ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ประจวบคีรีขันธ์” เป็นอีกจังหวัดที่มีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่พระองค์ได้เสด็จทอดพระเนตร “สุริยุปราคาเต็มดวง” ที่หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงพระองค์ยังพระราชทานนามชื่อเมืองนี้ให้เป็นคู่แฝดกับอีกเมืองหนึ่งด้วย
ประจวบคีรีขันธ์และประจันตคีรีเขต
เหตุที่ได้ชื่อว่า “ประจวบคีรีขันธ์” เนื่องจากรัชกาลที่ 4 พระราชทานนามให้ หลังจากรวบรวมเมืองต่าง ๆ ให้อยู่ในพื้นที่เมืองประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ เมืองบางนารม เมืองกุยบุรี และเมืองคลองวาฬ
ชื่อเมืองประจวบคีรีขันธ์ พระองค์ทรงมีความคิดให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่เกาะกง ซึ่งเดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองตราดมาก่อน นามว่า “เมืองประจันตคีรีเขต” ปรากฏในหลักฐานว่า…
“ขุนสารประเสริฐ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า เมืองบางนางรมย์นั้น โปรดเกล้าฯ ให้เรียกเมืองประจวบคีรีขันธ์ กับที่เกาะกงนั้น โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่าเมืองปัจจันตคีรีเขตร ให้กรมวัง หมายไปยังกรมพระกลาโหม กรมท่า กรมพระศุภรัตสัสดีซ้ายขวา ให้เรียกชื่อเมืองทั้งสอง ให้ถูกต้องตามรับสั่ง…”
อย่างไรก็ตาม หลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เกาะกงหรือพื้นที่ดังกล่าวก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชาจนปัจจุบัน
ในสมัยรัชกาลที่ 5 อีกเช่นกัน พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดการปกครองส่วนภูมิภาคแบบเทศาภิบาล ประจวบคีรีขันธ์ที่เป็นเมืองเล็ก จึงถูกยุบจากเมืองเป็นอำเภอ ขึ้นตรงกับเมืองเพชรบุรี แต่ยังคงตั้งที่ว่าการอยู่ที่เมืองกุย (ต่อมาย้ายที่ว่าการอำเภอมาที่อ่าวเกาะหลักหรืออ่าวประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน)
พ.ศ. 2449 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้รวมอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองปราณบุรี ที่ขึ้นกับเมืองเพชรบุรี และอำเภอเมืองกำเนิดนพคุณ ที่ขึ้นกับเมืองชุมพร ตั้งเป็นเมืองปราณบุรี และให้ขึ้นตรงกับมณฑลราชบุรี
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงคาดว่าในสยามมีเมืองปราณอยู่ 2 แห่ง อีกแห่งหนึ่งคือที่ปากน้ำ จึงทรงเปลี่ยนนามเมืองปราณบุรี ที่ตำบลเกาะหลัก เป็น “เมืองประจวบคีรีขันธ์” ตามที่รัชกาลที่ 4 เคยพระราชทานนามไว้ และยังคงอำเภอไว้ 3 ชื่อดังเดิม ได้แก่ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอปราณบุรี และอำเภอนพคุณ
กระทั่ง พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคขึ้นใหม่ เมืองประจวบคีรีขันธ์จึงได้ยกขึ้นเป็น “จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” ประกอบไปด้วย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอปราณบุรี อำเภอบางสะพาน อำเภอหัวหิน อำเภอทับสะแก อำเภอกุยบุรี และกิ่งอำเภอสะพานน้อย นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดที่มา “อุดรธานี” จังหวัดแรกของไทย ที่มี “บ้านเชียง-ภูพระบาท” เป็นมรดกโลกถึง 2 แห่ง
- ทำไมจังหวัดอุบลราชธานี ลงท้ายด้วย “ราชธานี” ทั้งที่ไม่ใช่เมืองหลวง
- “หนองคาย” เมืองริมฝั่งโขง บ้านเกิด “จันทร์แจ่ม” มวยหญิงไทยดาวรุ่งโอลิมปิก เป็นมาอย่างไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. กรมศิลปากร: กรุงเทพฯ, 2544
อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. “พลเมืองเกาะกง”และ “ปัจจันตนคโรปมคาถา”:วรรณกรรมพุทธศาสนากับการแสดงความเป็นไทยพลัดถิ่นของชาวเมืองเกาะกง. ใน วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. ปีที่ 16 ฉบับเดือนมกราคม-ธันวาคม พ.ศ. 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 สิงหาคม 2567