ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
การใช้พระนามของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หรือบุคคลสำคัญมาตั้งเป็น “ชื่อค่ายทหาร” ต่างๆ ในปัจจุบัน เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ตามที่กระทรวงกลาโหมกราบบังคมทูลขอพระราชทาน “ชื่อ” แก่ค่ายทหาร
ชื่อ “ค่ายทหาร” ก่อนหน้านั้น
สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการสถาปนากองทัพสมัยใหม่ ยังไม่มีการตั้งชื่อให้ค่ายทหารแต่อย่างใด ชื่อของค่ายทหาร ขณะนั้นมักเรียกหรือตั้งตามสถานที่ตั้งของหน่วยงานเป็นสำคัญ เช่น “โรงทหารดุสิต” ใช้ชื่อนี้เพราะตั้งอยู่บริเวณสวนดุสิต ยังไม่มีการพระราชทาน “ชื่อ”
สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ค่ายทหารต่างๆ ยังคงเรียกชื่อตามที่ตั้ง หรือชื่อกรมทหาร เช่น “ค่ายของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ใช้ชื่อว่า “ค่ายกรมทหารราบที่ 1”
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แนวปฏิบัติเกี่ยวกับชื่อของค่ายทหารยังคงสืบทอดต่อกันมา
“ชื่อบุคคล” สู่ “ชื่อค่าย”
ปี 2494 พล. ท. ปลด ปลดปรปักษ์ พิบูลภานุวัธน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นำความขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 9 ขอพระราชทาน “ชื่อค่ายทหาร” จํานวน 5 ค่าย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขอพระราชทานชื่อแก่ค่ายทหาร
ครั้งนั้น รัชกาลที่ 9 พระราชทาน ชื่อค่ายทหารต่างๆ ดังนี้ ชื่อ “ค่ายสมเด็จพระนเรศวร” แก่ค่ายทหารจังหวัดพิษณุโลก, “ค่ายพิชัยดาบหัก” แก่ค่ายทหารจังหวัดอุตรดิตถ์, “ค่ายสุรนารี” แก่ค่ายทหารที่จังหวัดนครราชสีมา, “ค่ายประจักษ์ศิลปาคม” แก่ค่ายทหารที่จังหวัดอุดรธานี และ “ค่ายวชิราวุธ” แก่ค่ายทหารที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
ปี 2495 พล. ท. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะนั้นดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อค่ายทหารเพิ่มเติม
รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “ค่ายพหลโยธิน” แก่กรมจเรทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี (ตั้งแต่ปี 2562 เปลี่ยนชื่อเป็น “ค่ายภูมิพล” ตามพระนามรัชกาลที่ 9), “ค่ายจิรประวัติ” แก่กรมทหารที่จังหวัดนครสวรรค์, “ค่ายสุรศักดิ์มนตรี” แก่กรมทหารที่จังหวัดลําปาง และ “ค่ายกาวิละ” แก่กรมทหารที่จังหวัดเชียงใหม่
ทำไม “ชื่อบุคคล” จึงเป็น “ชื่อค่าย”
ชื่อบุคคลที่พระมหากษัตริย์พระราชทานเป็นชื่อของค่ายทหาร นั้น มักมีความเกี่ยวโยงกันระหว่างจังหวัดที่ตั้งค่ายทหาร และบุคคลสำคัญที่มีคุณูปการกับพื้นที่ เช่น ชื่อ “ค่ายพระยาพิชัยดาบหัก” ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพราะพระยาพิชัยพื้นเพเป็นคนอุตรดิตถ์ มีชื่อเสียงเรื่องความกล้าหาญจากเมื่อครั้งที่สู้รบกับข้าศึกจนดาบในมือหักไปด้ามหนึ่ง แต่ก็ยังคงสู้กับข้าศึกต่อจนได้รับชัยชนะ
การตั้งชื่อค่ายทหารตามชื่อบุคคลสำคัญ นอกจากเป็นการยกย่องสรรเสริญบุคคลเหล่านั้น ยังเป็นการย้ำเตือนให้ทหารตระหนักถึงความจงรักภักดีต่อชาติและพระมหากษัตริย์
ต่อมา นอกจากพระบรมวงศานุวงศ์ หรือวีรบุรุษในอดีต ชื่อพระราชทานสำหรับค่ายทหาร ยังเป็นชื่อของนายทหารในยุคปัจจุบันที่มีความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เช่น “ค่ายเปรมติณสูลานนท์” จังหวัดขอนแก่น ที่มาจากนามสกุล พล. อ. เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และอดีตผู้บัญชาการทหารบก
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เทพ บุญตานนท์. ทหารของพระราชา กับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2565.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม 2567