ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ที่คนไทยยกย่องและเทิดทูนอย่างสูง จากพระวีรกรรมที่ทรงกอบกู้เอกราชของสยามจากพม่า สถาปนากรุงธนบุรี ซึ่งนายทหารคู่พระทัยพระเจ้าตากที่ติดตามพระองค์มาจากเมืองตากก็มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนพระราชกรณียกิจข้างต้นด้วยเช่นกัน
พ.ศ. 2301 ในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ พระเจ้าตากหรือขณะนั้นคือ “นายสิน” มหาดเล็ก ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนจากหลวงยกกระบัตรเป็น “พระยาตาก” เมืองตากจึงเป็นฐานกำลังสำคัญแห่งแรกของพระองค์ในการสั่งสมกำลังพลและบารมี รวบรวมนายทหารผู้ติดตาม อันจะมีส่วนช่วยในสงครามฟื้นฟูราชอาณาจักรสยามในกาลข้างหน้า
นายทหารคู่พระทัยพระเจ้าตาก จาก “เมืองตาก”
ในสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 พระยาตากได้เข้าประจำการในกองทัพอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ. 2307 โดยอยู่ในสังกัดกองทัพ “พระยาพิพัฒโกษา” ซึ่งเป็นทัพที่ปะทะกับกองทัพอังวะภายใต้การนำของแม่ทัพพม่า “มังมหานรธา”
การได้ต่อรบกับพม่าทำให้พระยาตากเล็งเห็นว่า กรุงศรีอยุธยาคงถึงกาลล่มสลายแล้ว เมื่อสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤตจึงนำทัพไพร่พลในสังกัดฝ่าวงล้อมพม่าออกจากพระนคร แล้วซ่องสุมกำลังพลในหัวเมืองตะวันออก ก่อนจะกลับมากอบกู้กรุงศรีอยุธยา สถาปนาราชธานีใหม่ที่กรุงธนบุรี
ในบรรดาไพร่พลที่เป็นกำลังให้พระเจ้าตาก ส่วนหนึ่งคือผู้ที่ติดตามพระองค์มาจากเมืองตาก มีนายทหารระดับขุนศึกที่รู้จักกันดีจากหลักฐานต่าง ๆ จำนวน 3 นาย ได้แก่ พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา และพระยาพิชัย
พระเชียงเงิน
พระเชียงเงินเป็นเจ้าเมืองเชียงเงินซึ่งอยู่ติดกับเมืองตาก ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองตาก มีชื่อในกองทัพพระยาตากตอนเดินทางออกจากวัดพิชัยเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2310 ให้การสนับสนุนพระยาตากอย่างเต็มที่ในช่วงรวบรวมกองทัพกลับมาทำสงครามกับพม่าและกลุ่มต่าง ๆ โดยมีบทบาทโดดเด่นในสงครามกับเมืองระยอง ถูกบันทึกในพงศาวดารในชื่อ “พระเชียงเงินท้ายน้ำ”
บทบาทของพระเชียงเงินยังเป็นผู้คุมการลำเลียงเสบียง เครื่องครัว และสมัครไพร่พล จึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระเจ้าตากฯ หลังการสถาปนากรุงธนบุรี โดยโปรดฯ ให้รั้งเมืองสุโขทัยในตำแหน่ง “พระยาสุโขทัย”
พระเชียงเงินหรือพระยาสุโขทัย เป็นข้าราชการที่พระเจ้าตากมักโปรดให้เข้าเฝ้าเพื่อสั่งสอนวิชาในการรบ ดังปรากฏในสำเนาท้องตราปีมะเมีย พ.ศ. 2317 ความว่า
“…ทรง ฯ สั่งว่า เจ้าพระยาสุรศรี เจ้าพระยาสวรรคโลก พระยาพิชัย พระยาสุโขทัย ลงมาเฝ้าทูลละออง ฯ แจ้งราชการครั้งก่อนนั้น ทรง ฯ ได้ตรัสเนื้อความด้วยจำเพาะพระที่นั่งว่า เดือน ๑๐ หาราชการไม่ ให้พร้อมกันลงมาเฝ้าทูลละออง ฯ จะพระราชทานความรู้วิชาการให้ต้านต่ออริข้าศึก…”
เมื่อท่านเสียชีวิต พระเจ้าตากยังโปรดพระราชทานเพลิงศพและให้จัดทำพระเมรุเช่นเดียวกับพระเจ้านราสุริยวงศ์ พระราชนัดดา
หลวงพรหมเสนา
ศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ว่า หลวงพรหมเสนาเป็นบรรดาศักดิ์ของกรมการเมืองเหนือ เป็นตำแหน่งชั้นประทวนที่เจ้าเมืองตั้งจากบรรดาบ่าวไพร่คนสนิท ท่านจึงน่าจะเป็นผู้ที่รับราชการกับพระยาตากตั้งแต่ยังอยู่ที่เมืองตาก และติดตามเจ้านายมายังกรุงศรีอยุธยาราว พ.ศ. 2307
หลวงพรหมเสนาปรากฏชื่อในพงศาวดารว่าเป็นขุนศึกร่วมรบกับพระยาตากตั้งแต่นำทัพ 1,000 นาย ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา เชี่ยวชาญการยิงธนู วิชาอาคม และเป็นหมอสักยันต์ให้เหล่าทหาร ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญหลายอย่างตลอดสงครามกอบกู้เอกราช
พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งกองทัพพระยาตากต่อสู้กับข้าศึกเมืองระยอง และล่าวถึงหลวงพรหมเสนาไว้ ดังนี้
“ครั้นเพลาค่ำประมาณทุ่มเศษอ้ายเหล่าร้ายยกทหารลอบเข้ามาตั้งค่ายล้อมได้ ๒ ด้านแล้วโห่ร้องยิงปืนใหญ่น้อยระดมบุกเข้ามาจึงตรัสให้ดับแสงเพลิงเสียจัดทหารประจำที่สงบไว้แล้วเสด็จด้วยทหารไทยจีนถือปืนคาบศิลา พระเชียงเงินท้ายน้ำ หลวงชำนาญไพรสณฑ์ หลวงพรหมเสนา…แล้วให้ทหารปืนเข้าตะลุมบอนฟันแทงข้าศึกหักเอาค่ายได้ อ้ายเหล่าร้ายล้มตายแตกยับเยิน”
หลังจบศึกนั้นหลวงพรหมเสนายังเป็นผู้จับกุมเมืองระยองเอาไว้ด้วย แต่ชื่อของท่านไม่ปรากฏอีกเลยตั้งแต่สงครามตีเมืองจันทบูรเป็นต้นมา จึงอาจเสียชีวิตไปแล้ว หรือได้เลื่อนตำแหน่งและรับบรรดาศักดิ์อื่น เรื่องราวของท่านจึงหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี (บางแหล่งระบุว่าต่อมาท่านได้เป็น เจ้าพระยานครสวรรค์)
พระยาพิชัย
พระยาพิชัย (ดาบหัก) หรือนายทองดีฟันขาว ได้เข้าเรียนหนังสือและฝึกฝนวิชาการต่อสู้โดยเฉพาะมวยไทยที่วัดมหาธาตุ ในงานฉลองพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาพระยาตากที่เมืองตาก นายทองดีชกมวยชัยชนะครูมวยดังแห่งเมืองตาก 2 คน ท่านจึงได้เข้ารับราชการโดยรับยศเป็นหลวงพิชัยอาสา (ทองดี)
หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากฯ ทรงสถาปนากรุงธนบุรีและปราบเมืองเหนือสำเร็จ หลวงพิชัยอาสาได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาสีหราชเดโช ตามด้วยพระยาพิชัย ปกครองเมืองพิชัย ส่วนสมญานาม “พระยาพิชัยดาบหัก” เกิดขึ้นเมื่อกองทัพพม่ายกมาตีเมืองพิชัยและท่านต่อสู้กับข้าศึกอย่างดุเดือดจนดาบหัก แต่ยังใช้ดาบหักนั้นรบจนชนะศึกได้ จึงเป็นที่ยกย่องนับถืออย่างสูงจากผู้คนที่ได้รับรู้วีรกรรมนี้
ประวัติของท่านตามที่พระยาศรีสัชนาลัยบดีเรียบเรียง เมื่อมีการเปลี่ยนแผ่นดินใน พ.ศ. 2325 พระยาพิชัยได้ขอตายตามพระเจ้าตาก จึงถูกสำเร็จโทษ ดังความว่า
“ครั้นสิ้นแผ่นดินพระเจ้าตาก พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ณ กรุงเทพมหานคร โปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีเรียกตัวพระยาพิชัยดาบหักลงไปถามว่า จะยอมอยู่ทำราชการต่อไปหรือถ้ายอมอยู่จะเลี้ยงเพราะหาความผิดมิได้
พระยาพิชัยดาบหักไม่ตรองเห็นว่า ขืนอยู่ไปคงได้รับภัยมิวันใดก็วันหนึ่ง เพราะตัวท่านเป็นข้าหลวงเดิมอันสนิทของพระเจ้าตาก ย่อมเป็นที่ระแวงแก่ท่านผู้จะเป็นประมุขแผ่นดินต่อไป ทั้งประกอบด้วยความเศร้าโศกอาลัยในพระเจ้าตากเข้ากลัดกลุ้มในหทัยสิ้นความอาลัยในชีวิตของตน จึงตอบไม่ยอมอยู่จะขอตายตามเสด็จพระเจ้าตาก…”
แต่ทายาทของท่านก็ได้รับราชการสืบต่อมาในกรุงรัตนโกสินทร์และได้รับพระราชทานนามสกุล “วิชัยขัทคะ” โดยรัชกาลที่ 6
อ่านเพิ่มเติม :
- พระยาพิชัยดาบหัก “แกล้งล้ม” ทำให้ชนะชกมวยหน้าพระยาตาก
- พระเจ้าตาก กับบทบาทของนายหมุด (จักรีแขก) “ทหาร” มุสลิมคู่พระทัย
- “โพธิญาณ” สงครามกับการแสดงบุญบารมีของพระเจ้าตาก ณ ศึกนางแก้ว
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปเรตร์ อรรถวิภัชน์. วัดเสี่ยงทายพระบารมี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และทหารคู่พระทัยจากเมืองตาก. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2567.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ธันวาคม 2567