ตำแหน่งพระมเหสีเทวีในรัชกาลที่ 5 มีทั้งหมด 5 ตำแหน่ง

ตำแหน่งพระมเหสีเทวีในรัชกาลที่ 5

ตำแหน่งพระมเหสีเทวีในรัชกาลที่ 5 มีทั้งหมด 5 ตำแหน่ง

รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ นั้น พระองค์ทรงมีพระภรรยาแล้ว เช่น คุณแพ หรือเจ้าจอมมารดาแพ จนเมื่อครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็ต้องทรงมีพระมเหสีเทวี ซึ่งมิใช่พระภรรยาทั่วไป แต่ต้องเป็นพระภรรยาเจ้า ที่สืบเชื้อสายมาจากพระมหากษัตริย์ในรัชกาลก่อน ๆ

ในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ตำแหน่งพระภรรยามีเพียง “เจ้าจอมมารดา” (พระสนมที่มีประสูติกาลพระราชโอรสพระราชธิดา) และ “เจ้าจอม” (พระสนมที่ไม่มีประสูติกาลพระราชโอรสพระราชธิดา) เท่านั้น ตำแหน่งพระมเหสีเทวีในรัชกาลที่ 5 เพิ่งปรากฏครั้งแรกเมื่อทรงสถาปนาหม่อมเจ้าปิ๋ว และหม่อมเจ้าบัว ขึ้นเป็น “พระอรรคชายาเธอ”

ราว พ.ศ. 2415 รัชกาลที่ 5 ทรงรับหม่อมเจ้าปิ๋ว และหม่อมเจ้าบัว เป็นพระภรรยาเจ้า โดยทั้ง 2 องค์ ทรงเป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 ดังนั้น หม่อมเจ้าปิ๋ว และหม่อมเจ้าบัว จึงทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง

จนเมื่อ พ.ศ. 2416 หม่อมเจ้าปิ๋วมีประสูติกาลพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจันทราสรัทวาร และหม่อมเจ้าบัวมีประสูติกาลพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเยาวมาลย์นฤมล รัชกาลที่ 5 จึงทรงสถาปนาทั้ง 2 องค์ ขึ้นเป็นพระอรรคชายาเธอ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งพระมเหสีเทวีตำแหน่งแรกที่ปรากฏในรัชกาล

ต่อมา รัชกาลที่ 5 ทรงรับพระเจ้าน้องนางเธอ 4 พระองค์ คือ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์, พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา, พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี เป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ 5) (ภาพจากหนังสือ “สมเด็จพระบรมราชินี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” กรมศิลปากร)

โดยพระองค์เจ้าสว่างวัฒนามีประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งนับว่าเป็นพระราชโอรสชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่พระองค์แรก รัชกาลที่ 5 จึงทรงสถาปนาพระองค์เจ้าสว่างวัฒนาขึ้นเป็นพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี

ขณะที่อีก 3 พระองค์ต่างก็มีประสูติกาลพระราชธิดา รัชกาลที่ 5 จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็น “พระนางเธอ”

ดังนั้น ตำแหน่งพระมเหสีเทวีในช่วงเวลานี้ คือ พระนางเจ้า พระราชเทวี อันเป็นตำแหน่งสูงสุด รองลงมาคือ พระนางเธอ และพระอรรคชายาเธอ

ใน พ.ศ. 2423 เมื่อพระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 5 จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เพื่อเทิดพระเกียรติยศสูงสุด

สมเด็จพระนางเรือล่ม สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมารดา เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

ขณะเดียวกัน รัชกาลที่ 5 ก็ทรงสถาปนาพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี และทรงสถาปนาอีกครั้งขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ส่วนพระนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ก็ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระนางเธอเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี

จนเมื่อ พ.ศ. 2424 พระนางเธอเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี มีประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ซึ่งทรงเป็นพระราชโอรสชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์ที่ 2 รองจากเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ รัชกาลที่ 5 จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี

และในปีเดียวกันนั้น พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี มีประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ซึ่งทรงเป็นพระราชโอรสชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์ที่ 3 รัชกาลที่ 5 จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี (ทรงดำรงพระอิสริยยศนี้ตลอดรัชกาล)

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม วังบางขุนพรหม
สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร (ภาพ: กรมศิลปากร)

ใน พ.ศ. 2426 เมื่อหม่อมเจ้าสาย พระขนิษฐาร่วมพระบิดา และพระมารดาเดียวกับหม่อมเจ้าปิ๋ว และหม่อมเจ้าบัว มีประสูติกาลพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ายุคลทิฆัมพร รัชกาลที่ 5 จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระอรรคชายาเธออีกพระองค์หนึ่ง

ดังนั้น ตำแหน่งพระมเหสีเทวีในช่วงเวลานี้ คือ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี, พระนางเจ้า พระวรราชเทวี, พระนางเจ้า พระราชเทวี และพระอรรคชายาเธอ

จวบจนการเสด็ตสวรรคตของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ใน พ.ศ. 2438 ทำให้ตำแหน่ง “สยามมกุฎราชกุมาร” หรือรัชทายาทเปลี่ยนแปลง รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ทำให้พระฐานะของพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี สูงยิ่งขึ้น รัชกาลที่ 5 จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี

พระบรมฉายาลักษณ์ทรงฉายเมื่อคราวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินคืนสู่พระมหานคร ครั้งทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินออกไปรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ประทับคอยอยู่ในเรือพระที่นั่งมหาจักรี ที่หน้าเมืองสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2445

ถึง พ.ศ. 2440 เมื่อรัชกาลที่ 5 จะเสด็จประพาสยุโรป จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี เป็นผู้สำเร็จราชการ จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ

ดังนั้น ตำแหน่งพระมเหสีเทวีในช่วงเวลานี้ คือ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี, พระนางเจ้า พระราชเทวี และพระอรรคชายาเธอ

จวบจน พ.ศ. 2451 ในช่วงปลายรัชกาล เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาเจ้าดารารัศมีขึ้นเป็น “พระราชชายา” ทำให้ตำแหน่งพระมเหสีเทวีในรัชกาลที่ 5 มีลำดับดังนี้

1. สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ)

2. สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี)

3. พระนางเจ้า พระราชเทวี (พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี)

4. พระอรรคชายาเธอ (พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2430), พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2444) และพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์)

5. พระราชชายา (พระราชชายา เจ้าดารารัศมี)

ตำแหน่งพระมเหสีเทวีในรัชกาลที่ 5 จึงมีทั้งหมด 5 ตำแหน่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์. การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน สมัยรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ธันวาคม 2567