เบี้ยหวัด หวัดคืออะไร? มีที่มาอย่างไร ทำไมเบี้ยต้องหวัด 

เบี้ยหวัด
(ภาพจาก Photograph album of Siam, 1865-1866)

เคยสงสัยหรือไม่ ในคำว่า เบี้ยหวัด หวัดคืออะไร? แน่นอนว่าหวัดในที่นี้ไม่ได้มีที่มาจากไข้หวัด แล้วมีที่มาจากไหน เกี่ยวข้องอย่างไรกับเงินตอบแทน

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายคำว่า “เบี้ยหวัด” ว่าเป็นคำโบราณ หมายถึง เงินที่มีกำหนดจ่ายเป็นรายปีให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์หรือข้าราชบริพารจากเงินงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนของสำนักพระราชวัง, เงินปี หรือ เบี้ยหวัดเงินปี ก็เรียก

หรืออีกความหมายคือ เงินตอบแทนความชอบที่ให้แก่ทหารที่ออกจากประจำการ โดยจ่ายเป็นรายเดือนตามข้อบังคับของกระทรวงกลาโหม

Advertisement

แต่ก่อนที่จะไปดูที่มาของคำว่า “หวัด” ขอย้อนไปที่คำว่า “เบี้ย” ก่อนสักเล็กน้อย

“เบี้ย” เป็นชื่อหอยทะเลชนิดหนึ่ง ใช้เป็นเครื่องประดับและเงินตราแลกเปลี่ยนซื้อขายมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดย​​เบี้ยที่ใช้เป็นเงินตรามี 2 ชนิด ได้แก่ 1. ชนิด Cypraea moneta Linn. เรียกว่า เบี้ยจั่น หรือเบี้ยจักจั่น และ 2. ชนิด C. annulus Linn. เรียกว่า เบี้ยแก้ว หรือเบี้ยนาง

หอยเบี้ย (ภาพจาก เฟซบุ๊ก : Nan national Museum พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน)

พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า เบี้ยจั่น ได้มาจากมหาสมุทรอินเดีย ส่วนเบี้ยนาง ได้มาจากหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และเกาะบอร์เนียว

ในอดีตมีการใช้เบี้ยกันทั่วไป ดังปรากฏว่าพบโบราณวัตถุเงินตราประเภทนี้มากมายในหลายแหล่งขุดค้น รวมถึงปรากฏการใช้คำว่า เบ้ = เบี้ย ในจารึกหลายหลัก เช่น จารึกวัดป่าใหม่ และจารึกถ้ำจอมธรรม

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาอยุธยา ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ก็บันทึกถึงเบี้ยเอาไว้ส่วนหนึ่งว่า

“…เงินตราราคาต่ำที่สุดที่ใช้กันอยู่ในประเทศสยาม ก็คือเปลือกหอยเล็ก ๆ ดังที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงมาแล้วนั้นเอง กับได้แสดงภาพเท่าขนาดและรูปพรรณจริงให้เห็นแล้ว ชาวยุโรปที่อยู่ในประเทศสยามเรียกเบี้ยนี้ว่า กอริ และชาวสยามเรียกว่า เบี้ย (Bia) เบี้ยชนิดนี้งมกันได้มากมายที่เกาะมาลดีเว่อส์ (Maldives) ลางทีก็มีมาจากประเทศฟิลิปปินส์ แต่เป็นจำนวนน้อย…”

ภาพวาดเงินพดด้วง และหอยเบี้ย ในบันทึกของ ลา ลูแบร์

กลับมาที่คำว่า “หวัด” จากข้อมูลใน “สยามประเภท” ของ ก. ศ. ร. กุหลาบ อธิบายไว้สรุปความได้ว่า “หวัด” มาจากคำว่า “วรรษ” แปลว่า ขวบฝนหนึ่ง หรือฤดูฝนคราวหนึ่ง ซึ่งตรงกับคำว่า วรรษา หรือพรรษา นั่นเอง ขณะที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายคำว่า “วรรษ” ว่าเป็นคำบาลีสันสกฤต หมายถึง ปี, พรรษ, ฝน

ทั้งนี้ ก. ศ. ร. กุหลาบ อธิบายว่า สมัยโบราณจะเขียนว่า “เบี้ยวรรษ” เพื่อสื่อถึงการแจกเบี้ยปีละครั้ง “…แต่คำที่ว่า หวัด ใช้ตัว ห นำน่าตัว ว นั้น ผู้เขียนคัดลอกต่อ ๆ มาคลาดเคลื่อนผิดไปใช้เปน หวัด แต่ผู้อ่านเลียงว่า หวัด นั้นถูกแล้ว…”

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายของ ก. ศ. ร. กุหลาบ เรื่องการอ่านออกเสียง “วรรษ” ว่า “หวัด” ดูจะขัดแย้งในตัว เพราะหากลองฟังเสียงต้นฉบับในอินเดีย वर्ष ตัวนี้แปลว่า “ปี” และเป็นที่มาของคำว่า “วรรษ” นั้น อินเดียอ่านออกเสียงว่า “วัช” ในภาษาไทยก็อ่าน “วรรษ” ว่า “วัด”

เป็นไปได้หรือไม่ว่า คำว่า “เบี้ยวรรษ” สมัยโบราณอ่านว่า เบี้ย-วัด เมื่อมีการจดบันทึกก็เขียนว่า “เบี้ยวัด” แต่มีการคัดลอกผิด เติมตัว “ห” เพิ่มเข้ามาจนกลายเป็นคำว่า “เบี้ยหวัด”

หรือแท้จริงแล้ว ในอดีตก็อาจอ่าน “เบี้ยวรรษ” ว่า เบี้ย-หวัด มาตั้งแต่ต้นอย่างที่ ก. ศ. ร. กุหลาบ อธิบาย แต่ก็ดูจะย้อนแย้งกับคำว่า “วรรษ” ที่อ่านโดด ๆ ว่า “วัด” ไม่ได้อ่านว่า “หวัด” เหมือนอย่างคำว่า “ทศวรรษ” ก็อ่านว่า ทด-สะ-วัด ไม่ได้อ่านว่า ทด-สะ-หวัด

ทั้งหมดนี้ก็คือที่มาของคำว่า “เบี้ยหวัด” โดย “หวัด” ในที่นี้ไม่ได้มาจาก “ไข้หวัด” แต่มาจาก “วรรษ” หมายถึง ปี, ฝน, ฤดูฝน ซึ่ง “หวัด” ใน “ไข้หวัด” ก็คงมีที่มาจาก “วรรษ” นั่นเองโดยไม่ต้องสงสัย 

นั่นคือพอเข้าฤดูฝนเมื่อใด ต้องเจ็บป่วยเจ็บไข้ทุกครั้งไป ซึ่งทางการแพทย์ปัจจุบันอธิบายว่า เมื่อฝนตกจึงมีความชื้นในอากาศสูง เชื้อไวรัสและแบคทีเรียแพร่กระจายในอากาศ และสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ง่าย ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เจ็บป่วย

ส่วนเรื่อง วัด-หวัด ว่าสมัยโบราณออกเสียงอย่างไรกันแน่ อ่าน “หวัด” ตั้งแต่ต้น หรืออ่าน “วัด” แล้วเพี้ยนมาหรือไม่ ก็ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาสืบค้น ชี้แนะ และเผยแพร่ความรู้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษจิกายน 2567