกเกี้ยนแห่งตระกูล “โปษยะจินดา” ตระกูลเก่าแก่ในย่านตลาดน้อย

ท่าเรือของพระอภัยวานิช (จาค) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่อย่างน้อยน่าจะรุ่งเรืองมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2)

เจ้าสัวจาคได้รับพระราชทานที่ดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตลาดน้อย และได้สร้างอาคารสถาปัตยกรรมแบบจีนขึ้นหมู่หนึ่ง โดยอาคารที่ใช้เป็นที่พักได้ชื่อว่าบ้าน “โซวเฮงไถ่” ซึ่งอาคารทรงจีนบางส่วนยังคงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

โซวเฮงไถ่ ท่าเรือโปเส็ง
ภายในบริเวณบ้านโซวเฮงไถ่ (ภาพ : Facebook โซว เฮง ไถ่ So Heng Tai)

ส่วนฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นท่าเรือใหญ่อีกแห่ง คือ “ฮวยจุ่งโล้ง” ท่าเรือกลไฟของ พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) ต้นตระกูล “พิศาลบุตร” ซึ่งต่อมาได้ขายให้แก่นายตันลิบบ๊วย แห่งตระกูล “หวั่งหลี”

การค้าสำเภาที่ท่าโปเส็ง ส่วนมากเป็นสินค้าประเภทยาสมุนไพรที่นำมาจากภาคใต้ โดยดำเนินกิจการเรื่อยมาจนถึงรุ่นลูกคือ หลวงอภัยวานิช (สอน)

แต่แล้วความเจริญรุ่งเรืองของท่าเรือแห่งนี้ก็ต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เมื่อสนธิสัญญาเบาว์ริ่งที่ทำขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) นำเอาเรือกำปั่นและเรือกลไฟเข้ามาแทนที่เรือสำเภาที่นิยมใช้แต่เดิม

ท่าเรือโปเส็งจึงปิดตำนานท่าเรือ 4 แผ่นดิน หลังจากเจ้าสัวสอนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2437 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

เหลือเพียงเรื่องราวให้เล่าขานถึงความรุ่งเรืองของการค้าสำเภาในย่านตลาดน้อยเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นิภาพร รัชตพัฒนากุล. “‘เจ๊ก’ ในบางกอก…”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2546.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2568