ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงเป็นหนึ่งในพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการปรุงอาหารเป็นอย่างยิ่ง แม้พระองค์จะสิ้นพระชนม์ไปแล้วเกือบร้อยปี แต่สูตรอาหารสำรับพระวิมาดาเธอฯ ก็ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน อีกประการคือ พระองค์ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม ปรากฏในคำชมของเจ้าจอมสดับ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าจอมที่รัชกาลที่ 5 โปรดปรานยิ่งท่านหนึ่ง
พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ
พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ทรงมีพระนามแรกประสูติว่า หม่อมเจ้าสาย ลดาวัลย์ ทรงเป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) กับหม่อมจีน ประสูติเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2405
ขณะทรงพระเยาว์ ประทับอยู่ที่วังพระบิดา โดยมี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร หรือที่ชาววังขานพระนามเฉลิมพระเกียรติว่า “ทูลกระหม่อมแก้ว” เป็นผู้อภิบาล
พระองค์ทรงมีพระโสทรเชษฐภคินี 2 พระองค์ คือ หม่อมเจ้าบัว ลดาวัลย์ และ หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์ เมื่อทุกพระองค์ทรงเจริญวัยขึ้นก็ได้เข้ารับราชการฝ่ายในเป็นพระอรรคชายาเธอในรัชกาลที่ 5 ทั้ง 3 พระองค์ โดยทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง (ด้วยทรงเป็นพระราชนัดดาในพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนๆ)
หม่อมเจ้าบัว มีพระอิสริยยศเป็น พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา, หม่อมเจ้าปิ๋ว มีพระอิสริยยศเป็น พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ และหม่อมเจ้าสาย มีพระอิสริยยศเป็น พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ
พระอรรคชายาเธอฯ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ทรงมีหน้าที่ควบคุมดูแลห้องพระเครื่องต้น ของเสวยคาวหวาน ทั้งยังทรงก่อตั้งโรงเลี้ยงเด็กขึ้นเป็นแห่งแรกในสยาม ที่ตำบลสวนมะลิ ถนนบำรุงเมือง เป็นการอุทิศพระกุศลประทาน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี ภัทรวดีราชธิดา พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 5 ที่ประสูติแต่พระอรรคชายาเธอฯ ที่สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2432 สิริพระชันษา 5 ปี
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระอรรคชายาเธอฯ ขึ้นเป็นพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
พระวิมาดาเธอฯ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2472 สิริรวมพระชันษา 66 ปี
พระสิริโฉม พระวิมาดาเธอฯ ในสายตาเจ้าจอมสดับ
เจ้าจอมสดับ เดิมมีนามว่า หม่อมราชวงศ์สั้น ลดาวัลย์ เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2433 เป็นธิดาในหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ กับหม่อมช้อย ลดาวัลย์
หม่อมเจ้าเพิ่ม ทรงเป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ประสูติแต่หม่อมสาด ดังนั้น เจ้าจอมสดับจึงเป็นพระญาติในพระวิมาดาเธอฯ
เจ้าจอมสดับเคยเล่าถึงพระสิริโฉม พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ กับพระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ไว้ว่า
“พระวิมาดาเธอฯ เมื่อสาวๆ เขาเล่ากันว่าท่านสวยงามนัก หม่อมแม่ข้าพเจ้าบอกว่า คุณตาของข้าพเจ้าชมว่าเป็นผู้งาม 4 ทิศ หายาก แต่สำหรับนัยน์ตาข้าพเจ้าเห็นว่าพระอัครชายาพระองค์กลางงามกว่า ที่พูดดังนี้ที่จริงข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระองค์ท่าน เพราะสิ้นพระชนม์ก่อนที่ข้าพเจ้าจะเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เห็นแต่พระรูปก็เห็นชัดว่าพระพักตร์หวานอ่อน
ส่วนพระอัครชายาพระองค์เล็กท่านงามคม ทูลกระหม่อมแก้วไม่ค่อยจะทรงสะอื้นโอ๊ะอี๋นัก โปรดน้อยกว่าท่านองค์กลาง
เขาเล่ากันว่าท่านองค์เล็กเป็นคนช่างเพ็ดช่างทูล ถ้าทูลกระหม่อมแก้วกำลังรับสั่งหรือทรงทำอะไรอยู่ที่ยังไม่มีพระประสงค์จะให้ความทราบถึงเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พอท่านองค์เล็กโผล่เข้าไปถึงพระองค์ ก็ต้องทรงหยุดทันที กลัวจะเก็บไปเล่าถวาย
ฝ่ายท่านองค์กลาง ทูลกระหม่อมแก้วทรงพระเมตตากรุณามาก เล่ากันว่าเวลาทรงพระครรภ์ ทูลกระหม่อมแก้วถึงกับทรงฝนพระโอสถทาพระนาภีให้เอง ประสูติแล้วก็ทรงเลี้ยงพระกุมารีนั้นด้วยพระองค์เอง จนเจ้านายชั้นใหญ่ๆ ที่ได้รับประสบการณ์ในขณะนั้นแทบทุกพระองค์รับสั่งกันอย่างขบขันว่า ใครจะประจบทูลกระหม่อมแก้วก็ต้องไปอุ้มสมเด็จหญิงใหญ่ลูกท่านองค์กลางให้ทอดพระเนตรเห็น เท่านั้นแหละโปรดเกิ๊กก๊ากทีเดียว…”
ในสายตาเจ้าจอมสดับ ถือได้ว่าทั้ง 2 พระองค์ทรงมีพระสิริโฉมโดดเด่นต่างกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระภรรยาเจ้า” ในรัชกาลที่ 5 มีกี่พระองค์ และพระองค์ใดบ้าง?
- ทำไมสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ไม่โปรดภาพคู่ รัชกาลที่ 5 ทรงฉายกับพระวิมาดาเธอ?
- เครื่องเพชร “เจ้าจอมสดับ” เจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 กับการตั้ง รพ.จุฬาลงกรณ์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ธงทอง จันทรางศุ. ในกำแพงแก้ว. กรุงเทพฯ : มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 4, 2566.
ภาพ : พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ โดย Lalissamano – งานของตัว, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=112990221
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 สิงหาคม 2567