รายชื่อพายุ ที่สร้างความเสียหายรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินในไทย

รายชื่อพายุ
(ภาพจาก www.matichon.co.th)

“น้ำท่วมไหม” เป็นคำถามหนึ่งที่ถามกันเยอะในช่วงนี้ คนตอบก็ไม่กล้าฟันธง เพราะต้องดูกันว่าอีก 1-2 เดือนนี้จะมี “พายุ” เข้ามาซ้ำเติมหรือไม่ แล้วที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วง 60 กว่าปีมานี้ พายุที่ขึ้นทำเนียบสร้างความเสียหายรุนแรงในประเทศไทยมีอะไรบ้าง ขอรวบรวม “รายชื่อพายุ” ในช่วงดังกล่าวพอให้เห็นภาพความเสียหายที่ผ่านมา

แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกัน “พายุ” หรือ “พายุหมุนเขตร้อน” ที่แบ่งตามความรุนแรงเป็น 3 ระดับ คือ

Advertisement
  • พายุดีเปรสชัน ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต (63 กม./ชม.)
  • พายุโซนร้อน ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 34 นอต (63 กม./ชม.) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กม./ชม.)
  • พายุไต้ฝุ่น ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอต (118 กม./ชม.) ขึ้นไป
ร่องรอยพายุแฮร์เรียตที่แหลมตะลุมพุก (ภาพจาก www.khaosod.co.th)

รายชื่อพายุในอดีตของไทย

ส่วนรายชื่อพายุที่เข้าไทย แล้วทำให้เกิดความเสียหายรุนแรง, พื้นที่ประสบภัยเป็นวงกว้าง, กระทบกับผู้คนส่วนใหญ่ ระหว่าง พ.ศ. 2505-2564 พอสรุปได้ ดังนี้

พายุโซนร้อน “แฮร์เรียต”

ตุลาคม 2505 เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่บริเวณแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาคใต้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ลงไปถึงนราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 935 คน บ้านเรือนเสียหายกว่า 50,000 หลัง ไร่นาเสียหายนับแสนไร่ รวมมูลค่าเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท

พายุดีเปรสชัน “เฮอร์เบิร์ต” และ “คิม”

เดือนสิงหาคม 2526 เข้าประเทศไทย เกิดฝนตกหนัก, เขื่อนและอ่างเก็บน้ำไม่สามารถรองรับน้ำได้ ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในหลายจังหวัดของภาคเหนือ, อีสาน และตะวันออก เมื่อปริมาณน้ำเหนือที่ไหลสู่ภาคกลางและน้ำทะเลหนุนสูงช่วงปลายเดือนสิงหาคม ทำให้ กทม. และปริมณฑล เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง

ถนนใน กทม. มากกว่า 30 สาย เช่น ถนนรามคำแหง, ถนนสุขุมวิท, ถนนวิภาวดีรังสิต, ถนนเพชรเกษม ฯลฯ น้ำท่วมขัง รถยนต์ไม่อาจสัญจรได้ตามปกติ ประชาชนต้องใช้เรือในการเดินทางแทน

พื้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง และสนามกีฬาหัวหมาก น้ำท่วมตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม-เดือนพฤศจิกายน 2526 สถานการณ์จึงค่อยดีขึ้น สรุปพื้นที่เสียหาย 42 จังหวัด ผู้เสียชีวิต 49 ราย มูลค่าความเสียรวม 6,000 ล้านบาท

เรือวิ่งแข่งกับรถเมล์ เมื่อน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2526 (ภาพจากบทความ “กรุงเทพฯ คืนสู่ทะเล มหานครใต้บาดาล”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน 2536)

พายุไต้ฝุ่น “เกย์”

เดือนพฤศจิกายน 2532 เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณ อ. ปะทิว อ. ท่าแซะ จ. ชุมพร สร้างความเสียหายอย่างมากต่อชีวิตและทรัพย์สิน อ. ปะทิว อ. ท่าแซะ ใน จ. ชุมพร และ อ. บางสะพานน้อย, อ. บางสะพาน ใน จ. ประจวบคีรีขันธ์ แม้น้ำท่วมกินพื้นที่ไม่มาก แต่กระทบกับประชาชนจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 600 คน, ผู้บาดเจ็บ 5,495 คน, บ้านเรือนเสียหาย 61,258 หลัง, ทรัพย์สินสูญเสียประมาณ 12,000 ล้านบาท

พายุดีเปรสชัน “โอริส”

เดือนสิงหาคม 2538 เกิดพายุหลายลูกพัดเข้าสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะพายุโอริส ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมหลายจังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ รวมพื้นที่เกิดอุทกภัยทั้งสิ้น 68 จังหวัด 585 อำเภอ ประชาชนได้รับความความเดือดร้อน 4.5 ล้านคน, เสียชีวิต 260 คน มูลค่าความเสียหายมากกว่า 6,500 ล้านบาท

ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา วัดที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ สูงถึง 2.27 เมตร สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (เท่าน้ำท่วม พ.ศ. 2485) ทำให้น้ำล้นคันป้องกันริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำสูงถึง 50-100 ซม. น้ำเหนือหลากท่วมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี หมู่บ้านไวท์เฮ้าส์ ตอนเหนือของกรุงเทพฯ นาน 2 เดือน

พายุโซนร้อน “ไหหม่า”, “นกเตน”,  “ไห่ถาง”,  “เนสาด” และ “นาลแก”

ปี 2554 ไทยเผชิญกับสถานการณ์ลานีญา ที่ทำให้ฝนมาเร็ว และมีปริมาณมากกว่าปกติทุกเดือน พอถึงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ก็ต้องเผชิญกับพายุโซนร้อน 5 ลูก ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้ง กทม. จนเรียกว่า “มหาอุทกภัย”

วันที่ 22 ตุลาคม น้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) และตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม ไหลเข้าท่วมสนามบินดอนเมือง, มหาวิทยาลัยวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วขยายวงกว้างไปทั่วเขตดอนเมือง เขตจตุจักร บริเวณที่น้ำท่วมกระจายไปทั่วในเกือบทุกๆ เขตพื้นที่ทั้งทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ

น้ำท่วมรันเวย์สนามบินดอนเมือง มหาอุทกภัยปี 2554 (ภาพจาก www.matichon.co.th)

พายุโซนร้อน “ปาบึก”

ต้นเดือนมกราคม 2562 พายุโซนร้อนปาบึกเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณ อ. ปากพนัง จ. นครศรีธรรมราช เคลื่อนผ่าน อ. อ่าวลึก จ. กระบี่ และลงสู่ทะเลอันดามันที่ อ. ทับปุด จ. พังงา ทำให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวน และมีฝนตกน้ำท่วม ส่งผลกระทบโดยตรงกับพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด รวมถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ส่งผลกระทบโดยอ้อมกับ  7 จังหวัดชายฝั่งทะเล ได้แก่ ระยอง, จันทบุรี, ชลบุรี, ตราด, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ

พายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่”

ปลายเดือนกันยายน 2564 พายุเข้าสู่ประเทศไทยที่ จ. มุกดาหาร แม้จะลดกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน แต่เมื่อรวมกับอิทธิพลของความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรง ส่งผลให้เกิดมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงในเวลาใกล้ๆ กัน ถึง 2 ระลอก ทำให้เกิดอุทกภัยในทุกภาคของประเทศกินพื้นที่ถึง 70 จังหวัด, มีผู้เสียชีวิต 42 ราย, บ้านเรือนเสียหาย ราว 2 แสนหลัง, พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 3.32 ล้านไร่ ฯลฯ

รายชื่อพายุที่รวบรวมนี้ไม่ได้ต้องการสร้างความวิตกกัน แต่จากประสบการณ์ปี 54 เรื่องน้ำนั้นประมาทไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ไม่ระบุชื่อผู้เขียน. “สถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เข้าสู่ประเทศไทย” ใน, สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 34, มูลนิธิสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2546.

ไม่ระบุชื่อผู้เขียน. บันทึกเหตุการณ์สาธารณภัยรุนแรง ในประเทศไทย พ.ศ. 2485-2564, ศูนย์ข้อมูลสาธารณภัย กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย.

<https://tiwrmdev.hii.or.th/current/menu.html.>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2567