พุทธศาสนา “ลังกาวงศ์” จากเกาะลังกา เข้ามาเจริญในอุษาคเนย์เพราะอะไร?

แผนที่ระยะทางจากอุษาคเนย์ไปลังกาทวีป ดินแดนพุทธศาสนา ลังกาวงศ์
ส่วนหนึ่งของแผนที่ระยะทางจากอุษาคเนย์ไปลังกาทวีป (ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงธนบุรี เลขที่ ๑๐/ก)

ข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับการเข้ามาของพุทธศาสนานิกายเถรวาท “ลังกาวงศ์” ในไทยและอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปคือ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-19 อาณาจักรเกิดใหม่ของกลุ่มชนไท-ลาว (สุโขทัย อโยธยา ล้านนา ล้านช้าง) พากันชูพุทธศาสนาลังกาวงศ์เป็นศาสนาหลัก แทนที่นิกายมหายานและพราหมณ์-ฮินดู และดำรงสืบมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่ช่วงเวลาเดียวกันนั้น พุทธศาสนาในอินเดียซึ่งเป็นแผ่นดินต้นกำเนิดแทบสิ้นบทบาทไปแล้ว

คำถามคือ พุทธศาสนาลังกาวงศ์มีอะไรดี ชนชั้นนำของรัฐเกิดใหม่ยุคดังกล่าวจึงนิยมชมชอบและอุปถัมภ์นิกายนี้กัน?

การฌาปนกิจพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ในลังกาลังกาวงศ์
ภาพวาดการฌาปนกิจพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ในลังกา (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2551)

คำตอบเรียบง่ายที่สุดคือพุทธศาสนาลังกาวงศ์เหมาะกับสภาพสังคมในเวลานั้น แต่เหมาะสมอย่างไรคงต้องลงลึกไปถึงบริบทหรือสถานการณ์ร่วมสมัย รวมถึงลักษณะเด่นของนิกายข้างต้นว่ามีอะไร “ตรงใจ” จนทำให้เป็นตัวเลือกของชนชั้นนำในอดีต

เนื้อหาต่อไปนี้คือความพยายามในการอธิบายประเด็นเหล่านั้น โดยเรียบเรียงและเก็บความจากงานเขียนนักวิชาการหลายท่านจากหนังสือ “ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย หลังบายน พุทธเถรวาท การเข้ามาของคนไท” (สนพ. มติชน : 2559) ซึ่งมุ่งเน้นที่การนำศาสนามาจัดระเบียบสังคมหรือการเมืองการปกครองของชนชั้นนำ (มิใช่การมุ่งวิเคราะห์หลักธรรม) ดังนี้

โอกาสของ “ผู้มีบุญ”

ลักษณะเด่นประการหนึ่งของพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ให้ทัศนะไว้คือ เป็นนิกายที่เปิดช่องให้พ่อค้าและสามัญชน “ผู้มีบุญ” จากการทำบุญมากให้ได้เป็นพระราชา หรือที่เรียก “สมมติราช”

อย่างกรณีตำนานเมืองของไทย “ท้าวอู่ทอง” ก็เป็นพ่อค้ามาก่อน ทำการค้าเกวียนทางบกและสำเภาทางทะเลจนมั่งคั่ง เมื่อมีทรัพย์สินมหาศาลก็ทำบุญมากตามไปด้วย จึงเป็น “ผู้มีบุญ” ตามคติพุทธเถรวาท และได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน คือ “พระเจ้าอู่ทอง”

ในระยะแรกพุทธเถรวาทแทรกซึมอยู่ในสังคมที่ชนชั้นปกครองเป็นพุทธมหายานและพราหมณ์-ฮินดู แต่เมื่อการค้าข้ามภูมิภาคเฟื่องฟูมากขึ้น พ่อค้าจึงมีบทบาทสูงและสามารถสั่งสมความมั่งคั่งได้ พร้อมกันนั้นก็ยึดเถรวาทเป็นหลัก เพราะเปิดกว้างให้ผู้มีบุญเป็นกษัตริย์จากคติผู้มีบุญ

เถรวาทยังขัดเกลาให้ผู้คนเคารพนอบน้อมและยอมจำนนต่อความมั่งคั่งเข้มแข็งของผู้มีบุญ (พ่อค้า) และสามารถผสานเข้ากับคติรามเกียรติ์ที่ให้ความสำคัญกับ “ความภักดี” ซึ่งแพร่หลายอยู่ในบ้านเมืองที่นับถือศาสนาพราหมณ์อย่างรัฐละโว้ รัฐต้นกำเนิดอาณาจักรอยุธยาอยู่แล้วด้วย

อุดมการณ์ใหม่

เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 18 พุทธศาสนาลังกาวงศ์โดย พระเจ้าปรักกรมพาหุที่ 1 แห่งลังกา เดินทางมาถึงอุษาคเนย์ และแผ่ไปทั่วดินแดนของกลุ่มชนไท-ลาว และเขมร 

ก่อนชาวอุษาคเนย์จะรับพุทธศาสนาลังกาวงศ์ เชื่อกันว่าอารยธรรมจากอินเดีย (ทั้งเนื่องในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ) ได้เข้ามายังดินแดนแห่งนี้นานมากแล้วพร้อมภาษาเขียนและศิลปวิทยาการต่าง ๆ

ไมเคิล ไรท์ เสนอว่า ชนชั้นปกครองเดิมในอุษาคเนย์หลายกลุ่มหลายภาษามีเหตุผลในการนิยมพุทธ (ก่อนลังกาวงศ์) และนิยมพราหมณ์-ฮินดูต่างกัน ดังนี้

ศาสนาพุทธ มีลักษณะด้านอำนาจการปกครองที่ “ยืดหยุ่น” (flexible) และ “รวมเข้า” (inclusive) เช่น กรรม คือ ดีขึ้นหรือเลวลงก็ตามการประพฤติ มีศีลเป็น “สากล” เพราะเป็นกฎร่วมกันของชนทุกชั้น ด้วยวิธีคิดดังกล่าว ชนชั้นนำจจะอ้างกรรมดีและศีลธรรมอันงดงามรับรองสิทธิอำนาจของตน และเชิญชวนให้ชนชั้นล่างเชื่อฟังและประพฤติตาม จึงจะเลื่อนฐานะให้ดีขึ้นได้ (ตรงกับคติชนเรื่อง “ผู้มีบุญ”)

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีลักษณะตรงข้ามกับพุทธโดยสิ้นเชิง มีสูตรการปกครองที่เด็ดขาด ไม่ยืดหยุ่น (inflexible) และแยกออก (exclusive) กรรมถูกกำหนดมาแต่ชาติก่อน ศีลต่างกันตามวรรณะ กษัตริย์และพราหมณ์มีความเลอเลิศตั้งแต่กำเนิด ส่วนจัณฑาล ไม่ว่าจะประพฤติดีงามอย่างไรก็เป็นเสนียดจัญไรอยู่ดี ศาสนาพราหมณ์จึงเป็นประโยชน์ต่อการปกครองที่เข้มงวดตั้งแต่ระดับบนลงล่าง

จากลักษณะเด่นเหล่านี้ “ศักดินาพราหมณ์” (Brahmanic Feudalism) สามารถปักหลักมั่นคงในแผ่นดินเขมร ส่วนพม่า มอญ มลายู รวมถึงกลุ่มชนไท-ลาว ยังคง “ทดลอง” ทั้งพุทธและพราหมณ์ร่วมกันไปก่อน

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ระหว่างที่ชาวอุษาคเนย์ “ลิ้มลอง” วัฒนธรรมระดับสูงจากอินเดียที่มาพร้อม 2 ศาสนาสำคัญอยู่นั้น พุทธศาสนาในอินเดียได้เสื่อมอิทธิพลลงไปมากแล้ว เพราะพุทธมีหลักการปกครองแบบ “ประชาธิปไตยดึกดำบรรพ์” (Primitive Democracy) จากการที่พระพุทธเจ้าไม่ได้แต่งตั้ง “ผู้นำ” ต่อจากพระองค์ แต่แนะให้ใช้หลักธรรมและพระวินัยปกครองกันเอง พุทธศาสนาจึงถูกพราหมณ์ซึ่งมีหลักการปกครองสุดเข้มงวดครอบงำ จนสิ้นพลังทางการเมืองไปในที่สุด

นี่คือสาเหตุหลักที่พุทธศาสนาจากแผ่นดินต้นกำเนิด (อินเดีย) อยู่ในความสนใจของชาวอุษาคเนย์น้อยมาก

เว้นเสียแต่เหตุการณ์ที่ทัพมุสลิมมารุกรานรัฐพิหารและเบงกอล ทำลายสังเวชนียสถาน เผามหาวิทยาลัยนาลันทา ทำให้ชาวพุทธอพยพหนีไปยังเนปาลและทิเบต เชื่อว่าคงมีส่วนหนึ่งลี้ภัยมายังอุษาคเนย์พร้อมพุทธศาสนา “วัชรยาน” หรือพุทธตันตระ ผสมฮินดูและผีพื้นเมือง (สกุลหนึ่งของนิกายมหายาน)

พุทธศาสนาวัชรยานได้เติบโตจนเป็นที่นิยมในพิมาย และแผ่ลงไปถึงพระนครหลวง (ยโสธรปุระ) ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม แต่สุดท้ายก็ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่มีพลังมากพอจะแทนที่อำนาจพราหมณ์ได้อยู่ดี

ขณะที่พุทธศาสนานิกายเถรวาทในเกาะลังกานั้น ชนชั้นนำชาวสิงหล ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองลังกาประสบความสำเร็จในการสถาปนาพุทธศาสนานิกายเถรวาทให้เป็น “ศาสนาประจำชาติ” และ “ศาสนาแห่งรัฐ” ของชาวสิงหลทั้งมวล ทั้งนี้ก็เพื่อต่อกรกับผู้รุกรานชาวทมิฬ ซึ่งเป็นพราหมณ์จากอินเดียใต้

ชาวอุษาคเนย์ที่มีโอกาสได้ติดต่อกับลังกา จึงรับรู้และเห็นแบบอย่างว่า พุทธศาสนาแบบลังกาสามารถเป็นอุดมการณ์ที่เข้มแข็ง และใช้ตอบโต้ชนชั้นนำเก่า (ฮินดู) ในดินแดนของตนได้

ศรีลังกา ลังกา ภาพถ่าย ดาวเทียม
ภาพถ่ายของช่องแคบพัล์กระหว่างอินเดียและศรีลังกา (NASA)

ในที่สุด ศักดินาพราหมณ์ที่เข้มงวดและไร้ความยืดหยุ่นภายในอาณาจักรขอมก็ไม่สามารถจัดการความขัดแย้งภายในแผ่นดินเขมรได้ จึงพังทลายลงในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 18

หลักฐานของการ “พังทลาย” ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในกัมพูชา แต่อยู่ในจารึกสุโขทัย นั่นคือ จารึกหลักที่ 3 (วัดนครชุม) ของพระมหาธรรมราชาลิไทย ซึ่งระบุว่าบันทึกเมื่อ พ.ศ. 1900 ความว่า

“แต่ก่อนพระธาตุนี้ นับถอยหลัง ๑๓๙ ปี ฝูงเจ้าขุนพราหมณ์เศรษฐีถอยจากเป็นมลากเป็นดีเข้าแต่นั้นแล, ยังฝูรู้ลอกโหรทายยาหยูกก็ถอยแต่นั้นแล บ่ชอบบ่ยำเลย”

ความหมายคือ ปีนั้น (พ.ศ. 1761) เกิดเหตุชนชั้นปกครอง (ฝูงเจ้าขุนพราหมณ์เศรษฐี) สิ้นอำนาจ บรรดาโหราจารย์และหมอยาก็ไม่เป็นที่นับถือ วิเคราะห์ได้ว่าเกิดการพลิกขั้วทางอำนาจ ชนชั้นปกครองรุ่นเก่าถูกท้าทาย ขณะที่ชนชั้นนำรุ่นใหม่แสวงหาอุดมการณ์ใหม่มายึดถือ และดูเหมือนว่าพุทธศาสนาวัชรยานที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เคยอุปถัมภ์ก็ถูกพิสูจน์แล้วว่าใช้งานไม่ได้

พุทธศาสนาลังกาวงศ์ซึ่งหลอมจากเบ้าแห่งการต่อสู้กับพราหมณ์-ฮินดู จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด

ไมเคิล ไรท์ ชี้ว่า “ผมไม่เสนอว่าพุทธศาสนาเป็น ‘ประชาธิปไตย’ หรือ ‘สังคมนิยม’ (ในความหมายปัจจุบัน) แต่เพียงมีความยืดหยุ่น (Flexible) และรวมเข้า (Inclusive) ดีกว่าพราหมณ์ ดังนั้นพุทธศาสนาได้สนองความต้องการของสังคมอุษาคเนย์ในยุคนั้น

ในยุคต่อมา (สมัยอยุธยา) พุทธศาสนากลายเป็นอุดมการณ์ของรัฐจึงแข็งตัว แต่ยังรักษาความยืดหยุ่นทางสังคมบ้าง ดีกว่าระบบวรรณะพราหมณ์ที่ถือมาแต่เดิม”

ผศ. ดร. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ สรุปประเด็นดังกล่าวว่า ขณะที่พุทธศาสนาลังกาวงศ์มีบทบาทสูงขึ้นในกลุ่มผู้แสวงหาอุดมการณ์ใหม่ พวกเขายังสร้างเครือข่ายกับคนกลุ่มใหม่ คือ มอญ ลังกา และสลายการพึ่งพากลุ่มอำนาจเดิม นั่นคือชนชั้นปกครองในเขมร ซึ่งเป็นพราหมณ์-ฮินดู 

อาณาจักรใหม่ที่เป็นรัฐพุทธเถรวาทอย่างสุโขทัย อโยธยา (อยุธยา) ล้านนา ล้านช้าง จึงตัดขาดจากอำนาจของศูนย์กลางอันรุ่งเรืองในอดีตบริเวณทะเลสาบเขมรอย่างสิ้นเชิง แล้วเชื่อมตัวเองเข้ากับ “โลกใหม่” คือโลกแห่งการค้าของรัฐพุทธเถรวาท

ท้ายที่สุด แม้แต่ศูนย์กลางอำนาจเดิม (เขมร) ก็ต้องหันมารับพุทธศาสนาลังกาวงศ์ด้วย เพราะไม่สามารถโดดเดี่ยวตนเองจากโลกแห่งการค้าที่กำลังเฟื่องฟูได้

เป็นเหตุผลว่า ทำไมรัฐในอุษาคเนย์ (ภาคพื้นทวีป) จึงยึดถือศาสนาจากเกาะลังกาอย่างเต็มภาคภูมิ และทำให้กลุ่มชนไท-ลาว มอญ เขมร รวมถึงพม่า ที่แม้จะมีวัฒนธรรมเฉพาะตัว แต่สิ่งที่มีร่วมกันและมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาวัฒนธรรมเฉพาะตัว คือ พุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบ “ลังกาวงศ์” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ตุลาคม 2567