ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ขณะที่เรื่องราวของย่าโม หรือ “ท้าวสุรนารี” ถูกยกย่องและกล่าวขานถึงไม่เสื่อมคลาย ตัวตนสามีย่าโม หรือ “พระยาปลัด” เมืองนครราชสีมากลับเลือนลาง จนบางคนไม่รู้ว่าด้วยซ้ำว่าท่านเป็นใคร หรือมีบทบาทอย่างไรในสงครามเจ้าอนุวงศ์
พระยาปลัดเมืองนครราชสีมา ผู้เป็นสามีของท่านผู้หญิงโมนั้น ภายหลังคือ เจ้าพระยามหิศราธิบดี (ทองคำ) ที่ปรึกษาราชการเมืองนครราชสีมา ดังปรากฏความในหนังสือ เรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ ความว่า
“เจ้าพระยามหิศราธิบดีเป็นตำแหน่งพิเศษในเมืองนครราชสิมาปรากฏในใบบอกครั้งเกณฑ์ทัพไปตีเมืองเชียงตุงในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔
กล่าวกันที่เมืองนครราชสิมาว่า พระยาปลัดสามีท่านผู้หญิงโม้ (คุณหญิงโม-ผู้เขียน) ซึ่งมีความชอบทั้งสามีและภริยา ในการต่อตู้พวกกบฏเวียงจันทน์ เมื่อในรัชกาลที่ ๓ สามีได้เป็นเจ้าพระยามหิศราธิบดี ภรรยาได้เป็นที่ท้าว
เจ้าพระยามหิศราธิบดีที่ปรากฏในใบบอกจะเป็นคนเดียวกันหรืออีกคน ๑ ไม่ทราบแน่”
ถึงอย่างนั้นก็เชื่อได้ว่าเจ้าพระยามหิศราธิบดีคนนี้แหละ เป็น “สามี” ของย่าโม

แม้จะมีพื้นเพไม่ชัดเจนนัก แต่ ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ราชบัณฑิตและนักเขียนสารคดีประวัติศาสตร์ ได้ให้ทัศนะถึงเครือญาติของท่านไว้ในหนังสือ ๒๗ เจ้าพระยา ว่า “คงจะเกี่ยวข้องเป็นญาติกับเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) และเจ้าพระยากำแหงสงคราม เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน ณ ราชสีมา) ด้วย”
เมื่อ พ.ศ. 2369 ในสงครามเจ้าอนุวงศ์ พระยาปลัดเมืองนครราชสีมาขณะนั้นมีนามเต็มคือ พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิชัย (ทองคำ) โดย พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เล่าถึงบทบาทของท่านว่า
เมื่อกองทัพเจ้าอนุวงศ์มาถึงนครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมาไม่อยู่เมือง เพราะต้องไประงับเหตุวิวาทระหว่างพระยาไกรสรสงคราม เจ้าเมืองขุขันธ์ กับหลวงยกกระบัตรผู้น้อง โดยพระยาปลัดและกรมการเมืองต่าง ๆ ของเมืองนครราชสีมาล้วนติดตามไปด้วย เจ้าอนุฯ จึงเข้าเมืองได้โดยง่าย แล้วให้ไพร่พลกวาดต้อนเอาครอบครัวเมืองโคราชกลับไปฝั่งลาว
พอข่าวไปถึงฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมา พระราชพงศาวดารเล่าว่า “ฝ่ายพระยาปลัดไปด้วยเจ้าพระยานครราชสีมา แจ้งว่าอนุลงมากวาดครอบครัวก็ปรึกษาเจ้าพระยานครราชสีมาว่าจะทิ้งครอบครัวเสียไม่ไประวังรักษาเห็นจะไม่ได้ อ้ายลาวจะทำยับเยินเสียหมด เจ้าพระยานครราชสีมาก็เห็นด้วยจึ่งให้พระยาปลัดรีบมา
พระยาปลัดมาถึงเมืองนครราชสีมาก็เข้าหาอนุแจ้งว่า เจ้าพระยานครราชสีมาหนีไปเมืองเขมรเสียแล้ว พระยาปลัดทิ้งครอบครัวไม่ได้จะขอตามเสด็จไปอยู่เวียงจันทน์ด้วย อนุก็เชื่อ ก็ให้พระยาปลัด พระยาพรหมยกกระบัตรคุมครอบครัวไป”
เมื่อฝ่ายลาวต้องแบ่งกำลังส่วนหนึ่งคุมครัวเมืองนครราชสีมาออกเดินทาง จึงถูกแผนลวงของฝ่ายไทย นำโดยพระยาปลัด พระยาพรหมยกกระบัตร คุณหญิงโม และกรมการเมืองนครราชสีมา พาผู้คนลุกฮือฆ่าทหารลาวตายไปจำนวนมาก ได้ยุทโธปกรณ์ฝ่ายลาวมามากมาย แล้วตั้งค่ายที่ทุ่งสัมฤทธิ์

เหตุชุลมุนที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าอนุวงศ์ส่งทัพมากำราบ แต่พระยาปลัด พระยาพรหมยกกระบัตร พากำลังที่มีออกรบ ได้คุณหญิงโมคุมผู้หญิงเป็นทัพหนุน จนฝ่ายลาวถอยหนีไป ด้วยเห็นฝ่ายไทยออกรบห้าวหาญจนเข้าใจว่าเป็นกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมายกมาช่วย ทำให้เจ้าอนุวงศ์วิตกไปด้วยว่าฝ่ายไทยคงจะโต้กลับในไม่ช้า จึงถอยกลับโดยแยกเป็นหลายทัพหลายเส้นทาง
ในสงครามกับเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ยังปรากฏ “ใบบอก” ของพระยาปลัดเมืองนครราชสีมา ส่งมายังกรุงเทพฯ เพื่อรายงานสถานการณ์การรบช่วงนั้น บ่งบอกว่าท่านเป็น “แนวหน้า” ในการต่อรบกับลาว ก่อนทัพหลวงจากพระนครจะยกมาปราบกบฏครั้งนั้น
จากประวัติของท่านผู้หญิงโมในหนังสือ พิมาย และโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา ทำให้ทราบว่าท้าวสุรนารีกับเจ้าคุณสามี (พระยาปลัด) มีนิวาสถานอยู่ที่หมู่บ้านตรงข้ามกับวัดพระยานารายณ์มหาราช และได้บำเพ็ญกุศลสร้างวัดที่ริมฝั่งขวาของลำตะคอง ชื่อ วัดศาลาลอย
ภายหลังท้าวสุรนารีถึงอนิจกรรมด้วยอายุ 81 ปี ในเดือน 5 พ.ศ. 2359 (ปีชวด) เจ้าคุณผู้สามีได้จัดการฌาปนกิจศพที่วัดศาลาลอย และก่อเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ที่นั่น ก่อนจะย้ายมาวัดพระนารายณ์มหาราช และสร้างอนุสาวรีย์ประดิษฐานใหม่ หน้าประตูชุมพล
ส่วนพระยาปลัด หรือเจ้าพระยามหิศราธิบดี ไม่ปรากฏหลักฐานว่าท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อใด
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มา “นามสกุล” ชาว “โคราช” หลักฐานสำคัญบ่งชี้ภูมิประเทศถิ่นกำเนิด
- “อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” อนุสาวรีย์ “สามัญชน” ผู้ยิ่งใหญ่ แห่งแรกของไทย
- การสู้รบที่ “ทุ่งสำริด” คราวสงครามเจ้าอนุวงศ์ หลักฐาน “ลาว” เล่าอย่างไร
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. (2510). ๒๗ เจ้าพระยา (ฉบับพิศดาร). กรุงเทพฯ : แพร่การช่าง.
กรมศิลปากร. (2512). เรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู, วัดเทพศิรินทราวาส 16 ธันวาคม 2512.
มานิต วัลลิโภดม. (2505). พิมาย และ โบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทองหล่อ บุณยนิตย์, วัดเทพศิรินทราวาส 29 ธันวาคม 2505.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2568