ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
นิจ หิญชีระนันทน์ (พ.ศ. 2467-2562) อดีตอธิบดีกรมผังเมือง นักโบราณคดีสมัครเล่นผู้ค้นพบ “เมืองโบราณจันเสน” จากการถ่ายภาพทางอากาศครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2509 หลังจากนั้นจึงเริ่มมีสำรวจขุดค้น และการศึกษาเมืองโบราณจันเสนโดยนักวิชาการ
นิจเข้าศึกษาที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบระดับอนุปริญญา ได้รับทุนศึกษาระดับปริญญญาตรีสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ และปริญญาโทสาขาการวางแผนภาคและเมือง มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา
หลังจบการศึกษาก็กลับมารับราชการในสำนักผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จนได้เป็นอธิบดีกรมผังเมือง ขณะเดียวกันเขาก็ได้ใช้ความรู้การถ่ายภาพทางอากาศ ที่เคยศึกษากับศาสตราจารย์โดแนลด์ เบลเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญวิชาวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ในวิชาชีพสถาปัตย์ และประโยชน์อื่นๆ
นิจ หิญชีระนันทน์ พบ “เมืองโบราณจันเสน”
พ.ศ. 2509 นิจถ่ายภาพทางอากาศสำรวจหาถิ่นฐานเมืองโบราณแห่งหนึ่ง (ปัจจุบันคือ เมืองโบราณจันเสน) ด้วยกล้องส่องประเภทสามมิติ พิจารณาตามแผนที่ภาคกลางของประเทศไทย เมืองโบราณดังกล่าว ตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระหว่างจังหวัดนครสวรรค์กับจังหวัดลพบุรี
หลังจากนั้นนิจได้ลงสำรวจลงพื้นที่จริงตามภาพถ่ายทางอากาศถึง 4 ครั้ง คือ ในเดือนเมษายน, มิถุนายน, กรกฎาคม และสิงหาคม พ.ศ. 2509 โดยนักวิชาการชาวไทยและต่างประเทศ เช่น ศรีศักร วัลลิโภดม อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, พิสิฐ เจริญวงศ์ กรมศิลปากร, เคล้า ฟอน เดร เดกเคน ผู้ศึกษาวิชาการวิเคราะห์และแปลภาพถ่ายทางอากาศ ฯลฯ รวมถึงผู้สนใจติดตามร่วมสำรวจ
นิจและคณะได้พบกับ สว่าง แย้มประเสริฐ กำนันตำบลจันเสน, พระครูนิสัยจริยคุณ หรือ “หลวงพ่อโอด” (พ.ศ. 2460-2533) เจ้าอาวาสวัดจันเสน เจ้าคณะอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ รวมถึงพระสงฆ์และชาวบ้านจันเสนอีกจำนวนหนึ่ง
พวกนำคณะของนิจไปชม “โคกจันเสน” พบฐานสถูปก่อด้วยอิฐ ที่กำลังถูกทำลายเพื่อนำอิฐ, ดิน ไปถมถนนและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงต้องประสานงานกับกรมศิลปากร เพื่อยับยั้งความเสียหายของแหล่งโบราณคดี “จันเสน”
เริ่มขุดค้นทางโบราณคดี
พ.ศ. 2511 การขุดค้นทางโบราณคดี เริ่มขึ้นโดย เบนเนท บรอนสัน และคณะจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ร่วมกับฝ่ายไทยคือ สมพร อยู่โพธิ์ ผู้อำนวยการกองโบราณคดี และคณะจากกรมศิลปากร โดยมี ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี เป็นที่ปรึกษา หลวงพ่อโอด กับพระสงฆ์วัดจันเสน และชาวบ้าน เฝ้าติดตามกิจกรรมการขุดค้น ซึ่งหลวงพ่อโอดได้บันทึกเหตุการณ์ที่พบเห็นในสมุดบันทึกประจำวัน
การขุดค้นและศึกษาสิ่งที่พบพร้อมหาอายุทางวิทยาศาสตร์ของนักโบราณคดี ของบรอนสัน จัดลำดับระยะเวลาของเมืองจันเสนเป็น 6 ระยะ พอสรุปได้ว่า จันเสนเริ่มมีผู้คนอยู่อาศัยครั้งแรกตั้งแต่ ยุคที่ 1 (พ.ศ. 344-453 ยุคโลหะตอนปลาย) และมีพัฒนาและวิทยาการเป็นลำดับในแต่ละยุค จนถึงยุคที่ 6 (พ.ศ. 1343-1539 ยุคทวารวดีตอนปลาย) จันเสนมีประชากรน้อยลง จนกลายเป็นเมืองร้าง หลังการตั้งเมืองข้าหลวงขอมขึ้นที่ลพบุรี
เริ่มจากภาพถ่ายทางอากาศของ “นิจ หิญชีระนันทน์”แหล่งโบราณคดีที่มีอายุกว่า 2,000 ปี วันนี้ก็เป็นที่รู้จักในนาม “เมืองโบราณจันเสน” ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
อ่านเพิ่มเติม :
- สระแก้ว เมืองมโหสถ สระน้ำโบราณ 1,500 ปี
- การจัดการน้ำในเมืองโบราณของไทย ดูวิทยาการและคติเรื่องน้ำของคนในอดีต
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สมโชติ อ๋องสกุล. “จดหมายเหตุนิจ หิญชีระนันทน์ : ศิลปินแห่งชาติ แกนนำผู้อนุรักษ์มรดกไทย” ใน, ศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2562.
พาสุข ดิษยเดช เรียบเรียง. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง. มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542.
เผแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กันยายน 2567