ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“เพจเจอร์” เครื่องมือสื่อสารยุคเก่า กลับมาอยู่ในความรับรู้ของผู้ติดตามข่าวสารต่างประเทศอีกครั้ง เมื่อวันที่ 17 กันยายน ปี 2567 เมื่อ“กลุ่มฮิซบอลเลาะห์” ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน บรรจุวัตถุระเบิดไว้ภายในตัวเครื่องเพจเจอร์หลายร้อยเครื่อง แล้วนำเข้าไปในเลบานอน ทำให้เกิดเหตุระเบิดจนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 10 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 ราย
ซึ่งเหตุที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ใช้เครื่องมือชิ้นนี้ เพื่อเลี่ยงไม่ให้อิสราเอลตรวจจับสัญญาณได้ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สื่อสารแบบอะนาล็อก แม้นี่จะเป็นการใช้ในทางที่ผิด ขณะที่อีกมุมหนึ่งในอดีตมันคือเครื่องมือสื่อสารที่ช่วยให้คนรอดตายมาได้หลายครั้ง
แรกมีในโลก
เครื่องมือสื่อสารพกพานี้เกิดขึ้นจากการพัฒนาและทำการจดสิทธิบัตรโดย อัลเฟต เจ. กรอส (Alfred J. Gross) เมื่อ พ.ศ. 2492 และเปิดให้บริการเป็นทางการครั้งแรกในปี 2493 ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ด้วยค่าบริการ 12 ดอลลาร์/เดือน
การทำงานของอุปกรณ์นี้ใช้คลื่นวิทยุในการติดต่อ โดยผู้ใช้บริการและผู้ที่ต้องการติดต่อไม่สามารถโต้ตอบกันได้โดยตรง สําหรับการใช้งาน ผู้เรียกจะโทรศัพท์ไปยังศูนย์บริการ ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติหรือระบบโอเปอเรเตอร์ จากนั้นแจ้งหมายเลขเครื่อง และหมายเลขโทรศัพท์ หรือข้อความที่ต้องการฝาก ระบบจะทําการส่งข้อมูลเข้าสู่ตัวเครื่องที่ต้องการให้
เริ่มใช้ในไทย
เพจเจอร์ (pager) หรือ “วิทยุติดตามตัว” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายว่า “การกระตุ้นเตือนผู้พกพาเครื่องรับวิทยุที่ใช้ติดตัวโดยทางคลื่นวิทยุ ซึ่งกระทำผ่านข่ายโทรศัพท์สาธารณะ การกระตุ้นเตือนอาจประกอบด้วยเสียงพูดหรือรหัสที่มองเห็นได้ ซึ่งส่งมาจากผู้กระตุ้นเตือนหรือจากข่ายโทรศัพท์สาธารณะ”
สำหรับในประเทศไทย มีการนำ “วิทยุติดตามตัว” มาใช้งานประมาณปี 2520 (บ้างว่าปี 2533) มีองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.), การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) และกรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นผู้ดูแลและให้สัมปทาน
ผู้ให้บริการมีอยู่ 6 ราย ได้แก่ Phonelink ของ บริษัท แอ็ดวานซ์ เพจจิ้ง จำกัด, Hutchison ของ บริษัท ฮัทชิสัน เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด, World Page บริษัท เวิลด์เพจ จำกัด, Easy Call ของ บริษัท เลนโซ่ เพจจิ้ง จำกัด, Packlink ของ บริษท แพ็คลิ้งค์ (ประเทศไทย) จำกัด และ Postel ของ บริษัท สามารถ เพจจิ้ง จำกัด
ในระยะแรกผู้ใช้บริการจะได้ข้อความเป็นตัวเลข หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ต้องการให้ติดต่อกลับ เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น ก็สามารถส่งข้อความเป็นตัวอักษรได้ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
กลางทศวรรษ 2540 โทรศัพท์มือถือได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และมีราคาที่ผู้คนทั่วไปพอจะเข้าถึงได้ ทำให้จำนวนผู้ใช้บริการวิทยุติดตามตัวในไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มเติม ท้ายที่สุดผู้ให้บริการต้องยุติการให้บริการ
พระเอกในยามวิกฤต
แม้จะดูเป็น “เครื่องมือสื่อสารตกยุค” แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เหตุวินาศกรรม “911” เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 , เหตุการณ์พายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา ปี 2548 ที่สหรัฐอเมริกา ขณะที่เครือข่ายโทรศัพท์มือถือประสบปัญหาการใช้เครือข่ายเกินพิกัดจนใช้การไม่ได้ แต่วิทยุติดตามตัวสามารถส่งข้อความแจ้งเตือนถึงอุปกรณ์เป็นกลุ่ม
นั่นทำให้มันยังคงได้รับความนิยมในกลุ่มคนบางอาชีพ เช่น เจ้าหน้าที่บริการฉุกเฉิน, เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ ฯลฯ
กิจการเพจเจอร์รายสุดท้ายของโลกอย่าง บริษัท โตเกียว เทเลเมสเสจ (Tokyo Telemessage) ในประเทศญี่ปุ่น จึงอยู่มาได้จนถึงเดือนกันยายน 2561 เพราะลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่เป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลนิยมใช้กัน เเนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ที่มีการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
<https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/5929>
บริษัท เบอร์รา จำกัด. รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ : ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงการบันทึกข้อมูลการคมนาคมและสื่อสาร, สำนักบัญชีประชาชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มิถุนายน 2546.
<https://www.stkc.go.th/stiarticle>
<https://www.matichon.co.th/lifestyle/news_1266121>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2567