ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
จงกั๋ว (中国) คือคำที่ชาวจีนใช้เรียกชื่อประเทศของตน จง (中) แปลว่า ตรงกลาง, ศูนย์กลาง, กั๋ว (国) ประเทศ, รัฐ, ชาติ ซึ่งหมายความว่า ประเทศที่เป็นศูนย์กลางของอารยธรรม เป็นคําเก่าแก่ที่ชาวจีนใช้เรียกประเทศของตนมาตั้งแต่สมัยบรรพกาล และยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน
เหตุที่ใช้คำว่า “จงกั๋ว”
การที่จะเข้าใจประเทศจีน และประชาชนจีน ที่เรียกประเทศตนเองว่า “จงกั๋ว” จำเป็นต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์จีน และความเป็นจีนของคนจีน รวมทั้ง ภูมิศาสตร์, วัฒนธรรม ฯลฯ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับทำความเข้าใจในประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนานไม่ต่ำกว่า 4,000 ปีของจีน
ชาวจีนจึงมองประวัติศาสตร์ของตนเองยิ่งใหญ่กว่าประชาชาติอื่นใดในโลก
จีนในสมัยบรรพกาลประกอบกันขึ้นตามบริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำเหลือง (หวงเหอ) อันอุดมสมบูรณ์ โดยมีความเชื่อว่า ประเทศของตนตั้งอยู่กึ่งกลางโลก ล้อมรอบด้วย “อนารยชน” ทั้ง 4 ด้าน
ทางเหนือ เป็นที่ราบกว้างแห้งแล้งเป็นที่อยู่อาศัยของพวกเร่ร่อน ทางตะวันออก เป็นมหาสมุทร ทางตะวันตก มีเทือกเขาสูงสุดสกัดกั้นเส้นทางค้าขายไปยังอินเดีย และเอเชียตะวันตก ทางใต้ เป็นป่าดง มีชาวไร่ชาวนาที่ทำการเกษตร และล้าหลังด้านวัฒนธรรมอาศัยอยู่ และรอบนอกทั้ง 4 ด้าน (ยกเว้นด้านตะวันออก) มีมหาสมุทรกระหนาบอีกชั้น
กับดักความเป็น “ศูนย์กลาง”
ขณะที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีอารยธรรมเก่าแก่สุดในโลก ที่ยังคงดำรงอยู่โดยสืบต่อกันมาไม่มีสิ้นสุด สมกับที่เรียกตนเองว่าเป็น “ศูนย์กลางของโลกที่มีอารยธรรม” และภาคภูมิใจในภูมิปัญญาเก่าแก่ ซึ่งเป็นต้นทางของอารยธรรมให้หลายๆ ประเทศ เช่น การใช้ตะเกียบ, ตัวอักษร, กระดาษ, ชา ฯลฯ
แต่อีกด้านของเหรียญ ชาวจีนก็มองดูตนเองด้วยทัศนียภาพทางประวัติศาสตร์ยิ่งกว่าประชาชาติอื่นใดในโลก และผูกติดกับอารยธรรมของตนเป็นเวลาถึงกว่าพันปี กว่าจะรู้ว่ายังมีอารยธรรมของประเทศอื่นๆ อยู่ในโลกเช่นกัน ก็สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ปีที่ 206 ก่อนคริสตศักราช-ค.ศ. 19)
เมื่อ “จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้” ส่ง “จางเจี้ยน” ขุนนางในกองทัพเดินทางไปต่างประเทศ ในฐานะราชทูตของจีน นั่นทำให้จางเจี้ยนต้องแปลกใจกับสิ่งที่เขาได้พบเจอ ปีที่ 126 ก่อนคริสตศักราช จางเจี้ยนเดินทางกลับมาถึงเมืองหลวงฉางอาน ได้ถวายรายงานว่า ในดินแดนซึ่งปัจจุบันเป็นอัฟกานิสถานมีเมืองต่างๆ คฤหาสน์ และบ้านเรือนอยู่มากหลายอย่างในจีนเหมือนกัน
ทำให้จีนรู้ว่า ประเทศของตนไม่ได้รายล้อมด้วย “อนารยชน” อย่างที่เข้าใจมาตลอด
อนึ่ง ความเชื่อว่าประเทศตนเองเป็นศูนย์กลางอารยธรรมของโลก มีดินแดนของพวก “อนารยชน” ล้อมอยู่นี้ ไม่ได้มีแต่ประเทศจีนในอดีตเท่านั้น แต่ชาวกรีกโบราณสมัยบรรพกาลก็มีความเชื่อดังกล่าวเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง
ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พิมพ์ครั้งที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2567