“เจ้าพ่อหอกลอง” เป็นใคร ทำไม 3 ศาลของท่าน กลับเป็นเจ้าคนละองค์

เจ้าพ่อหอกลอง
ศาลเจ้าพ่อหอกลอง ที่สนามด้านในกระทรวงกลามโหม (ภาพจาก www.mod.go.th)

โดยทั่วไป เจ้าแม่กวนอิม, เสด็จเตี่ย (หรือ กรมหลวงชุมพรฯ), พระพรหม ฯลฯ ไม่ว่าจะประดิษฐานที่ใด ก็เป็นเจ้าแม่กวนอิม, เป็นเสด็จเตี่ย, เป็นพระพรหม ฯลฯ เช่นนี้เสมอมา แต่สำหรับ “เจ้าพ่อหอกลอง” กลับไม่ใช่ “เจ้าพ่อ” องค์เดียวกัน 

จาก “หอกลอง” ถึง “เจ้า(ประจำ)พ่อกลอง”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระนคร ทรงโปรดฯ ให้สร้าง “หอกลองประจำเมือง” ขึ้นตามราชประเพณีโบราณ ที่บริเวณสวนเจ้าเชตุ ปัจจุบันคือ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (เดิม คือ กรมการรักษาดินแดน)

Advertisement

หอกลองสร้างเป็นอาคาร 3 ชั้น และมียอดหลังคา แต่ละชั้นแขวนกลองไว้ 1 ลูก เรียงขนาดจากใหญ่ไปเล็กตามลำดับ และมีหน้าที่การใช้งานเฉพาะดังนี้

หอกลองที่หน้าหับเผย (ปัจจุบันเป็นที่หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน) (ภาพจากหนังสือกรุงเทพฯ ในอดีต

1. ชั้นล่าง แขวนกลองชื่อ “ย่ำพระสุรสีห์” หรือ “ย่ำพระสุรีย์ศรี” ขนาดหน้ากว้าง 82 เซนติเมตร ใช้ตีบอกเวลาย่ำรุ่ง, ย่ำค่ำ และเที่ยงคืนของแต่ละวัน เพื่อเป็นสัญญาณให้เปิด-ปิด ประตูเมือง

2. ชั้นที่สอง แขวนกลองชื่อ “อัคคีพินาศ” ขนาดหน้ากว้าง 60 เซนติเมตร ใช้สำหรับตีเป็นสัญญาณเมื่อเกิดเพลิงไหม้ โดยตี 3 ครั้งเพื่อบอกว่าเพลิงไหม้นอกกำแพง และตีไปเรื่อยๆ จนกว่าเพลิงจะดับถ้าเพลิงไหม้ในกำแพงพระนคร

3. ชั้นที่สาม แขวนกลองชื่อ “พิฆาตไพรี” หรือ “พิฆาตไพรินทร์” ขนาดหน้ากว้าง 44 เซนติเมตร ใช้ตีแจ้งเหตุเมื่อข้าศึกมาประชิดกำแพงพระนคร เพื่อแจ้งให้ราษฎรได้เตรียมตัวป้องกันพระนคร

กลองทั้ง 3 ลูก เชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีเทพยดาอารักษ์เรียกว่า “เจ้าพ่อหอกลอง” 

เจ้าพ่อฯ ศาลหลักเมือง

ใกล้ๆ กับหอกลองดังกล่าวข้างต้น จึงตั้ง “ศาลเทพารักษ์” และมีรูปเทพารักษ์ประจำองค์หนึ่งเรียกว่า “เจ้าพ่อหอกลอง” เป็นรูปเทวดาสวมมงกุฎ หล่อด้วยโลหะปิดทอง สูง 105 เซนติเมตร ยืนบนแท่นแปดเหลี่ยม ยกพระกรทั้ง 2 ข้างสูงระดับอก มีนาครัดข้อพาหุ (แขน) ไปเบื้องหลัง

 

(ซ้าย) เจ้าพ่อหอกลอง   1 ใน 5 เทพารักษ์ ภายใน “ศาลหลักเมือง” (ภาพจาก มติชนออนไลน์, วันที่ 31 ธันวาคม 2564)

 

ภายหลัง “หอกลอง” มีความสำคัญลดลงตามยุคสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อหอกลองลง พร้อมกับให้สร้าง “สวนเจ้าเชตุ” ขึ้นแทน กลอง 3 ลูก นำไปเก็บไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วนเจ้าพ่อฯ อารักษ์หอกลอง ก็อัญเชิญไปสถิตที่ “ศาลหลักเมือง”

เจ้าพ่อฯ ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม

ราวปี 2437 กระทรวงกลาโหม ย้าย “ที่ว่าการ” จากศาลาลูกขุนใน มาอยู่ที่ตั้งปัจจุบัน  มีการสร้าง “หอกลอง” และ “ศาลหอกลอง” ขึ้นที่มุมอาคารด้านตะวันตก ชั้นที่ 3 ของศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ราวปี 2501 ทรุดโทรมมากจึงรื้อออก และสร้างศาลเจ้าพ่อฯ ขึ้นใหม่ที่สนามด้านล่าง

เจ้าพ่อหอกลอง
ศาลหอกลอง” ที่มุมอาคารด้านตะวันตก ชั้นที่ 3 ของศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม (ภาพจาก “เทพ-เทวะ ศักดิ์สิทธิ์-สักการะ”)

แต่หลังจากรื้อศาลหอกลองบนอาคาร และอัญเชิญรูปหล่อเจ้าพ่อฯ ลงมาประทับ ที่ศาลบริเวณสนามของกระทรวงกลาโหม ก็เกิดเหตุมากมายกับผู้บริหารที่ทำงานอยู่ในศาลาว่าการ สุดท้ายจึงต้องตั้งศาลไว้ที่ชั้น 3 ของอาคารตามเดิม อัญเชิญรูปหล่อเดิมกลับขึ้นไป ส่วนศาลใหม่ด้านล่างก็สร้างรูปจำลองมาตั้งแทน

แต่เจ้าพ่อฯ องค์ที่ 2 นี้ ไม่ใช่เทพอารักษ์ แต่เป็น “บุคคลจริง” ในประวัติศาสตร์ คือ “เจ้าพระยาสีร์สุรศักดิ์ (จัน)” เกิดสมัยอยุธยา เป็นทหารเอกในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ท่านชอบให้ทหารตีกลองศึกเวลาออกรบ จึงได้ชื่อว่า “เจ้าพ่อหอกลอง” เจ้าพระยาสีร์สุรศักดิ์ (จัน) รับราชการทหารจนถึงรัชกาลที่ 1 ก่อนจะป่วยและเสียชีวิตราวปี 2341

เจ้าพ่อฯ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน 

ปี 2498 กรมการรักษาดินแดน (ชื่อในขณะนั้น) ย้ายที่ทำการจากท่าพระจันทร์ มาอยู่ที่สวนเจ้าเชตุ สถานที่เดิมที่เคยตั้ง “หอกลอง” จึงมีการตั้ง “ศาลเจ้าพ่อหอกลอง” ขึ้นที่ด้านหลังของกรม

เจ้าพอหอกลอง หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน กระทรวงกลาโหม (ภาพจาก “เทพ-เทวะ ศักดิ์สิทธิ์-สักการะ”)

รูปหล่อของเจ้าพ่อในศาล เป็นชายร่างใหญ่ นั่งขัดสมาธิเพชร มือสองข้างวางบนเข่า มีผ้าพาดไหล่ซ้าย ด้านหลังที่ประทับมีตราอาร์มแผ่นดินอยู่ที่ผนังของศาล สันนิษฐานว่า เจ้าพ่อองค์นี้ คือ “กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท” ที่ตามพระประวัติปรากฏว่า ทุกครั้งที่ทรงออกศึก มักมีรับสั่งให้ทหารตีกลองศึก ปลุกขวัญทหาร และข่มฝ่ายศัตรู

เป็นอันว่าทั้ง 3 ศาล แม้จะชื่อเดียวกัน แต่ไม่ใช่เทพองค์เดียวกัน ไม่เป็นบุคคลเดียวกัน เหมือนศาลเจ้าพ่อ/เจ้าแม่ ชื่อเดียวกันอื่นๆ ที่รูปเคารพเป็นองค์เดียวกัน ต่างกันบ้างที่รูปลักษณะ, เครื่องทรง ฯลฯ  

คลิกอ่านเพิ่ม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง

เทียมสิทธิ์ หลวงสุภา. “หอกลอง” ใน, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2552.

กองบรรณาธิการข่าวสด. เทพ-เทวะ ศักดิ์สิทธิ์-สักการะ, สำนักพิมพ์มติชน 2553.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ตุลาคม 2567.