3 พระอรรคชายาในรัชกาลที่ 5 จากราชสกุลลดาวัลย์

3 พระอรรคชายาในรัชกาลที่ 5

หม่อมเจ้าบัว หม่อมเจ้าปิ๋ว และหม่อมเจ้าสาย 3 พระอรรคชายาในรัชกาลที่ 5 จากราชสกุลลดาวัลย์ 

พระมเหสีเทวีที่ดำรงพระอิสริยยศ “พระอรรคชายา” ในรัชกาลที่ 5 มีทั้งหมด 3 พระองค์ ได้แก่ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา, พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ และพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ซึ่งทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวงในรัชกาลที่ 5

พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค พระนามเดิมคือ หม่อมเจ้าบัว ประสูติเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2390

พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ พระนามเดิมคือ หม่อมเจ้าปิ๋ว ประสูติเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2397 

พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ พระนามเดิมคือ หม่อมเจ้าสาย ประสูติเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2406

ทั้ง 3 พระองค์ล้วนเป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจีน ซึ่งกรมหมื่นภูมินทรภักดี ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าลดาวัลย์ และทรงเป็นต้นราชสกุลลดาวัลย์

เหตุที่ได้เข้ารับราชการเป็นพระมเหสีเทวีในรัชกาลที่ 5 เพราะทั้ง 3 องค์ได้เข้ามาอยู่ในการอุปการะของกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ซึ่งทรงมีพระฐานะเป็นอาของหม่อมเจ้าหญิงเหล่านี้ด้วย

กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร หรือ “ทูลกระหม่อมแก้ว” ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 โดยทรงเป็นผู้อภิบาลรัชกาลที่ 5 มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยเหตุนี้ทำให้ทรงเป็นที่เคารพนับถือของรัชกาลที่ 5 และข้าราชสำนักฝ่ายในอย่างมาก 

หม่อมเจ้าปิ๋วเป็นที่โปรดปรานของกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร และได้ถวายงานรับใช้รัชกาลที่ 5 ก่อนเป็นองค์แรก ไม่นานหม่อมเจ้าบัว ก็ได้ถวายงานรับใช้เป็นองค์ถัดไป ส่วนหม่อมเจ้าสายจะถวายงานรับใช้ในอีกหลายปีให้หลัง

พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ พระเชษฐภคินี พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ
พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์

หม่อมเจ้าปิ๋วมีประสูติกาลพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจันทราสรัทวาร เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2416 ไม่นานต่อมาในวันที่ 4 มิถุนายน ปีเดียวกันนั้น หม่อมเจ้าบัวก็มีประสูติกาลพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเยาวมาลย์นฤมล 

เมื่อมีประสูติกาลพระราชธิดาแล้วนั้น รัชกาลที่ 5 จึงทรงสถาปนาหม่อมเจ้าปิ๋ว ขึ้นเป็นพระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ และทรงสถาปนาหม่อมเจ้าบัว ขึ้นเป็นพระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าอุบลรัตนนารีนาค

ขณะที่หม่อมเจ้าสาย เมื่อมีประสูติกาลพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ายุคลทิฆัมพร เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2425 รัชกาลที่ 5 ก็ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าสาย

ทั้งนี้ หม่อมเจ้าอุบลรัตนนารีนาค เรียกขานพระองค์ว่า “ท่านองค์ใหญ่” หม่อมเจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ เรียกขานพระองค์ว่า “ท่านองค์กลาง” และหม่อมเจ้าสาย เรียกขานพระองค์ว่า “ท่านองค์เล็ก”

พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา

จวบจนถึง พ.ศ. 2430 เมื่อหม่อมเจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 5 จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์

ในปีถัดมา รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าอุบลรัตนนารีนาค ขึ้นเป็นพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา, ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าสาย ขึ้นเป็นพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ และทรงสถาปนาพระราชโอรส และพระราชธิดาที่ประสูติแต่พระอรรคชายาเธอทั้ง 3 พระองค์ ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าทั้งสิ้น

พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา อาหารชาววัง 4 วังขึ้นชื่อ
พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2444 ทรงมีพระราชธิดาคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล

พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2430 ทรงมีพระราชธิดาคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร

พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ สิ้นพระชนม์เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2472 ทรงมีพระราชโอรส และพระราชธิดาคือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล

พระนามพระราชโอรส และพระราชธิดาของทั้ง 3 พระอรรคชายาในรัชกาลที่ 5 จึงคล้องจองกันว่า

จันทราสรัทวาร เยาวมาลย์นฤมล ยุคลทิฆัมพร นภาจรจำรัสศรี มาลินีนภดารา นิภานภดล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์. การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน สมัยรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2567