ต้นฉบับการเดินทางของ “พระถังซำจั๋ง” ก่อนเป็นไซอิ๋วที่มีเทพวานร “ซุนหงอคง”

พระถังซำจั๋ง ซุนหงอคง ไซอิ๋ว
ภาพวาดการเดินทางของคณะพระถังซำจั๋ง (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ไซอิ๋ว หรือ “บันทึกการเดินทางไปตะวันตก” คือเรื่องราวการไปอินเดียหรือชมพูทวีปของพระถังซำจั๋งและศิษย์ เป็น 1 ใน 4 “นิยายมหัศจรรย์” ของราชวงศ์หมิง อันประกอบด้วยเรื่อง ไซอิ๋ว สามก๊ก ซ้องกั๋ง และ จินผิงเหมย แต่เรื่องเป็นยอดแห่งความมหัศจรรย์และอภินิหารต้องยกให้ไซอิ๋ว เพราะทั้งสนุกและลึกซึ้งมาก สามารถตีความได้หลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะการแฝงธรรมะเรื่องอริยสัจ 4 ไว้ตลอดเรื่องอย่างแยบคาย

พระถังซำจั๋ง พระเสวียนจั้ง เดินทาง กลับจาก อินเดีย
จิตรกรรมฝาผนังถ้ำตุนหวง ราวพุทธศตวรรษที่ 13 ที่มีภาพพระเสวียนจั้งกำลังเดินทางกลับจากอินเดีย (Wikimedia Commons)

ผู้แต่งไซอิ๋ว “อู๋เฉิงเอิน” (พ.ศ. 2043-2125) มีชีวิตอยู่สมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1811-2187) เขาใช้เค้าความจริงในประวัติศาสตร์การเดินทางไปอินเดียของพระถังซำจั๋ง ซึ่งถูกนำมาแต่งเติมเป็นนิทานเล่าสืบต่อกันมาและนำไปแสดงงิ้ว มาเป็นข้อมูลประกอบเรื่องราวทั้งหมดในวรรณกรรมเรื่องนี้

Advertisement

ตามประวัติศาสตร์ พระถังซำจั๋ง หรือสมณะเสวียนจั้ง เป็นพระเถระคนสำคัญของจีน มีชีวิตอยู่ในปลายราชวงศ์สุยถึงต้นราชวงศ์ถัง อันเป็นยุคทองของประวัติศาสตร์จีน หลังจากบวชแล้วท่านได้ศึกษาพุทธศาสตร์กับอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงทั่วแผ่นดินจีน แล้วตั้งปณิธานว่าจะไปศึกษาต่อที่อินเดียด้วย แต่เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศ สมณะเสวียนจั้งจึงไปโดยไม่ขออนุญาตต่อทางการเมื่อ พ.ศ. 1172 ขณะท่านอายุ 29 ปี

ในการเดินทางสุดบากบั่นครั้งนั้น พระถังซำจั๋งต้องผ่านอุปสรรคนานัปการจนแทบเอาชีวิตไม่รอด ข้ามฝ่าทะเลทรายโกบีที่ร้อนระอุ ไร้ผู้คน ปีนป่ายข้ามเทือกเขาเทือกเขาฮินดูกูชอันสูงชันตัวคนเดียว จาริกผ่านแคว้นต่าง ๆ นอกแดนแผ่นดินจีนและอินเดียอีกนับร้อยแคว้น ก่อนจะได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยนาลันทา ศึกษาพุทธศาสนานิกายโยคาจารย์ วิชาตรรกศาสตร์ และอื่น ๆ ทั้งยังออกจาริกไปทั่วชมพูทวีป เพื่อศึกษาเพิ่มและไปเยือนพุทธสถานสำคัญต่าง ๆ

หลังใช้ชีวิตอยู่ในอินเดีย 17 ปี พระถังซำจั๋งจึงเดินทางกลับจีนใน พ.ศ. 1188

ทั้งหมดนี้คือเรื่องย่อการเดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาในอินเดียของพระถังซำจั๋ง แล้วความมหัศจรรย์ต่าง ๆ ในวรรณกรรมไซอิ๋วเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

เสวียนจั้ง ถังซำจั๋ง ไซอิ๋ว
ภาพวาดสมณะเสวียนจั้งของญี่ปุ่นสมัยคามาคุระ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ต้นเค้าวรรณกรรมไซอิ๋ว

จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง คือหนังสือเล่มแรกที่บันทึกเรื่องราวของพระถังซำจั๋งอย่างละเอียด เขียนจากบอกเล่าโดยพระถังซำจั๋งเอง โดยมี สมณะเปี๋ยนจี ศิษย์ของท่านเป็นผู้จดบันทึก มีการวิเคราะห์ว่าจดหมายเหตุฯ ดังกล่าวเกิดขึ้นตามกระแสรับสั่งของพระเจ้าถังไท่จง เพราะทรงอยากรู้จักดินแดนต่าง ๆ ในอินเดียและเอเชียกลางที่สมณะเสวียนจั้งได้พบเห็น

บันทึกได้ให้รายละเอียดเป็นประวัติแคว้นต่าง ๆ ในอินเดียโบราณและเอเชียกลางที่สมณะเสวียนจั้งจาริกไปถึงราว 110 แคว้น และอีกประมาณ 28 แคว้น ที่บันทึกจากคำบอกเล่าของคนท้องถิ่น ทำให้ราชวงศ์ถังมีข้อมูลภูมิประเทศและขนาดพื้นที่ของแคว้นต่าง ๆ ตลอดจนการทำกสิกรรม การค้า วัฒนธรรม ประเพณี อักษร ภาษา เงินตรา และกิจกรรมทางศาสนา

หนังสือเล่มนี้จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอินเดียและเอเชียกลางในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12 อย่างละเอียดที่สุด รอบด้านที่สุด เท่าที่ประวัติศาสตร์จีนเคยมีการบันทึกมา ที่สำคัญคือหนังสือนี้มีส่วนช่วยให้พระเจ้าถังไท่จงขยายอิทธิพลราชวงศ์ถังออกไปครอบคลุมถึงดินแดนในเอเชียกลางได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนชีวประวัติของพระถังซำจั๋ง ภิกษุฮุ่ยลี่ ศิษย์ของท่านเป็นผู้เขียน ชื่อเต็มแปลจากภาษาจีนคือ ประวัติพระธรรมาจารย์ตรีปิฎกแห่งวัดมหากรุณาธิคุณาราม โดยวัดมหากรุณาธิคุณารามเป็นวัดที่พระเจ้าถังเกาจงสร้างถวายพระถังซำจั๋ง ณ เมืองซีอาน

ชีวประวัติเล่มนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระถังซำจั๋งไว้สมบูรณ์ที่สุด และเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญร่วมกับจดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง ที่ค่อย ๆ พัฒนากลายเป็นวรรณกรรมเรื่องไซอิ๋วของอู๋เฉิงเอิน

หลังการเดินทางไกลครั้งนั้น ความวิริยะอันแน่วแน่ของพระถังซำจั๋งสะกดใจคนจีนมาก พวกเขาเชิดชูท่านเป็นวีรบุรุษทางธรรมะมาทุกยุคทุกสมัย อุปสรรคต่าง ๆ ที่ท่านต้องฟันฝ่ามีหลายเหตุการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจและมีสีสันราวนิยายได้ถูกนำมาเล่าเป็นนิทานตั้งแต่กลางราชวงศ์ถัง

ยุคห้าราชวงศ์ เริ่มมีจิตรกรนำนิทานเหล่านี้ไปเขียนเป็นจิตรกรรมฝาผนัง เมื่อเล่าต่อ ๆ กันนานเข้า เรื่องราวก็ยิ่งวิจิตรพิสดารขึ้นเรื่อย ๆ อุปสรรคระหว่างการเดินทางถูกแต่งเติมให้เป็นภูตผีปีศาจ คนจีนที่เคยฟังแต่นิทานเรียบ ๆ ไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์ เมื่อได้ฟังนิทานชาดกและฤทธิ์เดชเวทมนตร์ในแบบนิทานอินเดียก็เกิดความตื่นตาตื่นใจ เราจึงเห็นความคล้ายกันระหว่างหนุมานในรามายณะของอินเดียกับซุนหงอคงหรือเห้งเจียในไซอิ๋ว

ทั้งนี้ กว่าซุนหงอคงจะโผล่มาในไซอิ๋วก็ยุคราชวงศ์ซ่งใต้ (พ.ศ. 1670-1819) แล้ว ตามมาด้วยศิษย์พระถังซำจั๋งตนอื่น ๆ เป็นต้นเค้าของวรรณกรรมไซอิ๋วที่ซุนหงอคงมีฤทธิ์มาก และมีบทบาทเด่นกว่าพระถังซำจั๋งเสียอีก

ซุนหงอคง เห้งเจีย ไซอิ๋ว
ภาพวาดซุนหงอคง (ภาพจาก Wikimedia Commons)

อู๋เฉิงเอินได้รวบรวมนิทานที่เกี่ยวข้องกับไซอิ๋ว ซึ่งเล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่ราชวงศ์ถัง และนิทานในสมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หยวนถึงต้นราชวงศ์หมิง มาจัดระเบียบ ขัดเกลา แก้ไข แต่งเติม แล้วร้อยเรียงใหม่เป็นเทพนิยายหลากสีสัน วรรณกรรมเรื่องไซอิ๋วฉบับสมบูรณ์ อันกลายมาเป็นเพชรน้ำเอกแห่งวงการวรรณคดีจีนที่เรารู้จักกันทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เก็บความจากบทความ “ไซอิ๋ว : ยอดนิยายมหัศจรรย์” เขียนโดยถาวร สิกขโกศล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2552


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 สิงหาคม 2567