ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ช่วงนี้ฝนตก พายุเข้า หลายจังหวัดประสบพบเจอกับน้ำท่วม ส่วนเขื่อนมากมายก็ต่างเร่งระบายน้ำเพื่อให้แต่ละพื้นที่เลี่ยงกับเหตุการณ์น้ำท่วมหรือน้ำขัง เช่นเดียวกับ “เขื่อนเจ้าพระยา” เขื่อนทดน้ำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ที่ตอนนี้กำลังรับมือกับพายุขนาดใหญ่ที่สร้างความเสียหายให้กับ “เวียดนาม” อย่าง “พายุยางิ”
ประวัติเขื่อนเจ้าพระยา
เขื่อนแห่งนี้ มีแนวคิดริเริ่มในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพื้นที่แถบชัยนาทจนถึงอ่าวไทยจำเป็นต้องใช้น้ำฝนเป็นหลัก และเกษตรกรส่วนใหญ่มักได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากฝนแล้งอยู่เสมอ
พ.ศ. 2445 นายเย โฮมัน วันเดอร์ไฮเด ผู้เชี่ยวชาญด้านการชลประทานชาวฮอลันดา จึงเสนอให้มีโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ ที่ อ. สรรพยา จ. ชัยนาท แต่เนื่องด้วยสยามมีโครงการที่จะพัฒนาประเทศอีกหลายส่วน ทำให้การสร้างเขื่อนนี้ยังไม่เกิดขึ้น
ล่วงเลยจน พ.ศ. 2456 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดภาวะฝนแล้งติดต่อกัน 2-3 ปี จึงเกิดการเสนอโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นอีกครั้ง โดย เซอร์ทอมมัส เวิร์ด ผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษ แต่เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก จึงทำให้ยังไม่สำเร็จผลอีกครั้ง
ผ่านไปหลายสิบปี จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นานาประเทศต่างประสบปัญหาขาดแคลนผลผลิตทางอาหารและเศรษฐกิจก็อยู่ในจุดวิกฤต ทำให้หลายหน่วยงานหันมาสนใจการพัฒนาและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเยอะมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ประเทศไทยได้รับการอนุมัติให้กู้เงินเป็นจำนวน 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากธนาคารโลกให้พัฒนาโครงการเจ้าพระยาใหญ่ มีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยมีแผนการสร้างเขื่อนนี้ที่บริเวณคุ้งบางกระเบียน หมู่ที่ 3 ต. บางหลวง อ. สรรพยา จ. ชัยนาท
เริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2495 และทำระบบระบายน้ำแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2500
หลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้น เขื่อนแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นเขื่อนทดน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างปิดกั้นแม่น้ำเจ้าพระยา มีช่องระบบน้ำกว้าง 12.50 เมตร จำนวร 16 ช่อง เพื่อทดน้ำส่งให้พื้นที่เขตโครงการถึง 17 จังหวัด และระบายน้ำสู่คลองส่งและคลองแยกต่าง ๆ ได้แก่…
คลองชัยนาท-ป่าสัก มีคลองซอยแยกส่งน้ำ 66 คลอง, คลองชัยนาท-อยุธยา มีคลองซอยแยกส่งน้ำ 22 คลอง, แม่น้ำน้อย มีคลองซอยแยกส่งน้ำ 162 คลอง และ คลองมะขามเฒ่ากับแม่น้ำสุพรรณ มีคลองซอยแยกส่งน้ำ 70 คลอง
พิธีเปิดเขื่อนเจ้าพระยา มีขึ้นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (พระยศขณะนั้น ปัจจุบันคือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดเขื่อนเจ้าพระยา
จวบจนปัจจุบัน เขื่อนแห่งนี้ก็ยังมีหน้าที่ทดน้ำช่วยเหลือประชาชน ทั้งยังเป็นแหล่งระบายน้ำสำคัญในการรับมือพายุลูกต่าง ๆ รวมถึงพายุยางิ ที่เกิดขึ้นขณะนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- สรีดภงส-ทำนบพระร่วง เขื่อนอายุกว่า 700 ปี ของสุโขทัย (?)
- “เขื่อนอู่ทอง” อายุ 1,000 ปี สมัยทวารวดี ยาวสุดในบรรดาเขื่อนโบราณของไทย
- ตุรกีย้ายสุสานอายุกว่า 550 ปี หนีน้ำท่วมจากโครงการสร้างเขื่อน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. ประวัติศาสตร์ชัยนาท. กรุงเทพฯ: มติชน, 2558.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กันยายน 2567