ทำไม “พระสงฆ์ไทย” วินัยหย่อน? เหตุผลจากพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ

พระสงฆ์ คณะสงฆ์ พระสงฆ์ไทย
ภาพพระสงฆ์ในจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎก วัดบวรนิเวศวิหาร

วัตรปฏิบัติและบทบาทของพระสงฆ์ถูกกำกับด้วย “พระวินัย” หรือศีล แต่ดูเหมือนความหย่อนยานในพระวินัยของพระสงฆ์ไทย (บางส่วน) จะเป็นประเด็นร้อนให้สังคมหยิบยกมาพูดคุยกันอยู่เรื่อย ๆ “เพราะอะไร?”

ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน “พระสงฆ์” คือผู้เชื่อมโยงกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคมไทย เพราะเป็นที่ยอมรับและเคารพนับถือจากคนทุกกลุ่ม จากวัตรปฏิบัติอันน่าเลื่อมใส ดำรงสมณเพศด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่อนุเคราะห์สังคมได้อย่างกว้างขวาง

การทำผิดวินัยสงฆ์หรือหย่อนยานในพระวินัยของพระสงฆ์ จึงส่งผลต่อสังคมไม่น้อย เพราะเท่ากับสะท้อนภาพความเสื่อมทรามทางจริยธรรมในสังคมไปด้วย จึงไม่แปลกที่เมื่อเกิดกรณีพระภิกษุประพฤติผิดแผกไปจากพระวินัย สังคมไทยก็พร้อมจะตั้งคำถามทันที

Advertisement

การถกเถียงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเพิ่งเกิดขึ้นในยุคหลัง ๆ แต่มีมาเนิ่นนานมากแล้ว ดังจะเห็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงมีพระนิพนธ์ไว้ โดยยกตำนานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากเกาะลังกา (ศรีลังกา) สู่ดินแดนสุวรรณภูมิมาอธิบาย ความว่า

“มีตำนานเล่ากันมาแต่โบราณ (จะเป็นตำนานเกิดขึ้นในเมืองมอญ หรือในเมืองไทยหาทราบไม่) ว่าเมื่อพระสงฆ์ลังกาวงศ์เชิญพระไตรปิฎกมาจากลังกาทวีปนั้น เรือมาถูกพายุพลัดกันไป เรือลำที่ทรงพระวินัยปิฎกพลัดไปเมืองมอญ และเรือที่ทรงพระสุตตันตปิฎกพลัดมาเมืองไทย

ตำนานนี้อาจจะเป็นอุปมาไม่มีมูลทางพงศาวดาร แต่มีความจริงประหลาดอยู่ ที่พระสงฆ์ในเมืองมอญถือพระวินัยปิฎกเป็นสำคัญ ฝ่ายพระสงฆ์ทางเมืองไทย ถือพระสุตตันตปิฎกเป็นสำคัญ

เพราะฉะนั้น พระสงฆ์ไทยชำนาญการแสดงธรรม แต่มิใคร่เอาใจใส่ในการปฏิบัติพระวินัยเคร่งครัดมากนัก เป็นเช่นนั้นมาแต่โบราณ”

สันนิษฐานการเข้ามาของลังกาวงศ์ :- 1. เส้นทางเดินถึงนครฯ​ และนครธม, พุทธศตวรรษที่ 18, 2. เส้นทางเดินถึงรามัญ, สุโขทัย และล้านนา, พุทธศตวรรษที่ 20
สันนิษฐานการเข้ามาของลังกาวงศ์ :- 1. เส้นทางเดินถึงนครฯ​ และนครธม, พุทธศตวรรษที่ 18, 2. เส้นทางเดินถึงรามัญ, สุโขทัย และล้านนา, พุทธศตวรรษที่ 20

ความหย่อนยานในพระวินัยของพระไทยในอดีต ยังเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้ “ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ” หรือภายหลังคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 วิตกในพระหฤทัยว่า สมณวงศ์ที่สืบจากพระอริยสาวกของพระพุทธเจ้าเสื่อมสูญเสียแล้ว กระทั่งพระองค์ทรงทราบถึงกิตติศัพท์ความชำนาญในพระวินัยปิฎกของพระเถระมอญ จึงทรงยินดีและเลื่อมใสใคร่ประพฤติวัตรปฏิบัติตามแบบพระมอญ จนพัฒนาไปสู่ “ธรรมยุติกนิกาย” ในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ แน่นอนว่าตำนานที่กรมพระยาดำรงฯ กล่าวไว้ย่อมไม่ใช่คำอธิบายสถานการณ์ของวงการสงฆ์ในสมัยปัจจุบัน เพียงนำมาเสนอไว้เป็นอีกหนึ่งมุขปาฐะที่คนโบราณเล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น

จิตรกรรมภาพพระภิกษุในคณะสงฆ์ธรรมยุตและคณะสงฆ์มอญกำลังกระทำอุปสมบทบนแพในนทีสีมา (อุทุกกุปเขปปสีมา) ประมาณรัชกาลที่ 3 หอไตรวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมภาพพระภิกษุในคณะสงฆ์ธรรมยุตและคณะสงฆ์มอญกำลังกระทำอุปสมบทบนแพในนทีสีมา (อุทุกกุปเขปปสีมา) ประมาณรัชกาลที่ 3 หอไตรวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ. (2505). ความทรงจำ. กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2567