ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“วัดจะทิ้งพระ” แห่งตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นวัดสำคัญมาแต่โบราณ และหลักฐานความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 21-23 ในภาคใต้ของไทย
วัดนี้เดิมชื่อ “วัดสทิงพระ” แต่ต่อมาคนเรียกเพี้ยนจาก สทิงพระ เป็น จะทิ้งพระ เสียอย่างนั้น
วัดสทิงพระสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16 มี “เจดีย์พระมหาธาตุ” ที่สันนิษฐานว่าสร้างก่อนหน้าการสถาปนาวัดตั้งแต่ พ.ศ. 1300 เป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนานิกายมหายาน ลักษณะแบบมณฑปสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ก่อนจะเปลี่ยนเป็นทรงระฆังคว่ำแบบลังกาในภายหลัง
ในตำนานนางพระยาเลือดขาว ระบุว่า เจ้าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองสทิงพาราณสี เป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ ร่วมกับนางเลือดขาว ณ ฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา พร้อมสถาปนาพระพุทธไสยาสน์และพระมหาธาตุเจดีย์
นางเลือดขาวเป็นตำนานที่เล่าถึงการเข้ามาในคาบสมุทรมลายูของพุทธศาสนา หลังสงครามที่พระเจ้าอโศกมหาราชเข่นฆ่าผู้คนไปมากมายในชมพูทวีป คนจำนวนหนึ่งเลือกอพยพมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในคาบสมุทรด้ามขวานดินแดนสุวรรณภูมิ กระทั่งมีการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นบริเวณฝั่งทะเลนอกเขตสทิงพระในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15
องคาพยพดังกล่าวยังเกี่ยวข้องกับการที่พุทธศาสนาเถรวาทจากลังกามายังดินแดนไทยด้วย ได้แก่ การเกิดพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และการสร้างพระพุทธสิหิงค์ในช่วงพุธศตวรรษที่ 18-19 และพระพุทธศาสนาที่แผ่เข้ามาในหัวเมืองมอญ เช่น สะเทิม เมาะตะมะ รวมถึงแคว้นสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ในยุคพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและพญาลิไท
ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่า พระครูอินทเมาลี เจ้าคณะป่าแก้ว ได้เข้ามาบูรณะวัดสทิงพระ ช่วง พ.ศ. 2109-2111 เนื่องจากท่านเคยทำความดีความชอบปราบโจรสลัดแห่งแหลมมลายูมาก่อน พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาจึงสนับสนุนท่านทั้งแรงงานและทุนทรัพย์สำหรับกัลปนาพื้นที่แถบนี้
ทั้งนี้ เจ้าคณะป่าแก้วจะมีบทบาทดูแลวัดต่าง ๆ ในเขตหัวเมืองพัทลุงและรอบทะเลสาบสงขลา มีศูนย์กลางที่วัดเขียนบางแก้วกับวัดสทัง นับว่ามีความสำคัญต่อการปกครองคณะสงฆ์แถบทะเลสาบมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
โบราณสถาน-โบราณวัตถุ วัดจะทิ้งพระ
วัดจะทิ้งพระมีของโบราณสำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะ เจดีย์พระมหาธาตุ เจดีย์ก่ออิฐดินและอิฐปะการังสอดิน เจดีย์องค์เล็ก รวมถึง พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงาม ฝีมือช่างพื้นบ้าน และ วิหารพระพุทธไสยาสน์ ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “วิหารพ่อเฒ่านอน”
วิหารนี้สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา หน้าบันวิหารมีลวดลายปูนปั้น ด้านหน้ารูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ด้านล่างมีรูปยักษ์แบก รูปเทวดา และลายไทยรูปใบไม้ ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ก่ออิฐถือปูน 1 องค์ ผนังเป็นภาพจิตรกรรมพุทธประวัติฝีมือช่างท้องถิ่น สะท้อนศรัทธาและความเชื่อทางพุทธศาสนา รวมถึงภาพวิถีชีวิตชาวบ้าน โดยรวมแล้วสถาปัตยกรรมวัดจะทิ้งพระคือประจักษ์พยานรูปแบบศิลปะลังกายุคแรก ๆ ในดินแดนไทย
สิ่งสำคัญอื่น ๆ ภายในวัดจะทิ้งพระที่ขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร ได้แก่ 1. พระเจดีย์ฐานไม้สิบสอง 2. วิหารพระพุทธไสยาสย์ 3. พระเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม 4. หอระฆัง และ 5. กำแพง
ส่วนชื่อ “จะทิ้งพระ” ก็เป็นเพียงคำที่เพี้ยนเท่านั้น “วัด” ไม่ได้ “จะทิ้งพระ” แต่อย่างใด เพราะทุกวันนี้มีการจัดงานสมโภชพระพุทธไสยาสน์และพระมหาธาตุเจดีย์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปีอยู่
อ่านเพิ่มเติม :
- พุทธศาสนา “ลังกาวงศ์” เข้ามาเมื่อไร? ทางไหน?
- “สงขลาหอน นครหมา นราหมี” ภูมิปัญญาและอารมณ์ขันในการใช้ภาษาของชาวใต้
- แม่เจ้าอยู่หัว เมืองนครฯ อีกหนึ่ง “นางเลือดขาว” ตำนานถิ่นที่พระพันปีหลวงรับสั่งถามที่มา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.). วัดจะทิ้งพระ. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2567. (ออนไลน์)
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. ‘นางเลือดขาว’ ตำนานและภูมิวัฒนธรรมของคนคาบสมุทร. 1 กุมภาพันธ์ 2554. (ออนไลน์)
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม. วัดจะทิ้งพระ. 13 กุมภาพันธ์ 2555. จาก http://www.m-culture.in.th/album/123369
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2567