“สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์” พระราชมารดาในกษัตริย์ 2 พระองค์ เมื่อครั้งทรงถูกถากถางว่าไม่ใช่เจ้า

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงอุ้มพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ภาพจากหนังสือเรื่อง “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์” รัชกาลที่ 8 รัชกาลที่ 9 สมเด็จย่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงอุ้มพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ภาพจากหนังสือเรื่อง “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์”

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” ทรงเป็นพระราชมารดาในพระมหากษัตริย์ไทยถึง 2 พระองค์ อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนไปเกือบ 100 ปีก่อน ด้วยชาติกำเนิดของพระองค์ที่เป็นสามัญชน ทำให้เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงขึ้นครองราชย์ สมเด็จย่าที่ขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์” ทรงถูกผู้ไม่หวังดีนำเรื่องนี้มาถากถางว่าไม่ใช่เจ้า

ทว่า สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งทรงเป็นพระสัสสุ (แม่สามี) ทรงมีพระเมตตาและพระราชทานกำลังใจ ทำให้สมเด็จย่าทรงผ่านพ้นช่วงเวลานั้นไปได้

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระสัสสุ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ทรงถูกถากถาง

วีระยุทธ ปีสาลี เล่าเรื่องนี้ในบทความ “สะใภ้เจ้า : จากสตรีสามัญสู่สายสัมพันธ์แห่งราชตระกูล” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม พ.ศ. 2561 ว่า

เมื่อพระองค์เจ้าอานันทมหิดลทรงขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2478 สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ทรงไม่พ้นจากการถูกนินทาว่ากล่าวหรือวิพากษ์วิจารณ์ถึงชาติกำเนิดเดิมที่เป็นสามัญชน

ประเด็นนี้ทำให้พระองค์ถึงกับจะทรงให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสละราชสมบัติหลายครั้ง ดังความในลายพระหัตถ์ที่ทรงมีถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าหลายฉบับ

วีระยุทธอ้างอิงเนื้อหาในลายพระหัตถ์สมเด็จย่า จากหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์ : พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อทรงพระเยาว์ พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๘๙” พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่า

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 มีใจความว่า

“ถ้ามีคนรังเกียจหม่อมฉันที่ไม่ใช่เจ้าก็ควรรังเกียจนันทและลูกหม่อมฉันทุกองค์ ถึงพ่อจะเป็นเจ้าใหญ่นายโตก็ตาม ลูกจะรับแต่เลือดพ่อเท่านั้นไม่ได้ ต้องมีแม่อยู่ครึ่งหนึ่ง ถ้ารังเกียจกันและเห็นว่าหม่อมฉันไม่ควรเป็นแม่กษัตริย์ก็เอาออกเสียแล้วกัน ก็หากษัตริย์ใหม่ที่มีแม่เป็นเจ้าจะได้สมเกียรติยศ”

ขณะที่ลายพระหัตถ์ลงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2478 มีใจความว่า

“เรื่องคนรังเกียจหม่อมฉันว่าไม่ใช่เจ้านั้น หม่อมฉันไม่รู้สึกทุกข์ร้อนมากเสียแล้ว ถ้ามีคนรังเกียจกันจริงๆ ก็ขอให้รัฐบาลเอาอานันทออกจากกษัตริย์เสียแล้วกัน เพราะถ้าจะรังเกียจอย่างไรหม่อมฉันก็เป็นแม่นันท เปลี่ยนไม่ได้ หม่อมฉันอยากให้ใครๆ เข้าใจเสียจริงๆ ว่าหม่อมฉันไม่อยากได้ยศศักดิ์ขึ้นชื่อว่าเป็นพระราชชนนีหรืออะไรเลย หม่อมฉันไม่เคยอยากได้ยศศักดิ์แต่ไหนแต่ไรแล้ว ที่หม่อมฉันต้องการก็คือมีโอกาสอบรมลูกให้เป็นคนดี จะได้ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองได้”

ฉลองพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระบรมราชชนก สมเด็จย่า สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ภาพ: Wikimedia Commons)

พระเมตตาสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

แม้สมเด็จย่าจะทรงถูกผู้ไม่หวังดีถากถาง ทว่า สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชมารดาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มิทรงใส่พระทัย ทั้งยังทรงให้กำลังใจพระสุณิสา (ลูกสะใภ้) เสมอมา ดังที่วีระยุทธอ้างอิงหนังสือ “สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ” ของ สมภพ จันทรประภา ตอนหนึ่งว่า (เน้นคำและจัดย่อหน้าใหม่โดย กอง บก. ศิลปวัฒนธรรม)

“เมื่อหม่อมสังวาลย์อยู่ในที่พระราชชนนีแล้ว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเวลาตรัสกับผู้อื่นถึงสมเด็จพระสุณิสาทรงออกพระนามว่า ‘ชนนี’ ไม่ออกว่าอย่างอื่นเลย

แต่เวลาที่ตรัสด้วยปกติ ทรงออกพระนามด้วยพระเมตตาอย่างที่เคยมาตั้งแต่แรก และยังทรงห่วงใยพระสุณิสาของพระองค์ในเรื่องมนุษยสัมพันธ์มาก เพราะเท่าที่ทรงรู้จักมา ก็ทรงเก็บพระองค์ แต่โปรดทรงงานแม่บ้าน พระสหายที่ทรงคบหาสมาคมด้วยก็อยู่ในวงจำกัด

ตำแหน่งพระชนนีพันปีหลวงเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงพระเยาว์และบ้านเมืองอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ”

ด้วยพระเมตตาในพระสัสสุ และพระจริยวัตรอันงดงามของพระองค์เอง สมเด็จย่าจึงทรงเป็นที่รักของชาวไทยทุกคน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 ธันวาคม 2567