ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | ผศ. ดร. ธีระพงษ์ มีไธสง |
เผยแพร่ |
บทนำ
พระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล มีวิถีชีวิตที่ได้อิทธิพลมาจากการดำเนินชีวิตตามวิถีของพวกฮินดูในช่วงที่เป็นสันยาสี คือ ช่วงปลายชีวิตที่ต้องพยายามสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นทางจิต พระพุทธเจ้าก็ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างดังกล่าว เพียงแต่ตัดสินใจได้ตั้งแต่เมื่อยังหนุ่มที่ยอมสละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นทางจิต ซึ่งเป็นปรัชญาชีวิตแบบฮินดูทั่วไป
เมื่อได้ค้นพบสัจธรรมก็ออกเผยแพร่แนวคิดแก่ผู้สนใจทั่วไป สุดท้ายก็มีคนที่ศรัทธามาใช้ชีวิตแบบนักบวชมากขึ้น ก็ใช้วิธีการปกครองที่เรียกว่า “สังฆะ” หมายถึง ชุมชนของกลุ่มผู้ที่มีอุดมการณ์แบบพุทธ โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน รูปแบบการปกครองก็เป็นไปในลักษณะที่ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เช่น กรณีมีคดี (อธิกรณ์) เกิดขึ้นกับพระสงฆ์ ก็จะมีการเรียกประชุม มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานสงฆ์ แล้วสอบสวน โดยมีคณะสงฆ์ร่วมประชุมพิจารณาคดี ส่วนมากเหตุการณ์ก็ยุติได้ ในระยะนี้ พระภิกษุยังมีน้อย และบรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นต่างๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ พระพุทธเจ้าจึงทรงปกครองดูแลด้วยพระองค์เองได้ (แสวง อุดมศรี, 2531 : 40)
แต่ปัจจุบัน สังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น พระสงฆ์มีพฤติกรรมที่ลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนปม จับไม่ได้ไล่ไม่ทันก็ยืนกรานอยู่ หลายกรณีองค์กรของพระสงฆ์เองก็ไม่สามารถจะเข้าไปจัดการได้ แม้จะมีการจัดตั้งหน่วยงานจากรัฐมาสนับสนุน หรือแม้แต่การจัดตั้งตำรวจพระ (พระวินยาธิการ) ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาที่รุนแรงและซับซ้อนได้
จำเป็นต้องอาศัยกลไกอำนาจรัฐเข้ามาช่วยจัดการในฐานะเป็นผู้ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือ และหน่วยงานที่สามารถตอบสนองต่อปัญหาที่อาจต้องใช้มาตรการแบบรัฐ เช่น กฎหมาย ตำรวจ ทหาร ศาล เป็นต้น ทำให้องค์กรสงฆ์เองซึ่งมีข้อจำกัดอยู่แล้ว ก็ต้องการเครื่องมือดังกล่าว เข้ามาจัดการปัญหาทางคณะสงฆ์ด้วย ทำให้การปกครองสงฆ์ที่เคยดูแลปกครองกันเองเปลี่ยนไปในลักษณะที่มีองค์กรของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง
ในขณะเดียวกัน องค์กรรัฐเองก็จำเป็นต้องการกลไกบางอย่าง โดยเฉพาะหลักความเชื่อทางศาสนามาเป็นเครื่องมือของรัฐเพื่อควบคุมประชาชนให้สยบอยู่ภายใต้อำนาจรัฐโดยไม่กระด้างกระเดื่อง โดยเฉพาะรัฐชาติจำเป็นต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมเพรียงเพื่อควบคุมพลเมือง อย่างไรก็ตาม ระยะยาวแล้ว รัฐต้องหล่อหลอมประชาชนให้เป็นพลเมืองดีของชาติ (คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2557 : 114) และเครื่องมือที่สามารถควบคุม หล่อหลอมประชาชนได้ดีที่สุด คือ “ศาสนา” นั่นเอง
ศาสนาพุทธในประเทศไทยก็อยู่ในสถานะดังกล่าวมาตลอด รัฐได้ดึงเอาองค์กรสงฆ์เข้ามาเป็นกลไกในฐานะเป็นเครื่องมือหล่อหลอมความเป็นพลเมืองดีของรัฐ รวมถึงความชอบธรรมทางการเมืองของผู้นำอีกด้วย ขณะที่ศาสนาก็ได้อาศัยรัฐเป็นผู้ให้ความอุปถัมภ์ค้ำชู และให้การรับรองสถานะเป็นหน่วยงานราชการของรัฐ โดยแต่งตั้งพระสงฆ์ให้เป็นพระสังฆาธิการ (ราชการ) รวมถึงการออกกฎหมายต่าง ๆ เกี่ยวกับพระสงฆ์ จนองค์กรศาสนารู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัยเมื่ออยู่ภายใต้อำนาจของรัฐชาติ เมื่อทั้งรัฐและศาสนาต่างมีผลประโยชน์ที่เกื้อหนุนในลักษณะที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน (นภนาท อนุพงศ์พัฒน์, 2546 : 32-33) การสยบยอมอยู่ภายใต้อำนาจรัฐของศาสนา จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่กลุ่มองค์กรสงฆ์นำมาอธิบายตอกย้ำว่าเป็นความมั่นคงของพุทธศาสนา
กลไกการปกครองสงฆ์ภายใต้อำนาจรัฐไทย
เมื่อสถานะทางศาสนาพุทธในประเทศไทยถูกดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งภายใต้อำนาจรัฐชาติ องค์กรสงฆ์จำต้องยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐจัดให้โดยดุษฎี การใช้อำนาจรัฐในการควบคุมพระสงฆ์จึงเป็นความชอบธรรมของรัฐ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์ได้เข้ามาบริการจัดการและควบคุมพระสงฆ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่อยุธยา ธนบุรี จนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น อำนาจการปกครองคณะสงฆ์ส่วนมากยังอยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์ โดยยังคงรูปแบบการปกครองที่ได้รับอิทธิพลมาจากแบบอย่างการปกครองสมัยอยุธยา (แสวง อุดมศรี, 2531 : 72)
รัชกาลที่ 1 เห็นความสำคัญของคณะสงฆ์เป็นอย่างมาก แรกขึ้นครองราชสมบัติก็รับสั่งให้มีการปรับปรุงคณะสงฆ์ใหม่ มีการแต่งตั้งพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกปลดโดยพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงตรากฎหมายเกี่ยวกับพระสงฆ์ฉบับแรก เรียกว่า “กฎพระสงฆ์” รวม 10 ฉบับ เพื่อควบคุมพระสงฆ์ เพราะเห็นพฤติกรรมการทำผิดพระวินัย ดังพระราชปรารภว่า
“…พระภิกษุทุกวันนี้บวชเข้ามามิได้กระทำตามพระวินัย ปรนนิบัติเห็นแต่จะเลี้ยงชีวิตผิดธรรม ให้มีแต่เนื้อหนังบริบรรณประดุจโคกระบือ มีแต่จะบริโภคอาหารให้จำเริญเนื้อหนัง จะได้จำเริญสติปัญญานั้นหามิได้…” (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2542 : 237) โดยมอบหมายให้กรมสังฆการีเป็นผู้ทำหน้าที่แทน แต่อำนาจสูงสุดในการตัดสินคดี (อธิกรณ์) ยังอยู่ที่พระมหากษัตริย์ ล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 2 ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก
ด้านการปกครองคณะสงฆ์ ได้แบ่งการปกครองออกเป็น 3 คณะ คือ คณะเหนือ คณะใต้ และคณะอรัญวาสี โดยมีตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ปกครองดูแลพระสงฆ์ในแต่ละคณะ แม้ว่าจะมีการสถาปนาตำแหน่งพระสังฆราช แต่ก็ไม่มีอำนาจที่แท้จริงแต่อย่างใด เพราะอำนาจยังถูกผูกขาดอยู่กับกษัตริย์
ดังจะเห็นได้ว่ามีกรณีเกิดอธิกรณ์เกี่ยวกับการกล่าวหาพระผู้ใหญ่ อย่างสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และพระญาณสมโพธิเป็นปาราชิก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีรับสั่งให้กรมหมื่นรักษรณเรศกับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ไปชำระอธิกรณ์ (วรายุทธ สายทอง, 2547 : 24)
แม้แต่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีการชำระอธิกรณ์สงฆ์ที่ประพฤติอนาจารให้สึกประมาณ 500 รูปแสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจปกครองคณะสงฆ์โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจปกครองสูงสุด แม้จะมีการตั้งกรมสังฆการีขึ้นมากำกับดูแลคณะสงฆ์ แต่ก็พบว่ามีการสั่งการจากกษัตริย์โดยเฉพาะกรณีที่เกิดอธิกรณ์เกี่ยวกับพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่
สมัยรัชกาลที่ 3 มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในโครงสร้างการปกครองสงฆ์ กล่าวคือ ในโครงสร้างเดิมที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เดิมคณะสงฆ์แบ่งการปกครองออกเป็น 3 คณะ คือ
1. คณะคามวาสีฝ่ายซ้าย ปกครองคณะสงฆ์หัวเมืองภาคเหนือ
2. คณะอรัญวาสี ปกครองพระนักปฏิบัติธรรมทั่วราชอาณาจักร
3. คณะคามวาสีฝ่ายขวา ปกครองคณะสงฆ์หัวเมืองภาคใต้
แม้จะมีการแบ่งการปกครองครอบคลุมคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร แต่ขอบเขตอำนาจพระสงฆ์ผู้ปกครองก็ไม่สามารถกระจายไปครอบคลุมยังหัวเมืองต่าง ๆ ในทางปฏิบัติ เป็นแต่เพียงแต่งตั้งไว้ตามธรรมเนียมเท่านั้น พระสงฆ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในท้องถิ่นที่ห่างไกลตามหัวเมือง ก็ยังทำหน้าที่ปกครองดูแลกันเองตามอำนาจของหัวเมืองนั้น ๆ โดยมีอิสระจากการควบคุมโดยคณะสงฆ์ที่ใช้อำนาจรัฐส่วนกลาง
ในช่วงนี้มีการเปลี่ยนแปลงเพียงการเปลี่ยนชื่อเรียกคณะคามวาสีฝ่ายซ้าย ซึ่งรับผิดชอบในกิจการคณะสงฆ์ในหัวเมืองภาคเหนือเป็นคณะเหนือ และเปลี่ยนชื่อเรียกคณะคามวาสีฝ่ายขวา ซึ่งรับผิดชอบกิจการคณะสงฆ์ในหัวเมืองภาคใต้เป็นคณะใต้ และการเปลี่ยนแปลงโดยมีการรวมพระอารามหลวงและวัดราษฎร์บางส่วนในกรุงเทพมหานครเข้าด้วยกันแล้วตั้งเป็นคณะใหม่ เรียกว่าคณะกลาง ดังนั้น การปกครองคณะสงฆ์ในรัชกาลที่ 3 จึงแบ่งการปกครองออกเป็น 4 คณะ คือ
1. คณะเหนือ (เดิมคือคามวาสีฝ่ายซ้าย)
2. คณะใต้ (เดิมคือคามวาสีฝ่ายขวา)
3. คณะกลาง (เพิ่มเข้ามาใหม่)
4. คณะอรัญวาสี
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวม การปกครองคณะสงฆ์ไทย อำนาจและบทบาทในการบัญชาการคณะสงฆ์สูงสุดยังอยู่ที่กษัตริย์ แม้ว่าจะตั้งกรมสังฆการี โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไกรสร เป็นกรมหมื่นรักษรณเรศ ทำหน้าที่กำกับกรมสังฆการี (ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ, 2516 : 66) ดูแลควบคุมพระสงฆ์ทั้งหมด รวมถึงมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดี (อธิกรณ์) ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมผิดพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ในขณะนั้น ก็เป็นเพียงการแบ่งเบาภาระของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ถ้ามีอธิกรณ์ที่สำคัญ ๆ เกิดขึ้น ก็ยังใช้อำนาจพระมหากษัตริย์ในการวินิจฉัยและระงับเหตุการณ์ตลอดมา
อาจสรุปเป็นโครงสร้างการปกครองได้ ดังนี้
หมายเหตุ : คณะเหนือปกครองพระสงฆ์ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ คณะใต้ปกครองพระสงฆ์ภาคใต้ คณะอรัญวาสีปกครองพระสงฆ์สายวัดป่า คณะกลางปกครองพระสงฆ์กรุงเทพฯ และภาคกลาง
พอถึงสมัยรัชกาลที่ 4 คณะสงฆ์ไทยถือว่าได้มาถึงจุดเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในประเทศไทย เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชแล้วตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นมา พระองค์เป็นผู้นำสูงสุดของนิกายใหม่นี้ มีการคัดเลือกเอาพระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมทำงานเผยแผ่แนวทางธรรมยุต กรมสังฆการีที่เคยมีอำนาจควบคุมพระสงฆ์ก็ถูกลดบทบาทเหลือเพียงดูแลบำรุงวัด สำรวจบัญชีพระภิกษุสามเณร แต่งตั้งพระสังฆาธิการและสมณศักดิ์ จัดการสอบไล่ และตรวจการปกครองคณะสงฆ์
ต่อมาเมื่อทรงลาผนวชมาขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ก็ยังคงมีอำนาจสูงสุดในการปกครองเหนือพระสงฆ์ทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุต แม้จะทรงตั้งสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสขึ้นเป็นประมุขสูงสุดในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นแต่เพียงแต่งตั้งเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่พระองค์นับถือเท่านั้น ในขณะที่การปกครองคณะสงฆ์พระองค์ยังทรงบัญชาการเอง เพราะทรงเห็นว่าพระสงฆ์ยังมีอิทธิพลต่อความเชื่อของคนในประเทศค่อนข้างมาก ประกอบกับเคยทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปคณะสงฆ์ร่วมกับคณะสงฆ์ธรรมยุตมาก่อน ตั้งแต่สมัยทรงผนวชเป็นพระวชิรญาณภิกขุ ด้วยต้นทุนเดิมที่เคยสร้างไว้ขณะผนวช จึงได้อาศัยกลุ่มพระสงฆ์ดังกล่าว รวมถึงพระสงฆ์กลุ่มเล็ก ๆ ที่พระองค์เป็นผู้เลือกเอาจากพระที่มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะพระสงฆ์อีสานที่มีความรู้มีลักษณะดีจะได้รับการเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ และมีรับสั่งด้วยพระองค์เอง ดังที่พระพรหมมุนี (อ้วน ติสฺโส) เล่าว่า
“ในราตรีวันหนึ่งได้นำท่านเทวธมฺมี (ม้าว) เข้าเฝ้าถวายตัว ขณะที่เฝ้าอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกดวงเทียนส่องทอดพระเนตรดูดวงหน้า และส่วนอื่นของท่านเทวธมฺมี แล้วตรัสกะท่านพนฺธุโล (ดี) ว่า ขรัวดี พระอย่างนี้ ทำไมไม่นำมาให้มาก” (พระพรหมมุนี, 2479 : 19)
เมื่อคัดเลือกได้แล้วก็มีบัญชาให้พระสงฆ์ธรรมยุตเหล่านั้นออกไปทำงานในภาคอีสาน ในลักษณะเคลื่อนไหวเชิงรุกเพื่อเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ผนวกเข้ากับอุดมการณ์รัฐแบบธรรมยุต โดยการสนับสนุนของคณะสงฆ์ธรรมยุตส่วนกลางที่มีศูนย์กลางบัญชาการอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เชื่อมโยงการทำงานกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิด
พอถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งองค์กรสงฆ์เกิดการเปลี่ยนแปลงจนนำไปสู่การจัดโครงการคณะสงฆ์ใหม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ดำเนินนโยบายปฏิรูปหัวเมืองต่าง ๆ ด้วยการยุบอำนาจที่มีอยู่กับเจ้าเมืองในหัวเมืองทั่วอาณาจักรเข้าไปรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง คณะสงฆ์ และตำแหน่งสังฆราชที่มีความหลากหลายอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ก็ถูกยุบเข้าไปรวมศูนย์อยู่ส่วนกลางเช่นเดียวกัน
โดยตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ที่เรียกว่า พ.ร.บ. สงฆ์ ร.ศ. 121 ขึ้นมาใช้ปกครองสงฆ์ แล้วโปรดให้ตั้ง “พระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก” สถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นผู้บัญชาการสูงสุดในคณะสงฆ์ ทรงคาดหวังว่า “พระสงฆ์…เป็นทางเชื่อมให้สนิทในระหว่างรัฐบาลกับราษฎร” (สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส, 2504 : 224)
พระสงฆ์บังคับบัญชาเป็นคณะชั้น และขึ้นตรงต่อสมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระสังฆราชเองก็ขึ้นตรงต่อองค์พระมหากษัตริย์ ส่งผลให้ตำแหน่งสังฆราชในหัวเมืองต่าง ๆ ถูกยกเลิกไป และความหลากหลายของพระสงฆ์ในท้องถิ่นถูกปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกับพุทธศาสนาแบบรัฐชาติ ตำแหน่งสังฆราชา สังฆปาโมกข์ หลักคำ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่เทียบเท่าสังฆราชจึงถูกยุบไปให้เหลือเพียงตำแหน่งพระสังฆราชส่วนกลางเพียงตำแหน่งเดียว
คณะสงฆ์ในหัวเมือง
เมื่อย้อนกลับไปสำรวจสภาพการปกครองทั่วไปในหัวเมืองต่างๆ ในสมัยอยุธยา พบว่ามีการแต่งตั้งพระสงฆ์เป็นสังฆราชคามวาสี อรัญวาสี (องค์การค้าของคุรุสภา, 2537 : 183) ทำหน้าที่ปกครองพระสงฆ์ต่าง ๆ ในแต่ละหัวเมือง นอกจากนั้นเมืองต่าง ๆ เช่น ลพบุรี พิษณุโลก สุโขทัย สวางคบุรี นครราชสีมา เพชรบุรี ราชบุรี และจันทบุรี แต่ละหัวเมืองมีพระครูเจ้าคณะเมืองเป็นสังฆราชา เช่น เมืองลพบุรี มีพระครูปัญญามหาศีลสุนทร ที่พระสังฆราชา เมืองพิษณุโลก มีพระสังฆราชา เมืองสุโขทัย มีพระสังฆราชา เมืองสวางคบุรี มีพระครูสวางคมุนี ที่สังฆราชา เมืองนครราชสีมา มีพระครูวิบูลยกิจวิจิตรมุนี ที่สังฆราชา เป็นต้น (กรมการศาสนา, 2525 : 182-183)
พระสังฆราชาแต่ละรูปมีอิสระในปกครองแต่ละหัวเมือง เจ้าเมืองและประชาชนต่างมีส่วนในการแต่งตั้งพระสงฆ์ที่ได้รับความเคารพนับถือขึ้นเป็นสังฆราชา (วรายุทธ สายทอง, 2547 : 35) จึงทำให้พระสงฆ์ในหัวเมืองต่าง ๆ ปกครองกันเอง โดยอยู่ภายใต้การบัญชาของพระเถระที่มีตำแหน่งสังฆราชา ซึ่งเทียบเท่าตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแบบส่วนกลาง
อีสานมีหัวเมืองเอกอย่างนครราชสีมา อุบลราชธานี ก็มีตำแหน่งที่เรียกว่า สังฆปาโมกข์ ซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งสังฆราชา หรือสังฆราช มีหลักฐานพบว่า มีพระสงฆ์ชาวอีสานรูปหนึ่ง นามว่า สุ้ย ซึ่งเป็นพระสงฆ์จากหัวเมืองอุบลราชธานีได้เข้าไปศึกษาที่วัดสระเกศ สันนิษฐานว่า น่าจะอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 พระสุ้ยอาจได้พบกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่พระองค์เสด็จไปบูรณะกุฏิที่วัดสระเกศ เพราะพระสุ้ยเป็นพระสงฆ์ที่มีฝีมือทางช่างที่มีชื่อเสียง ประกอบกับทางวัดสระเกศอาจมอบหมายให้ท่านเป็นผู้ดูแลในการบูรณะด้วย
นอกจากมีฝีมือทางช่างแล้ว ท่านยังเป็นพระสงฆ์ที่มีความรู้อีกด้วย จึงต้องด้วยพระราชอัธยาศัย ประกอบกับช่วงนั้นเกิดกรณีการลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐไทยของเจ้าอนุวงศ์แห่งกรุงเวียงจันทน์ ทำให้พระองค์เริ่มหันมาให้ความสนใจหัวเมืองอุบลราชธานีในฐานะเป็นหัวเมืองเอก จึงได้ส่งแต่งตั้งให้พระสุ้ย เป็นพระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมล อุบลสังฆปาโมกข์ (ตำแหน่งสังฆราชา หรือสังฆราชแต่เดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เปลี่ยนมาเป็นสังฆปาโมกข์ในภายหลัง) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในหัวเมืองเทียบเท่าเจ้าคณะเมือง (พระพรหมมุนี, 2479 : 23-24) ทำหน้าที่ปกครองดูแลคณะสงฆ์ในหัวเมืองอุบลราชธานี
ดังนั้น ตำแหน่ง “สังฆราช” จึงไม่ได้มีเพียงตำแหน่งเดียวที่สถาปนาขึ้นโดยรัฐไทยมาก่อน เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นตำแหน่งสูงสุดเพียงตำแหน่งเดียวในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการออกพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์รวบอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ในท้องถิ่นเข้าสู่ส่วนกลางอย่างเบ็ดเสร็จ
สังฆราชา สังฆปาโมกข์ สังฆราช
ตำแหน่งสังฆราชา สังฆปาโมกข์ หรือแม้แต่หลักคำ (อีสาน/ลาว) เป็นตำแหน่งที่เก่าแก่พบว่ามีพระสงฆ์ที่ได้รับตำแหน่งเหล่านี้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สอดคล้องกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า เมื่อสุโขทัยเป็นราชธานีคงมีพระสังฆราชมากกว่าพระองค์เดียว เมืองใหญ่แต่ละเมืองน่าจะมีพระสังฆราชองค์หนึ่งเป็นสังฆราชในการปกครองคณะสงฆ์ (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2514) ในดินแดนไทยมีหัวเมืองกระจายอยู่ทั่วไป
ดังนั้น ตำแหน่งพระสังฆราชก็เป็นตำแหน่งที่กระจายอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะหัวเมืองเอกในดินแดนไทย เพราะในสมัยนั้นรูปแบบการปกครองบ้านเมืองยังไม่มีลักษณะเป็นรัฐชาติ แต่มีลักษณะเป็นหัวเมืองที่หลากหลายกระจายอยู่ทั่วดินแดนไทยทั่วไปในอีสานก็มีหัวเมืองมากมาย เช่น เมืองนครราชสีมาและชัยภูมิ เมืองจำปาศักดิ์ เมืองอุบลราชธานี เมืองสุรินทร์ เมืองศรีสะเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองร้อยเอ็ด เมืองกาฬสินธุ์ เมืองอุดรธานี เมืองหนองคายและนครพนม เมืองสกลนคร เมืองขอนแก่นและเมืองเลย โดยเฉพาะหัวเมืองเอกอย่างอุบลราชธานียังแยกเป็นหัวเมืองย่อยอีกมากมาย (ดูรายละเอียดใน ประวัติศาสตร์อีสาน ของ เติม วิภาคย์พจนกิจ, 2546)
การปกครองในแต่ละหัวเมืองจะมีตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ในขณะที่การปกครองคณะสงฆ์ก็อนุโลมไปตามลักษณะการปกครองบ้านเมือง กล่าวคือ มีพระสงฆ์ผู้ใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นหลักคำ หรือสังฆปาโมกข์ (เทียบเท่าตำแหน่งเจ้าเมือง) เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ในหัวเมืองนั้น ๆ
เจ้าเมืองในหัวเมืองต่าง ๆ ก่อนรัชกาลที่ 5 มีความสัมพันธ์รับอำนาจรัฐชาติส่วนกลาง โดยมีผลประโยชน์ร่วมในลักษณะการส่งส่วยบรรณาการเท่านั้น ส่วนการปกครอง เจ้าเมืองต่างมีอำนาจปกครองในหัวเมืองของตนเองอย่างอิสระ และมีการใช้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จตราบเท่าที่ยังไม่สร้างความรู้สึกแก่รัฐชาติว่ามีความกระด้างกระเดื่อง หรือซ่องสุมผู้คนจนถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐชาติ เช่น กรณีเจ้าพระฝาง กบฏผู้มีบุญ เป็นต้น
รัฐชาติมักจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในเชิงอำนาจการปกครอง ยังคงปล่อยให้หัวเมืองต่าง ๆ ปกครองกันเองตามกฎหมายของท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งส่วนมากมักสัมพันธ์กับวิถีชีวิตวัฒนธรรมและประเพณีของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น เช่น กฎหมายที่ใช้ในหัวเมืองอีสานพัฒนามาจากศีลในศาสนาพุทธ เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าดินแดนไทยก่อน พ.ศ. 2435 คล้ายกับรัฐหรือแคว้นในชมพูทวีป หรือรัฐในเยอรมนี คือไม่ได้มีพระนครหลวงแห่งเดียวที่เป็นศูนย์กลางการปกครองของพระราชอาณาจักรอย่างแท้จริง แต่เป็นการปกครองทั่วกันไป หรือมีอำนาจการปกครองหลายศูนย์กลาง ซึ่งความสัมพันธ์ของรัฐดังกล่าวอาศัยระบบบรรณาการเป็นเครื่องแสดงความอ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้น แต่อำนาจในการปกครองหาได้มีอยู่จริง (ปฐม ตาคะนานันท์, 2551 : 209)
ฝ่ายคณะสงฆ์ในหัวเมืองก็ปกครองอนุโลมไปตามบ้านเมือง กล่าวคือ ปกครองกันเองแม้จะมีคณะสงฆ์ส่วนกลางอยู่ แต่อำนาจคณะสงฆ์ส่วนกลางก็ไม่สามารถเข้ามาปฏิบัติการครอบคลุมอำนาจในท้องถิ่นในแต่ละหัวเมืองได้ ดังนั้น ในแต่ละหัวเมืองจึงมีพระสงฆ์ผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพ ผู้คนยอมรับนับถือได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าเมืองและประชาชนในท้องถิ่นของตนเองให้มีตำแหน่งทางการปกครองสูงสุด อาจเรียกตำแหน่งที่แตกต่างกันออกไป เช่น สังฆราชา สังฆปาโมกข์ เป็นต้น ส่วนในหัวเมืองอีสาน เรียกว่า “หลักคำ” แต่งตั้งโดยเจ้าเมืองและประชาชน ผ่านพิธีการอภิเษกคล้ายกับพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก แต่เรียกว่า “ฮดสรง”
นักวิชาการด้านศาสนากระแสหลัก มักใช้มุมมองประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม เปรียบเทียบตำแหน่งเหล่านี้ว่าเป็นตำแหน่งเทียบเท่าเจ้าคณะจังหวัด (ปัจจุบัน) เท่านั้น แต่ถ้ามองในบริบทของการปกครองท้องถิ่นในมิติของการมีอำนาจและอธิปไตยแล้ว พระสงฆ์ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆราชาก็ดี สังฆปาโมกข์ก็ดี หรือแม้แต่ตำแหน่งหลักคำ ควรจะมีสถานะเทียบเท่ากับตำแหน่งสังฆราช (ปัจจุบัน) ในความหมายที่มีอำนาจปกครองสูงสุดในการบังคับบัญชาคณะสงฆ์ในหัวเมือง (ประเทศ) อย่างอิสระ
ซึ่งพระสังฆราชา สังฆปาโมกข์ หลักคำ ต่างมีอำนาจสูงสุดและทำหน้าที่ปกครองสูงสุดอย่างเป็นอิสระในแต่ละหัวเมือง ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบหัวเมืองในขณะนั้น ที่ยังคงมีอิสระ และมีอำนาจอธิปไตยในการปกครองตนเอง ก็อาจเปรียบได้ว่ามีลักษณะเทียบเท่ากับประเทศ หรือรัฐหนึ่ง ๆ เพราะมีระบบกลไกการปกครองเป็นประเทศ หรือรัฐอิสระในมิติของการปกครองในปัจจุบัน
ดังนั้น ตำแหน่งสังฆราชา สังฆปาโมกข์ หรือหลักคำ จึงเป็นตำแหน่งที่เปรียบเทียบได้กับตำแหน่งพระสังฆราชในปัจจุบันนั่นเอง อาจกล่าวได้ว่า ในอดีตตำแหน่งสังฆราชในดินแดนสยามมีมากมายกว่าปัจจุบันที่มีการนับพระสังฆราชว่า มีเพียง 19 หรือ 20? องค์เท่านั้น
เอกสารประกอบ
กรมการศาสนา. ประวัติพระพุทธศาสนาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ภาค 1. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา, 2525.
คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานคณะสงฆ์ ในประชุมพระนิพนธ์เกี่ยวกับตำนานพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองธรรม, 2514.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542.
เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546.
นภนาท อนุพงศ์พัฒน์. ผลกระทบของพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ต่อการปกครองคณะสงฆ์ไทย. อักษรศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546.
ปฐม ตาคะนานันท์. คณะสงฆ์สร้างชาติ สมัยรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551.
พระพรหมมุนี (อ้วน ติสฺโส). ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมาและฉลองพระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี. ม.ป.ท., 2479.
วชิรญาณวโรรส, สมเด็จกรมพระยา. พระราชประวัติรัชกาลที่ 5 ก่อนเสวยราชย์. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2504.
วรายุทธ สายทอง. การปกครองคณะสงฆ์ไทยภายใต้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2547.
แสวง อุดมศรี. การปกครองคณะสงฆ์ไทย. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2531.
องค์การค้าของคุรุสภา. กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2537.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มิถุนายน 2561