“ชีค ฮาสินา” ผู้นำบังกลาเทศ ถูกมวลชนไล่ เพราะสงวนงานให้ลูกหลานทหารผ่านศึก

ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีหญิง แห่ง ประเทศบังกลาเทศ
ชีค ฮาสินา (ภาพโดย UK Department for International Development ใน Flickr สิทธิการใช้งาน CC BY 2.0)

ต้นเดือนสิงหาคม 2567 ชีค ฮาสินา (Sheikh Hasina) นายกรัฐมนตรีหญิงวัย 76 ปี ของบังคลาเทศ ลาออกจากตำแหน่งและลี้ภัยออกนอกประเทศ เนื่องจากมวลชนที่เดือดดาลบุกเข้าไปในบ้านพักของเธอ หลังสถานการณ์การประท้วงอันดุเดือด นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศบังกลาเทศ

เกิดอะไรขึ้นที่บังกลาเทศ?

อันบาราซาน เอธิราจัน บก. ภูมิภาคเอเชียใต้ของ BBC เล่าว่า ความรุนแรงในบังกลาเทศตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศแห่งเอเชียใต้ ซึ่งมีประชากรถึง 170 ล้านคน อย่างน้อยก็เลวร้ายที่สุดในความทรงจำของคนที่ยังมีชีวิตอยู่

ความรุนแรงดังกล่าวมาจากการต่อต้านการกำหนดโควตารับผู้เข้าทำงานในภาครัฐ เพราะ 1 ใน 3 ของตำแหน่งงานในหน่วยงานรัฐถูกสงวนไว้ให้ญาติของทหารผ่านศึกในสงครามประกาศอิสรภาพจากปากีสถานตั้งแต่ พ.ศ. 2514

จากมาตรการข้างต้น นักศึกษาและคนรุ่นใหม่ในบังกลาเทศมองว่าเป็นระบบที่เลือกปฏิบัติอย่างรุนแรง จึงออกมาเรียกร้องขอให้เปลี่ยนมาคัดเลือกจากความสามารถอย่างเป็นธรรม โดยการประท้วงดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567

ชีค ฮาสินา พบ นักการทูตสหรัฐฯ
ชีค ฮาสินา พบนักการทูตสหรัฐฯ, ปี 2017 (ภาพโดย U.S. Embassy Dhaka ใน Flickr )

กระทั่งเกิดการใช้ความรุนแรงกับผู้เรียกร้องอย่างสงบ จุดประกายไฟแห่งความไม่พอใจเป็นวงกว้างไปสู่ประชาชนทุกภาคส่วน การประท้วงยกระดับเดือดดาลจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะกันจำนวนมาก 

เพื่อควบคุมสถานการณ์ รัฐบาลบังกลาเทศใช้มาตรการปิดกั้นการสื่อสารอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งปิดอินเทอร์เน็ต จำกัดการใช้โทรศัพท์ การประท้วงต่อต้านรัฐบาลนางฮาสินาจึงขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้เธอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

มติชนรายงานว่า วันที่ 4 สิงหาคม 2567 ผู้ประท้วงชาวบังกลาเทศหลายหมื่นคนที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีหญิงของพวกเขาลาออกจากตำแหน่งได้ปะทะกับผู้สนับสนุนพรรครัฐบาล ขณะที่ตำรวจพยายามสลายการชุมนุม 

ผู้ชุมนุมใช้ไม้และมีดปะทะกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่มาพร้อมปืนไรเฟิล จุดไฟเผารถยนต์และจักรยานยนต์ คนจำนวนหนึ่งมีบาดแผลจากการถูกยิง แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้กระสุนจริง มีเพียงแก๊สน้ำตา กระสุนยาง และระเบิดแสงเพื่อสลายการชุมนุม

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงในวันนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตวันเดียวอย่างน้อย 91 ราย กับผู้บาดเจ็บอีกหลายร้อยราย ถือว่ารุนแรงและดุเดือดที่สุดตั้งแต่เริ่มการประท้วง และหากนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา มียอดผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบนี้อย่างน้อย 300 ราย

นางสิงห์เหล็กยอมถอย (?)

บังกลาเทศอยู่ภายใต้การบริหารกว่า 15 ปี ของชีค ฮาสินา เธอเป็นทั้งทายาททางสายเลือดและทายาททางการเมืองของมูจิบู เราะห์มาน (Mujibur Rahman) บิดาผู้ก่อตั้งประเทศบังกลาเทศ

ในฐานะนายกรัฐมนตรี นางฮาสินานำการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศมากมายก็จริง แต่บางส่วนคือการช่วยเหลือเครือข่ายของพรรคสันนิบาตอาวามี (Awami League) ของเธอเท่านั้น ทั้งมีการทุจริตให้เห็นอยู่เนือง ๆ โดยไม่มีการจัดการคนพวกนี้อย่างเหมาะสม รวมถึงมีการปราบปรามนักเคลื่อนไหวและฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามอยู่ตลอด

สำนักข่าวอย่าง The Guardian วิพากษ์วิจารณ์นางฮาสินาอย่างเจ็บแสบว่า “ลูกสาวนักปฏิวัติและบิดาแห่งชาติบังกลาเทศกำลัง ‘กัดกร่อน’ ประชาธิปไตยของประเทศนี้อยู่”

ชีค มูจิบู เราะห์มาน บิดา ชีค ฮาสินา หาเสียง
ชีค มูจิบู เราะห์มาน บิดา ชีค ฮาสินา ระหว่างการหาเสียง ค.ศ. 1970 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เมื่อการประท้วงลุกลามบานปลายในเดือนกรกฎาคมและเกิดความรุนแรงทั่วประเทศ ศาลสูงสุดของบังกลาเทศมีวินิจฉัยตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม ให้ลดโควตาตำแหน่งงานภาครัฐสำหรับญาติทหารผ่านศึกให้เหลือ 5% รัฐมนตรีกระทรวงกฎหมายในรัฐบาลของนางฮาสินาน้อมรับ แต่กลุ่มผู้ประท้วงยังคงชุมนุมต่อเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิต และยืนยันข้อเรียกร้องให้นางฮาสินาลาออก

การปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงหลายหมื่นรายกับเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้สนับสนุนพรรครัฐบาลในกรุงธากา  ทำให้เมืองหลวงของประเทศกลายเป็นสนามรบ

จากเหตุการณ์วันที่ 4 สิงหาคม รัฐบาลบังกลาเทศประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศอย่างไม่มีกำหนด เป็นครั้งแรกที่มีการประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่มีการประท้วงของนักศึกษา โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันนั้น  และประกาศวันหยุด 3 วัน เริ่มวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม รัฐบาลยังให้ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตระงับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทันที

ฝ่ายที่วิจารณ์รัฐบาลและกลุ่มสิทธิมนุษยชนชี้ว่า นางฮาสินากำลังทำเกินกว่าเหตุเพื่อสลายการชุมนุม แต่รัฐบาลปฏิเสธข้อกล่าวหา นางฮาสินายังกล่าวหลังการประชุมกับคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติว่า ผู้ที่ออกมาก่อความรุนแรงไม่ใช่นักศึกษา แต่เป็นผู้ก่อการร้ายที่มุ่งทำลายความมั่นคงของประเทศ

กระทั่งวันที่ 5 สิงหาคม เหตุรุนแรงและการเรียกร้องยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ผู้ประท้วงหลายพันคนบุกเข้าทำเนียบนายกรัฐมนตรีในกรุงธากา ชีค ฮาสินา ตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งและเดินทางออกจากประเทศทันที

สำนักข่าวหลายแหล่งอ้างว่า เฮลิคอปเตอร์ของนางฮาสินาลงจอดที่เมืองอาการ์ทาลา ทางตะวันออกของอินเดีย และมีรายงานเกี่ยวกับเหตุรุนแรงในวันที่ 5 สิงหาคม ก่อนนางฮาสินายุติบทบาท มีผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะในวันเดียวสูงถึง 109 ราย ซึ่งถือเป็นยอดผู้เสียชีวิตมากที่สุดในหนึ่งวัน

การลาออกของนางฮาสินาเป็นการยุติการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ต่อเนื่องมากว่า 15 ปี (พ.ศ. 2552 – 2567) และหากรวมกับวาระแรกที่เธอดำรงตำแหน่ง (พ.ศ. 2539 – 2544) เป็นเวลาจะยาวนานถึง 20 ปี

เมื่อต้องลี้ภัยในต่างประเทศ ด้วยวัยกว่า 76 ปี ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากประชาชนที่มีจุดเริ่มต้นคือความไม่พอใจต่อระบบอยุติธรรม บทบาทของนางสิงห์เหล็กแห่งเบงกอล “ชีค ฮาสินา” จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้? คงต้องติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.bbc.com/thai/articles/cydv93n5ry8o

https://www.matichon.co.th/foreign/news_4717803

https://www.matichon.co.th/foreign/news_4718455

https://www.matichon.co.th/foreign/news_4719490

https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4721281

https://www.theguardian.com/world/article/2024/aug/05/why-bangladesh-prime-minister-sheikh-hasina-resigned

https://apnews.com/article/bangladesh-hasina-student-protest-quota-violence-fdc7f2632c3d8fcbd913e6c0a1903fd4


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 สิงหาคม 2567