“เหรียญพระแก้วมรกต” รัชกาลที่ 7 ทรงสร้างสมนาคุณผู้บริจาคปฏิสังขรณ์วัดพระแก้ว

เหรียญพระแก้วมรกต
เหรียญพระแก้วมรกต ด้านหน้า-ด้านหลัง ที่รัชกาลที่ 7 ทรงสร้าง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม 2563)

“เหรียญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือ “เหรียญพระแก้วมรกต” เป็นเหรียญพระพุทธรูปที่สำคัญที่สุดเหรียญหนึ่งในวงการพระเครื่อง ด้วยพระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านเมือง โดยเหรียญนี้สร้างขึ้นตามพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 7 

วัตถุประสงค์ในการสร้าง

การสร้างเหรียญนี้เกิดขึ้นในวาระที่กรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 150 ปี ใน พ.ศ. 2475 เพื่อบอกบุญเรี่ยไรแก่ประชาชนทั่วประเทศ ที่ต้องการร่วมปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องจากยังขาดเงินที่ต้องใช้ในการบูรณะอยู่อีกจำนวนหนึ่ง

Advertisement

เพื่อประชาสัมพันธ์วัตถุประสงค์ของงาน จึงมีการทำใบปลิวแจกจ่ายบอกบุญเรี่ยไรทั่วราชอาณาจักร โดยโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ พิมพ์ถวายจำนวน 20,000 ชุด ซึ่ง 1 ชุด มี 4 หน้า ด้านหน้าตีพิมพ์เป็นรูปหน้าบันพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีข้อความว่า “ประกาศ บอกบุญในการปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พ.ศ. 2473” 

เหรียญพระแก้วมรกต
ใบประกาศบอกบุญเรี่ยไรปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พ.ศ. 2473 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เนื้อหาใบปลิวสรุปพอสังเขปได้ว่า เริ่มจากพระราชปรารภของรัชกาลที่ 7 ว่า วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดสำคัญ เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มีสภาพทรุดโทรม ในโอกาสที่กรุงเทพฯ ครบ 150 ปี จึงสมควรบูรณปฏิสังขรณ์

การดำเนินการบูรณะ มีค่าใช้จ่ายเป็นเงินประมาณ 600,000 บาท รัชกาลที่ 7 พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 200,000 บาท, ใช้เงินแผ่นดินอีก 200,000 บาท ยังขาดเงินอยู่อีกราว 200,000 บาท ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการเรี่ยไรบอกบุญแก่ประชาชนทั่วไป 

บอกบุญ-เรี่ยไร 

นอกจากยังมีการพิมพ์ประกาศบอกบุญเรี่ยไรลงในราชกิจจานุเบกษา และการอาศัยกลไกราชการของกระทรวงมหาดไทย ให้นำใบปลิวนั้นแจ้งให้ประชาชนทราบโดยทั่วถึง และถี่ถ้วนอย่างมาก มีการกำชับขั้นตอนการบอกบุญจากกระทรวงมหาดไทยถึงสมุหนครบาลโดยละเอียดว่า

เมื่อได้รับใบปลิวแล้วให้ปฏิบัติดังนี้ เตรียมใบปลิวให้พอเพื่อแจกจ่ายไปให้ทั่วถึงในระดับหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ฉบับ, ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านชี้แจงแก่ลูกบ้านให้ชัดเจนเรื่องรายละเอียดการบริจาค, ไม่ปิดประกาศใบปลิวโดยไม่มีการชี้แจง และต้องระวังไม่ให้ใบปลิวโดนแดดและฝน, ข้าราชการมหาดไทยในท้องที่ทั้งหลายนั้นต้องอำนวยความสะดวกในการรวบรวมเงินเรี่ยไรและแจกจ่ายเหรียญที่ระลึกนั้น ฯลฯ

เหรียญพระแก้วมรกต
ใบประกาศบอกบุญเรี่ยไรปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พ.ศ. 2473 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เหรียญสมนาคุณ

การบริจาคเงินครั้งนี้ นอกจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจะออกรับใบเสร็จรับเงินแล้ว ผู้ที่บริจาคเงินตั้งแต่ 5 บาทขึ้นไป จะมีการประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งใบปลิวประชาสัมพันธ์ระบุว่า “เพื่อให้ปรากฏความเลื่อมใสศรัทธาของท่านนั้นๆ อยู่ชั่วกัลปาวสาน” 

ที่สำคัญคือมี “เหรียญพระแก้วมรกต” สมนาคุณแก่ผู้บริจาค (ตามข้อกำหนด)

เหรียญพระแก้วมรกต มีลักษณะเป็นเหรียญทรงกลม ด้านหน้าเป็นรูปพระแก้วมรกตอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ด้านหลังของเหรียญเป็นลายจักร และจารึกคาถาบาลีว่า “วา ละ ลุ กัง สัง วา ตัง วา” ทำจากวัสดุ 4 ประเภท คือ ทอง, เงิน, ทองขาว และทองแดง

ผู้ที่บริจาคตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป ได้รับพระราชทานเหรียญพระแก้วฯ ที่ทำจากทอง, บริจาค 20 บาทขึ้นไป ได้รับพระราชทานเหรียญเงิน, บริจาค 5 บาทขึ้นไป ได้รับพระราชทานเหรียญทองขาว, และผู้ที่บริจาคตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป ได้รับพระราชทานเหรียญทองแดง

การสร้างเหรียญพระแก้วฯ ครั้งนั้นมีจำนวนเท่าใดไม่ทราบได้ แต่ถึงวันนี้คงเหลือจำนวนไม่มาก และเป็นเหรียญหายากอย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วิศรุต บวงสรวง. “เหรียญที่ระลึกและพระพุทธรูปกับการเมืองในบริบทการปฏิวัติสยาม 2475” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม 2563.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2567