ดีเอ็นเอโบราณเผยการพบกันของ “ไวกิ้ง” กับชนพื้นเมืองอเมริกา ก่อนยุคโคลัมบัส

เรือไวกิ้ง ชาวไวกิ้ง
เรือไวกิ้ง (ภาพจาก Wikimedia Commons)

การศึกษา “ดีเอ็นเอ” ของวอลรัสโบราณบนเส้นทางการค้ายุคไวกิ้ง ทำให้พบว่า “ชาวนอร์ส” หรือชาวไวกิ้ง มีการติดต่อกับชนพื้นเมืองอเมริกาในภูมิภาคอาร์กติกเพื่อซื้อขายสินค้ากัน ณ ดินแดนห่างไกลทางเหนือของเกาะกรีนแลนด์ และการติดต่อดังกล่าวเกิดขึ้นหลายร้อยปีก่อนนักสำรวจผู้โด่งดังอย่าง คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) จะ “ค้นพบ” ทวีปอเมริกาเสียอีก

วารสาร Science Advances
วารสาร Science Advances ฉบับวันที่ 27 Sep 2024 (ภาพจาก Preisler et al./Science Advances)

การค้นพบครั้งสำคัญนี้เป็นความร่วมมือของทีมวิจัยนานาชาติ นำโดยมหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University) แห่งสวีเดน และถูกตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Science Advances เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา

ปีเตอร์ จอร์แดน (Peter Jordan) อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยลุนด์ เผยว่า

“สำหรับมนุษยชาติ การติดต่ออันน่าทึ่งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางภูมิประเทศสุดตระการตาและน่าหวาดหวั่นของภูมิภาคอาร์กติกเหนือ มันปลุกทั้งความอยากรู้อยากเห็น ความหลงใหล และความตื่นเต้น”

ตามรอย “นักล่าวอลรัส”

ยุโรปยุคกลางไม่ได้มืดหม่นตามชื่อ “ยุคมืด” (Dark Ages) ชาวยุโรปมีความต้องการสินค้าแปลก ๆ จากต่างถิ่น รวมถึง “เขี้ยว” หรือฟันหน้าอันยาวยืดของ วอลรัส (Walrus) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวอ้วนท้วนคล้ายแมวน้ำ สัตว์ประจำถิ่นของภูมิภาคอาร์กติกหรือเขตขั้วโลกเหนือ

อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่เคยเข้าถึงแหล่งสินค้าสุด “เอ็กโซติก” นี้โดยตรง แต่อาศัยพ่อค้าชาวไวกิ้งซึ่งไม่ได้เก่งกาจแค่ล่องเรือออกปล้นไปทั่วเท่านั้น แต่ยังสามารถพาสินค้าต่างถิ่นมาเสนอขายให้ผู้มั่งมีในยุโรปด้วย

ดูเหมือนว่า ความต้องการสินค้าดังกล่าวได้เรียกร้องให้ชาวนอร์สพาเรือฝ่าทะเลน้ำแข็งอันหนาวเหน็บไปบุกเบิกดินแดนในแอตแลนติกเหนือ จนได้พบกับไอซ์แลนด์และกรีนแลนด์ เพื่อแสวงหาแหล่งค้าเขี้ยววอลรัสแห่งใหม่ด้วย

“สิ่งที่ทำให้เราประหลาดใจคือ เขี้ยววอลรัสจำนวนมากที่ส่งไปขายในยุโรปมีที่มาจากพื้นที่ล่าสัตว์อันห่างไกลในอาร์กติกเหนือ ก่อนหน้านี้เราเชื่อกันมาโดยตลอดว่า ชาวนอร์สแค่ล่าวอลรัสกันแถว ๆ ถิ่นฐานหลักของพวกเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรีนแลนด์” ปีเตอร์ จอร์แดน กล่าว

วอลรัส
วอลรัส (ภาพโดย Pearson Scott Foresman ใน Wikimedia Commons)

ด้าน ดร. มอร์เทน แทนจ์ โอลเซ่น (Dr. Morten Tange Olsen) รองศาสตราจารย์สถาบันโกลบ แห่งโคเปนเฮเกน อธิบายการพิสูจน์แหล่งที่มาของเขี้ยววอลรัสจากรหัสพันธุกรรมกว่า 

“เราสกัด DNA โบราณจากตัวอย่างวอลรัสที่ค้นพบจากสถานที่ต่าง ๆ มากมายทั่วอาร์กติกตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อมีข้อมูลนี้แล้ว เราก็สามารถจับคู่ลายพิมพ์พันธุกรรมของสิ่งประดิษฐ์จาก (เขี้ยว) วอลรัส ซึ่งซื้อขายกันโดยชาวนอร์สแห่งกรีนแลนด์กับแหล่งล่าสัตว์เฉพาะถิ่นในอาร์กติกได้”

เมื่อผลการวิจัยถูกเผยแพร่ออกไป คำถามสำคัญที่ตามมาคือ หากเขี้ยวพวกนี้ถูกพามาจากอาร์กติกเหนือ ชาวนอร์สแห่งกรีนแลนด์มีทักษะและความรู้เรื่องการเดินเรือมากถึงขนาดสามารถผจญภัยไปทั่วน่านน้ำอาร์กติกเหนือซึ่งเต็มไปด้วยน้ำแข็งจริงหรือ?

เกรียร์ จาร์เรตต์ (Greer Jarrett) สมาชิกทีมวิจัยพยายามหาคำตอบด้วยการจำลองเส้นทางเดินเรือที่เป็นไปได้ เขาใช้เรือนอร์เวย์แบบดั้งเดิมล่องตามเส้นทางที่เชื่อว่าชาวนอร์สเคยใช้กัน และได้ข้อสรุปว่า ชาวไวกิ้ง “นักล่าวอลรัส” น่าจะออกจากถิ่นของพวกเขาทันทีที่น้ำแข็งละลาย กลุ่มที่มุ่งขึ้นเหนือจะมีฤดูกาลจำกัดมากในการล่องเรือลัดเลาะตามชายฝั่งเพื่อออกล่าวอลรัสที่เคราะห์ร้าย จากนั้นชำแหละและเก็บหนังกับเขี้ยวของพวกมัน แล้วรีบเดินทางกลับก่อนที่ทะเลจะกลายเป็นน้ำแข็งอีกครั้ง

ชาวนอร์สพบเจออะไรบ้างในการเดินเรือสุดทรหดนี้? แน่ทีเดียวว่า พื้นที่ล่าสัตว์อันห่างไกลในอาร์กติกเหนือไม่ใช่ดินแดนรกร้าง เพราะที่นั่นมี “ชาวอินูอิต” (Inuit) และชนพื้นเมืองอาร์กติกกลุ่มอื่น ๆ อาศัยอยู่ ซึ่งพวกเขาเองก็ล่าวอลรัสและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ในทะเลแถบนั้นเช่นกัน จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะไม่เคยพบกัน

ล่าวอลรัส
ภาพเขียนการล่าวอลรัสในศตวรรษที่ 19 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

การวิจัยยังเผยถึงการติดต่อกันระหว่างชาวนอร์สและชนพื้นเมืองอเมริกาเหนือที่ถกเถียงกันมานานว่ามัน (เคย) เกิดขึ้นจริงหรือไม่ และยืนยันได้ว่าพื้นที่ทะเลเปิดในภูมิภาคอาร์กติกที่เรียกว่า “North Water Polynya” คือพื้นที่ซึ่งกลุ่มคน 2 วัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงได้มาปฏิสัมพันธ์กัน

ขอให้ลองจินตนาการถึงการพบกันระหว่างชาวนอร์สที่มีรูปร่างสูงใหญ่แบบชาวยุโรป หนวดเคราดกหนา ห่มผ้าขนสัตว์ มาพร้อมเรือไม้ขึงผ้าใบแบบเรือไวกิ้ง กับชาวอินูอิต ลูกหลานของกลุ่มชนวัฒนธรรมทูเล (Thule culture) อันมีใบหน้าแบบชาวเอเชีย ผู้พัฒนาเรือคายัค ใช้ฉมวกล่าสัตว์อย่างช่ำชอง และท่องไปทั่วผืนน้ำแข็งด้วยสุนัขลากเลื่อน ไม่มีชนกลุ่มไหนจะปรับตัวให้เข้ากับดินแดนอาร์กติกและเชี่ยวชาญการล่าวอลรัสในน่านน้ำเปิดได้เท่าพวกเขาอีกแล้ว

ด้วยสภาพอากาศอันเลวร้ายและเวลาที่มีจำกัด ชาวนอร์สอาจเลือกหนทางที่ง่ายกว่าการลงมือล่าด้วยตนเองเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าที่พวกเขามีกับเขี้ยววอลรัสในครอบครองของนายพรานชาวอินูอิต

ชาวอินูอิต
ภาพถ่ายชาวอินูอิตในทศวรรษ 1880 (ภาพโดย Jacob Martin Jacobsen ใน Wikimedia Commons)

ปีเตอร์ จอร์แดน ยังเผยด้วยว่า เรายังไม่มีข้อมูลมากพอจะอธิบายว่าการติดต่อระหว่างพวกเขาเป็นไปในลักษณะใด มีการค้าขายจริงจังแค่ไหน มีความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ หรืออะไรบ้างที่เป็นแรงจูงใจส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ดังกล่าว นักวิจัยจึงต้องทำงานหนักกันต่อไป เพื่อมุ่งตอบคำถามเหล่านี้ให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้นในอนาคต

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.science.org/doi/epdf/10.1126/sciadv.adq4127

https://www.lunduniversity.lu.se/article/early-interactions-between-europeans-and-indigenous-north-americans-revealed


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ตุลาคม 2567